กรมส่งเสริมวัฒนธรรม
เว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้
font size small font size normal font size big
หน้าแรก
Search


ข่าวสาร >> บทความ >> เล่าสู่กันฟัง
เล่าสู่กันฟัง...เรื่อง “ชื่อ-ท่านางสงกรานต์บอกวันเวลาปีใหม่”

วันที่ 12 เม.ย. 2564
 

 

     ในสมัยโบราณที่เรายังนับ "วันสงกรานต์” เป็นวันปีใหม่ไทย และยังไม่มีปฏิทินให้ดูเช่นปัจจุบันนั้น รูป "นางสงกรานต์” ซึ่งเป็นนางฟ้าในตำนานสงกรานต์ เป็นสิ่งหนึ่งที่ช่วยให้ทราบได้ว่า วันปีใหม่ปีนั้น ตรงกับวันเวลาใด ทั้งนี้เพราะสมัยก่อนถือกันว่า "วันมหาสงกรานต์” อันเป็นวันที่พระอาทิตย์เคลื่อนจากราศีมีนสู่ราศีเมษ เป็นวันขึ้นปีใหม่ ดังนั้น  ปนางสงกรานต์จึงมีด้วยกัน ๗ นาง แต่ละนางก็จะเป็นตัวแทนของแต่ละวันในสัปดาห์ โดยจะมีนาม อาหาร อาวุธ และสัตว์ที่เป็นพาหนะต่างกันเพื่อให้จดจำได้ ดังนี้
 
     วันอาทิตย์ นาม ทุงสะ ทัดดอกทับทิม เครื่องประดับปัทมราช (พลอยสีแดง) ภักษาหารมะเดื่อ หัตถ์ขวาถือจักร หัตถ์ซ้ายถือสังข์ มีครุฑเป็นพาหนะ
 
     วันจันทร์ นาม โคราคะ ทัดดอกปีบ เครื่องประดับมุกดา ภักษาหารน้ำมัน หัตถ์ขวาถือพระขรรค์ หัตถ์ซ้ายถือไม้เท้า มีเสือเป็นพาหนะ
 
      วันอังคาร นาม รากษส (ราก-สด) ทัดดอกบัวหลวง เครื่องประดับโมรา ภักษาหารโลหิต หัตถ์ขวาถือตรีศูล หัตถ์ซ้ายถือธนู มีหมูเป็นพาหนะ
 
      วันพุธ นาม มณฑา ทัดดอกจำปา เครื่องประดับไพฑูรย์ ภักษาหารนมเนย หัตถ์ขวาถือเหล็กแหลม หัตถ์ซ้ายถือไม้เท้า มีลาเป็นพาหนะ
 
       วันพฤหัสบดี นาม กิริณี ทัดดอกมณฑา เครื่องประดับมรกต ภักษาหารถั่วงา หัตถ์ขวาถือขอช้าง หัตถ์ซ้ายถือปืน มีช้างเป็นพาหนะ
 
      วันศุกร์ นาม กิมิทา ทัดดอกจงกลนี เครื่องประดับบุษราคัม ภักษาหารกล้วยน้ำ หัตถ์ขวาถือพระขรรค์ หัตถ์ซ้ายถือพิณ มีควายเป็นพาหนะ และ
 
      วันเสาร์ นาม มโหทร ทัดดอกสามหาว (ผักตบ) เครื่องประดับนิลรัตน์ ภักษาหารเนื้อทราย หัตถ์ขวาถือจักร หัตถ์ซ้ายถือตรีศูล มีนกยูงเป็นพาหนะ
 
      นางสงกรานต์แต่ละปีจะเป็นนางใดในสัปดาห์ นอกจากจะดูวันมหาสงกรานต์แล้ว "ช่วงเวลา”ที่พระอาทิตย์เคลื่อนสู่ราศีเมษในวันมหาสงกรานต์ก็จะเป็นตัวกำหนดอิริยาบถและตัวบ่งชี้ว่านางสงกรานต์ปีนั้นจะเป็นผู้ใดด้วย ทั้งนี้ อิริยาบถของนางสงกรานต์จะมีด้วยกัน ๔ ท่า และหมายถึงช่วงเวลาต่างๆ ดังนี้
 
      ๑.ถ้ายืนมาบนพาหนะ หมายถึง พระอาทิตย์ยกสู่ราศีเมษ ในระหว่างเวลารุ่งเช้าจนถึงเที่ยง
 
      ๒.ถ้านั่งมาบนพาหนะ หมายถึง พระอาทิตย์ยกสู่ราศีเมษ ช่วงเที่ยงจนถึงค่ำ
 
      ๓.ถ้านอนลืมตามาบนพาหนะ หมายถึง พระอาทิตย์ยกสู่ราศีเมษ ช่วงค่ำไปจนถึงเที่ยงคืน
 
      ๔.ถ้านอนหลับตามาบนพาหนะ หมายถึง พระอาทิตย์ยกสู่ราศีเมษ เที่ยงคืนไปจนถึงรุ่งเช้า
 
     ปัจจุบันเมื่อพ้นเที่ยงคืนของวันที่ ๓๑ ธันวาคม ก็จะเป็นวันที่ ๑ มกราคม ซึ่งถือเป็นวันปีใหม่สากลที่เหมือนกันทุกปีทั่วโลก แต่การนับ "วันมหาสงกรานต์” เป็นวันปีใหม่อย่างที่กล่าวข้างต้น จะตกราวกลาง เดือนเมษายน และเมื่อคำนวณตามหลักโหราศาสตร์ หรือคัมภีร์สุริยยาตร์ วันมหาสงกรานต์ก็จะอยู่ในช่วง วันที่ ๑๓ - ๑๖ เมษายน วันใดวันหนึ่ง มิได้ตรงกับวันที่ ๑๓ เมษายนเสมอไป ส่วนจะตรงกับวันเวลาใด เราสามารถดูได้จากประกาศสงกรานต์ของปีนั้นๆ
 
     สำหรับในปี พ.ศ. ๒๕๖๔ นี้ ตามประกาศสงกรานต์บอกไว้ว่า "วันที่ ๑๔ เมษายน เป็นวันมหาสงกรานต์ ตรงกับวันพุธ ขึ้น ๓ ค่ำ เดือน ๖ เวลา ๓ นาฬิกา ๓๙ นาที ๔๐ วินาที นางสงกรานต์ ทรงนามว่า รากษสเทวี ทรงพาหุรัดทัดดอกบัวหลวง อาภรณ์แก้วโมรา ภักษาหารโลหิต พระหัตถ์ขวาทรงตรีศูล พระหัตถ์ซ้ายทรงธนู เสด็จไสยาสน์หลับเนตรมาเหนือหลังวราหะ (หมู) เป็นพาหนะ”
 
      อ่านประกาศสงกรานต์ข้างต้นแล้ว หลายคนอาจจะสงสัยว่า ในเมื่อวันมหาสงกรานต์ปีนี้ตรงกับวันพุธ เหตุใดนางสงกรานต์จึงไม่ใช่ นางมณฑาเทวี ซึ่งเป็นนางสงกรานต์ประจำวันพุธ ทำไมจึงเป็น นางรากษสเทวี ซึ่งเป็นนางสงกรานต์ประจำวันอังคาร ก็อย่างที่กล่าวมาข้างต้น นอกเหนือจากการดูวันมหาสงกรานต์ว่าเป็นวันไหนแล้ว ยังต้องดูช่วงเวลาด้วยว่าเป็นเวลาใด เพราะจะเป็นตัวบอกว่านางสงกรานต์ปีนั้นเป็นนางใดและอยู่ในอิริยาบถไหน ดังนั้น ตามประกาศสงกรานต์เมื่อพระอาทิตย์เคลื่อนสู่ราศีเมษในช่วงตี ๓ กว่า แม้ตามปฏิทินจะเป็นวันพุธ แต่เมื่อนับวันตามหลักโหราศาสตร์ วันรุ่งขึ้นยังไม่พ้น ๖ โมงเช้า จึงยังนับเป็นวันเดิมคือวันอังคารอยู่ นางสงกรานต์จึงเป็นนางรากษสที่นอนหลับตามาเหนือหลังวราหะซึ่งเป็นพาหนะ
 
.............................................................
 
น.ส.ทัศชล เทพกำปนาท ที่ปรึกษากรมส่งเสริมวัฒนธรรม
ลิขสิทธิ์ของ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม สำหรับใช้ประโยชน์เพื่อเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมและการศึกษา
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์ | การปฏิเสธความรับผิด (Disclaimer)