ผ้าขิด เป็นผ้าทอพื้นเมืองของชาวอีสาน เป็นมรดกวัฒนธรรมการทอผ้าของชนเผ่าตระกูลภูไทที่สืบต่อกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ดังจะเห็นได้ว่าการทอผ้าขิดจะพบมากในภาคอีสาน ได้แก่ จังหวัดกาฬสินธุ์ สกลนคร มุกดาหาร และนครพนม นอกจากนี้ยังสามารถพบได้บ้างบางส่วนของภาคเหนือ ภาคกลางและภาคอื่นๆที่มีชุมชนของชาวภูไทไปตั้งถิ่นฐานอาศัยอยู่ สันนิษฐานกันว่าพัฒนาการการทอผ้าขิดน่าจะมาจากลายจักสานไม้ไผ่ในการทำเครื่องมือ เครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน เนื่องจากลักษณะของลายผ้าขิดมีความคล้ายคลึงกันมากกับการจักสานลายขิดต่างๆ ที่สำคัญลายที่เกิดขึ้นจะมีการลักษณะหักมุมเหลี่ยมเสมอ ซึ่งลักษณะนี้คือ ลักษณะของลายจักสานนั้นเอง
การทอผ้าขิด เป็นเทคนิคการทอผ้าชนิดหนึ่งซึ่งสร้างลวดลายด้วยวิธีการที่เรียกว่า "ขิด" ที่มาจากคำว่า "สะกิด" หมายถึงการงัดซ้อนขึ้นหรือสะกิดซ้อนขึ้นเพื่อทำลวดลาย การทอผ้าขิดเป็นการสร้างลวดลายบนผืนผ้าด้วยการเพิ่มเส้นด้ายพุ่งพิเศษเข้าไปเหมือนการจก แต่ลายขิดทำติดต่อกันตลอดหน้ากว้างของผืนผ้า เส้นด้ายยืนจะถูกสะกิดขึ้นโดยใช้ไม้แผ่นบาง ๆ เรียกว่า "ไม้ค้ำ" และสอดเส้นด้ายพิเศษเข้าไปตลอดหน้ากว้างของผืนผ้าเพื่อสร้างลวดลายที่ต้องการ ลวดลายขิดสามารถทำจากเครื่องมือที่เรียกว่า "เขา" โดยช้อนเส้นด้ายยืนขึ้นเพื่อสอดเส้นด้ายพิเศษ เส้นด้ายพุ่งและเส้นด้ายยืนจะขัดกันตามจังหวะที่ต้องการจนเกิดเป็นลวดลายต่าง ๆ ที่เห็นจากทั้งด้านหน้าและด้านหลังของผืนผ้า ความหลากลายของลายทอทั้งประเภท จำนวน และขนาดของลายที่ประกอบไปด้วยลายเรขาคณิต ลายประดิษฐ์ ลายที่เกี่ยวกับศาสนา ลายจากดอกไม้ใบไม้ตามธรรมชาติ ลายรูปสัตว์ต่าง ๆ ลายเครื่องมือเครื่องใช้ ซึ่งลายเหล่านี้สะท้อนถึงภูมิปัญญาและขนบธรรมเนียมของท้องถิ่นอีสานได้เป็นอย่างดี
โดยลายขิดที่กำหนดไว้ใช้ในโอกาสพิเศษต่างๆในชีวิตประจำวัน มีจำนวน ๘ ลาย ได้แก่ ๑.ใช้ในงานบวช คือ ลายดอกขิดและลายขิดตะเภาหลงเกา ๒.ใช้ในงานทำบุญบ้าน คือ ลายช้าง ๓.ใช้ในงานสงกรานต์ คือ ลายขิดดอกจัน ๔. ใช้ในการไหว้ผู้ใหญ่ คือ ลายขิดกาบใหญ่และลายขิดดอกแก้ว ๕.ใช้ในห้องรับแขก คือ ลายขิดขอ ๖.ใช้ในห้องลูกเขย คือ ลายขิดกาบส่วย ๗.ใช้ในครัวเรือน คือ ลายขิดแมงงอด ขิดงูเหลือม ขิดประแจบ่ไขและ ขิดแมงเงา ๘.ใช้บูชาพระในวันขึ้นปีใหม่ คือ ลายขิดขัดหย่อง ซึ่งการทอผ้าขิดส่วนใหญ่ใช้เส้นใยจากฝ้ายมากกว่าเส้นใยไหม เพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น ใช้เป็นผ้าห่ม ผ้าปูที่นอน ผ้าคลุมไหล่ แต่งหน้าหมอนขิด ย่าม ผ้าหลบ ตุง หัวซิ่น ตีนซิ่น ผ้าห่อคัมภีร์ และผ้าเบี่ยง เป็นต้น
หากกล่าวถึงผ้าขิดที่งดงามและมีเสน่ห์เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง ที่เหล่าดีไซเนอร์ชั้นนำ นำไปออกแบบตัดเย็บเป็นชุดเครื่องแต่งกายที่ทันสมัยต้องเป็นลายขิดผ้าแพรวา ซึ่งมีความโดดเด่นทั้งลวดลายและสีสัน สตรีชาวภูไทนิยมใช้ห่มเฉลียงไหล่หรือคลุมไหล่ ในเทศกาลงานบุญประเพณีสำคัญๆซึ่งนิยมใช้คู่กับแพรมนที่มีขนาดเล็กกว่าเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ใช้เป็นผ้าคลุมศีรษะมวยผมหรือใช้เป็นผ้าเช็ดหน้า ผ้าแพรวาและแพรมนถือเป็นผ้าที่ใช้ในโอกาสพิเศษจึงนิยมทอด้วยเส้นไหมเพราะทอได้ละเอียดประณีตและสวยงาม มีคุณค่าเหมาะสมกับความพิเศษในการสวมใส่นั้นเอง
..............................................
ขอขอบคุณที่มา : หนังสือผ้าไหมพื้นบ้าน โดย ศิริ ผาสุก ,โครงการวิจัย เรื่องผ้าทอกับชีวิตคนไทย โดย ศาสตราจารย์กิตติคุณวัฒนะ จูฑะวิภาต