กรมส่งเสริมวัฒนธรรม
เว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้
font size small font size normal font size big
หน้าแรก
Search


ข่าวสาร >> บทความ >> วันสำคัญ
๒๙ กรกฎาคม เชิดชูเกียรติผู้ธำรงรักษาเอกลักษณ์ของชาติ


 

            วันที่ ๒๙ กรกฎาคม ของทุกปี นอกจากจะเป็นวันที่สำคัญต่อประเทศไทยและคนไทยจากมติของคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๑๓ กรกฎาคม ๒๕๔๒ ที่กำหนดให้เป็นวันภาษาไทยแห่งชาติ ด้วยมีวัตถุประสงค์เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เนื่องในมหามงคลสมัยเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ในวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๒ และเพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ที่ได้ทรงแสดงความห่วงใยและพระราชทานแนวคิดเกี่ยวกับการใช้ภาษาไทยในโอกาสต่างๆ โดยเมื่อวันที่ ๒๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๐๕ ได้ทรงเป็นประธานและร่วมอภิปรายในหัวข้อปัญหาของการใช้ภาษาไทยร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิด้านภาษาไทย ในการประชุมวิชาการของชุมนุมภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งได้พระราชทานพระราชดำรัส อันทรงคุณค่าและสร้างความตระหนักให้คนไทยได้เห็นถึงปัญหาของการใช้ภาษาไทย ตอนหนึ่งว่า

           "เรามีโชคดีที่มีภาษาเป็นของตนเองแต่โบราณกาล จึงสมควรอย่างยิ่งที่จะรักษาไว้  ปัญหาเฉพาะในด้านรักษาภาษานี้ก็มีหลายประการ อย่างหนึ่งต้องรักษาให้บริสุทธิ์ในทางออกเสียง คือ ให้ออกเสียงให้ถูกต้องชัดเจน อีกอย่างหนึ่งต้องรักษาให้บริสุทธิ์ในวิธีใช้ หมายความว่า วิธีใช้คำมาประกอบประโยคนับเป็นปัญหาที่สำคัญ ปัญหาที่สาม คือ ความร่ำรวยในคำของภาษาไทย ซึ่งพวกเรานึกว่าไม่ร่ำรวยพอ จึงต้องมีการบัญญัติ ศัพท์ใหม่มาใช้ สำหรับคำใหม่ที่ตั้งขึ้น มีความจำเป็นในทางวิชาการไม่ใช่น้อย แต่บางคำที่ง่ายๆ ก็ควรจะมี ควรจะใช้คำเก่าๆ ที่เรามีอยู่แล้ว ไม่ควรจะมาตั้งศัพท์ใหม่ให้ยุ่งยาก"

           จากกระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้สร้างความตื่นตัวให้แก่บุคคลในหน่วยงานและองค์กรต่างๆ โดยเฉพาะในวงการศึกษาได้ตระหนักถึงความสำคัญของ "ภาษาประจำชาติ” หรือ "ภาษาไทย” ภาษาที่บ่งบอกถึงความเป็นชาติไทย ชาติที่มีเอกราช มีอารยธรรม มีขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมที่งดงาม โดยเฉพาะวัฒนธรรมด้านการใช้ภาษาที่งดงาม มีการใช้ถ้อยคำที่สละสลวย สอดคล้องกับบุคคล โอกาสและสถานที่ เกิดกระแสการอนุรักษ์ภาษาไทยอย่างกว้างขวาง โดยหลายหน่วยงานมีการจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อรณรงค์ส่งเสริมให้คนไทยใช้ภาษาไทยให้ถูกต้องและเหมาะสม

           หากแต่การใช้ชีวิตของผู้คนในปัจจุบัน ที่ถูกครอบงำด้วยวัตถุนิยม การติดต่อสื่อสารแม้แต่การทำงานในสาขาอาชีพต่างๆ จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีการสื่อสารที่ทันสมัยรวดเร็วทันใจ ความสะดวกของการติดต่อสื่อสารผ่านอินเทอร์เน็ต ในเครือข่ายสังคมออนไลน์ต่างๆ มีอิทธิพลอย่างมากต่อการดำเนินชีวิต โดยเฉพาะในหมู่ผู้เยาว์ หรือวัยรุ่น ที่มีทัศนคติว่าการประดิษฐ์ถ้อยคำ การใช้ภาษาที่แปลกใหม่เป็นเรื่องของแฟชั่น ทันสมัยไม่ตกยุค คนทั่วไปก็ทำกัน ไม่ใช่เรื่องที่ผิดหรือแปลกแต่อย่างใด จึงทำให้เกิดการใช้ภาษาไทยในรูปแบบใหม่ที่ผิดเพี้ยนไป ขาดความเอาใจใส่ที่จะใช้ถ้อยคำของภาษาไทยให้ถูกต้อง จนนานวันเข้าทำให้เกิดความเคยชิน นำภาษาที่ใช้แชทกันในสังคมออนไลน์ มาใช้สื่อสารกันในชีวิตประจำวัน ส่งผลให้ภาษาไทยที่เป็นวัฒนธรรมอันทรงคุณค่า เป็นมรดกภูมิปัญญาของบรรพบุรุษต้องเกิดการผิดเพี้ยน ขาดความรอบคอบและความประณีตในการใช้ จึงเป็นสภาวะที่น่าเป็นห่วงว่า ภาษาไทยในอนาคต อาจเกิดการวิบัติ จะเป็นภาษาที่ขาดความสละสลวย จะมีวิธีใดจะทำให้เด็กและเยาวชนซึ่งจะเป็นอนาคตของชาติ เกิดความรัก ความภาคภูมิใจ และหันมาเอาใจใส่ใช้ภาษาไทยได้อย่างถูกต้องไม่ผิดเพี้ยนไปจากแบบแผนที่ดีงาม

           หนทางหนึ่งที่สามารถธำรงรักษาภาษาไทยได้ คือ การค้นหาคนต้นแบบ หรือบุคคลที่เป็นแบบอย่างที่ดีของสังคม ในการอนุรักษ์และการใช้ภาษาไทยได้อย่างถูกต้องงดงาม สามารถเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่ชนรุ่นปัจจุบัน โดย กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง คือ การคัดเลือกปูชนียบุคคลด้านภาษาไทย ผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่น ผู้ใช้ภาษาไทยถิ่นดีเด่น และผู้มีคุณูปการต่อการใช้ภาษาไทย ประจำปี เพื่อเป็นแบบอย่างให้เยาวชน และประชาชน ใช้ภาษาไทยในการสื่อสารทั้งการพูด การเขียนได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม

           โดยการคัดเลือกประจำปี ๒๕๕๕ ได้บุคคลที่ผ่านการคัดเลือกแล้ว แบ่งเป็น ๔ ประเภท ประกอบด้วย

           ๑. ปูชนียบุคคลด้านภาษาไทย จำนวน ๕ ราย เป็นผู้ที่มีความสามารถ มีความเชี่ยวชาญ และ มีผลงานดีเด่น เป็นที่ยอมรับของวงการด้านภาษาไทย

           ๒. ผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่น จำนวน ๑๘ ราย เป็นชาวไทยที่มีผลงานการสร้างสรรค์ภาษาไทย และสามารถใช้ได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม และชาวต่างประเทศที่ใช้ภาษาไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นผู้มีความชำนาญในการใช้ภาษาไทยและเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป

           ๓. ผู้ใช้ภาษาไทยถิ่นดีเด่น จำนวน ๔ ราย เป็นผู้ที่มีผลงานการสร้างสรรค์ภาษาไทยถิ่น และสามารถใช้ได้อย่างเหมาะสม

           ๔. ผู้มีคุณูปการต่อการใช้ภาษาไทย จำนวน ๑๓ ราย เป็นบุคคล ๑๑ ราย และองค์กร ๒ แห่ง ซึ่งเป็นบุคคลหรือองค์กรที่มีคุณูปการต่อวงการภาษาไทยหรือภาษาไทยถิ่น

            และในวันที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๕๕ กระทรวงวัฒนธรรม จะจัดงานวันภาษาไทยแห่งชาติ  พร้อมทั้งมอบเข็มและโล่เชิดชูเกียรติ มอบรางวัลแก่ผู้ที่ผ่านการคัดเลือกและได้รับการประกาศให้เป็น ปูชนียบุคคลด้านภาษาไทย ผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่น ผู้ใช้ภาษาไทยถิ่นดีเด่น และผู้มีคุณูปการต่อการใช้ภาษาไทย ประจำปี ๒๕๕๕ ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย

           ท้ายนี้ ขอฝากแง่คิดดีๆ ของ อาจารย์รัตนา สถิตานนท์ ผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านภาษาไทย เมื่อปี ๒๕๔๗ ที่กล่าวว่า "ภาษาไทยจะดีหรือไม่ดี อยู่ที่คนไทยทุกคน" โดยชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของภาษาไทย และฝากให้คนไทยช่วยกันรักษาในฐานะที่เกิดมาเป็นคนไทย ดังนี้

                      ภาษาไทยไพเราะเสนาะล้ำ                   ทุกถ้อยคำแฝงฝากความหลากหลาย
           ทั้งกาพย์ กลอน โคลง ฉันท์ พรรณราย                 สื่อความหมายชี้ชัดวัฒนธรรม
           ควรพวกเราชาวไทยใฝ่รักษา                           รู้คุณค่าอ่านเขียนเร่งเรียนร่ำ
           สุภาษิตสำนวนไทยสนใจจำ                             อักขระควบกล้ำสิ่งสำคัญ
                      ภาษาไทยไพเราะเสนาะนัก                  เอกลักษณ์ชาติไทยได้สร้างสรรค์
           ภาษาแม่สืบมาแต่คราบรรพ์                            ควรช่วยกันรักษาอย่าทำลาย

 **************

โดย   สำนักนวัตกรรมทางวัฒนธรรม (กลุ่มประชาสัมพันธ์)  กรมส่งเสริมวัฒนธรรม
 
 

 

ลิขสิทธิ์ของ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม สำหรับใช้ประโยชน์เพื่อเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมและการศึกษา
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์ | การปฏิเสธความรับผิด (Disclaimer)