
ตามประวัติศาสตร์ไทย นอกจากเราจะเคยเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่า ๒ ครั้ง ในปีพ.ศ. ๒๑๑๒ และปี พ.ศ.๒๓๑๐ แล้ว วิกฤตการณ์ ร.ศ. ๑๑๒ (พ.ศ. ๒๔๓๖) ที่เกิดขึ้นในรัชสมัยรัชกาลที่ ๕ ก็เป็นอีกช่วงเวลาหนึ่งที่ไทยเราเกือบเสียเอกราชให้กับจักรวรรดิฝรั่งเศสที่ได้พยายามขยายอำนาจของชาติตะวันตกมาครอบคลุมภูมิภาคแถบนี้ โดยหลังจากที่ฝรั่งเศสได้เวียดนาม และเขมรด้านตะวันออกแล้ว ก็พยายามที่จะยึดครองลาว ซึ่งขณะนั้นเป็นประเทศราชของไทยต่อ เพราะหวังจะใช้แม่น้ำโขงในลาวเป็นเส้นทางไปสู่จีนที่เป็นตลาดสำคัญทางการค้า
ในครั้งนั้น (พ.ศ.๒๔๓๖) เมื่อเรือรบฝรั่งเศสได้ชัยชนะรุกผ่านปากแม่น้ำเจ้าพระยาเข้าเทียบท่าหน้าสถานทูตของตนในพระนครได้สำเร็จ ก็ได้หันปืนใหญ่ไปทางพระบรมมหาราชวัง พร้อมยื่นข้อเรียกร้องให้ไทยยกดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง และจ่ายค่าปรับสงครามให้ฝรั่งเศสถึง ๓ ล้านฟรังก์ โดยให้ชำระเป็นเงินเหรียญภายในกำหนดเวลา ๔๘ ชั่วโมง มิฉะนั้นกองทัพเรือฝรั่งเศสจะปิดอ่าวไทยและตัดความสัมพันธ์ทางการทูต ทางรัฐบาลไทยได้พยายามขอความช่วยเหลือจากอังกฤษ แต่ไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจน จนเมื่อต่อรองไม่เป็นผล อีกทั้งฝรั่งเศสยังขยายการปิดล้อมเพิ่มขึ้น บวกกับสถานการณ์ที่เริ่มเลวร้ายลง ไทยเกรงจะเกิดอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินของคนไทยและชาวต่างประเทศ จึงยินยอมตามคำเรียกร้องของฝรั่งเศสในที่สุด สิ่งสำคัญเร่งด่วนตอนนั้นคือ การหาเงินมาจ่ายค่าปรับให้ทันเส้นตาย ซึ่งดูเหมือนว่าแทบจะเป็นไปไม่ได้ เพราะเวลากระชั้นชิดมาก เงินในท้องพระคลังก็มีไม่เพียงพอ ด้วยเหตุนี้ "เงินถุงแดง” จึงเข้ามามีบทบาทสำคัญในการช่วยชาติขณะนั้น เมื่อพระบรมวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ได้นึกถึงและทูลเตือนเรื่อง "เงินถุงแดง” ที่รัชกาลที่ ๓ ได้ทรงเก็บสะสมไว้
"เงินถุงแดง” เป็นเงินพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ได้จากพระปรีชาสามารถในการจัดการค้าสำเภา ตั้งแต่ยังทรงดำรงพระยศเป็นพระเจ้าลูกยาเธอกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ โดยได้ทรงเก็บหอมรอมริบเงินกำไรที่ได้จากการค้าสำเภาส่วนพระองค์ใส่ใน "ถุงผ้าแดง” วางไว้ข้างพระแท่นที่บรรทม เรียกว่า "เงินข้างที่” ต่อมาเมื่อมีจำนวนมากขึ้นก็ทรงเก็บไว้ห้องข้างๆ ที่บรรทม ที่เรียกกันว่า "คลังข้างที่” คำนี้เดิมเป็นคำเรียกกันแต่ในราชสำนักฝ่ายใน แล้วได้เปลี่ยนเรียกเป็น "เงินพระคลังข้างที่” มาจนสมัยรัชกาลที่ ๔ จึงกลายมาเป็นคำเรียกอย่างเป็นทางการ ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๕ จึงมีการตั้ง "กรมพระคลังข้างที่” ขึ้น จึงอาจกล่าวได้ว่า "เงินถุงแดง” เป็นที่มาของชื่อ "พระคลังข้างที่” ก็ว่าได้ ซึ่งเงินพระคลังข้างที่ก็คือ พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ และเงินรายได้แผ่นดินส่วนหนึ่ง ที่แบ่งถวายพระมหากษัตริย์เพื่อใช้จ่ายส่วนพระองค์ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น เรื่องนี้ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงอธิบายเรื่องเงินพระคลังข้างที่ไว้ในสาส์นสมเด็จ เล่ม ๑๓ ความว่า "ผู้ใหญ่เคยเล่าให้ฟังว่า ในสมัยกรุงศรีอยุธยา พระเจ้าแผ่นดินจะทรงมีกำปั่นเงินไว้ข้างที่บรรทม ไว้ทรงใช้เป็นการส่วนพระองค์ ที่เรียกว่า "เงินข้างที่” โดยไม่จำเป็นต้องบอกให้ผู้ใดรู้ ทำนองเดียวกับเรียกเงินที่เอาตามเสด็จไปไหนๆ ว่า "เงินท้ายที่นั่ง” ซึ่งคงจะแบ่งไปจากเงินพระคลังในนั่นเอง พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงเก็บหอมรอมริบเงินซึ่งเป็นของส่วนพระองค์เพิ่มขึ้นในเงินข้างที่อีกมาก สำหรับทรงบำเพ็ญพระราชกุศลต่างๆ และมีเงินเรียกกันว่า "เงินถุงแดง” สำรองไว้สำหรับใช้ในเวลาบ้านเมืองเกิดยุคเข็ญ”
ปัจจุบันเราจะเห็นสกุลเงินตราต่างประเทศมีหลากหลายมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเงินดอลล่าร์สหรัฐฯ เงินยูโรของยุโรป เงินเยนของญี่ปุ่น เงินหยวนของจีน ฯลฯ แต่ในสมัยที่ฝรั่งเศสเรียกร้องเงินค่าปรับสงครามนั้น กล่าวกันว่า "เงินในถุงแดง” ที่เราจ่ายมิใช่เงินพดด้วง ซึ่งเป็นเงินของไทยสมัยนั้น และมิใช่เงินฟรังก์ของฝรั่งเศส แต่กลับเป็นเงินเหรียญของประเทศเม็กซิโก ซึ่งในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ประเทศไทยหรือสยามตอนนั้นมีการติดต่อซื้อขายกับต่างประเทศ และเงินต่างประเทศที่มีการยอมรับในยุคนั้นก็มี เงินเม็กซิโก เงินเปรู และเงินรูปี เป็นต้น ที่กล่าวว่าเป็นเงินเหรียญเม็กซิโกนั้น เพราะมีเอกสารและนสพ.ฝรั่งเศสที่ทายาทนาย ม.ปาวี ทูตฝรั่งเศส ผู้มีส่วนทำให้ไทยต้องเสียดินแดนและค่าปรับได้เขียนระบุไว้อย่างแน่ชัด และสอดคล้องกับภาพพิมพ์ของรูปเหรียญเม็กซิโกที่จัดทำขึ้นในโอกาสครบรอบ ๑๐๐ ปีของเหรียญที่มี ค.ศ.๑๘๒๑-๑๙๒๑ กำกับอยู่ ทำให้พออนุมานได้ว่าน่าจะเป็นเหรียญที่ใช้ในช่วงรัชกาลที่ ๓ เพราะทรงครองราชย์ระหว่างปี ค.ศ.๑๘๒๔-๑๘๕๑ ตรงกับศักราชที่ปรากฎในเหรียญ สำหรับเหรียญเม็กซิโกนี้เป็นเหรียญทอง (คำ) ลักษณะกลมแบน มีรูปนกอินทรีย์กางปีก ปากคาบอสรพิษ (เป็นสัญลักษณ์ของประเทศเม็กซิโก) ไทยจึงเรียก "เหรียญนก” มีอัตราแลกเปลี่ยนในเวลานั้นอยู่ที่ ๓ เหรียญนก เท่ากับ ๕ บาท ดังนั้น ๔๘ เหรียญนกจึงเท่ากับเงินไทย ๑ ชั่งหรือ ๘๐ บาท ส่วนค่าปรับที่ฝรั่งเศสคิดกับเรา ๓ ล้านฟรังก์นั้น ประมาณเป็นเงินไทยตกราวๆ ๑,๖๐๕,๒๓๕ บาทกับอีก ๒ อัฐ ซึ่งเท่ากับ ๙ แสน ๖ หมื่นเหรียญเม็กซิโก เงินทั้งหมดนี้แม้จะใช้เงินถุงแดงรวมกับเงินพระคลังมหาสมบัติแล้ว ก็ยังไม่เพียงพอ ดังนั้น บรรดาพระบรมวงศานุวงศ์ ขุนนางและข้าราชบริพารทั้งหลายจึงได้รวบรวมแก้วแหวนเพชรนิลจินดาที่มีอยู่ไปแลกเหรียญนกมาสมทบ จนที่สุดก็ได้เกินจำนวน และสามารถส่งให้ฝรั่งเศสได้ตามกำหนด ซึ่งกล่าวกันว่า ครั้งนั้นต้องเอาเงินใส่ถุงขนออกทางประตูต้นสนไปลงเรือที่ท่าราชวรดิฐกันทั้งวันทั้งคืนและหลายเที่ยว จนทำให้ถนนสึกเป็นรอย เพราะน้ำหนักของเหรียญที่หนักถึง ๒๓ ตัน และเมื่อฝรั่งเศสขนเงินขึ้นบกก็ทุลักทุเลไม่น้อย เพราะถุงแตกต้องขนใส่ถังแทน อีกทั้งยังต้องใช้การชั่งตวงวัดเงินให้ได้น้ำหนักแทนการตรวจนับ เพราะเหรียญดังกล่าวมีมากมายมหาศาลเกินจะนับไหวนั่นเอง
จะเห็นได้ว่า หากเราไม่มี "เงินถุงแดง” ของรัชกาลที่ ๓ ที่ทรงเก็บสะสมและพระราชทานให้เป็นสมบัติแผ่นดิน จนสามารถนำมาช่วยไถ่บ้านไถ่เมืองได้ในเวลานั้น ไทยเราคงตกเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศสไปนานแล้ว และด้วยสำนึกในพระเมตตาธิคุณ และพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อบ้านเมืองเป็นอเนกอนันต์ ทั้งในเรื่องเงินถุงแดงและพระราชกรณียกิจที่ยังประโยชน์ต่อประเทศชาติมานานัปการ คณะรัฐมนตรีจึงได้ประกาศให้วันที่ ๓๑ มีนาคมอันเป็นวันพระราชสมภพของพระองค์ เป็น "วันเจษฎาบดินทร์” โดยถือเป็นวันสำคัญของชาติ พร้อมถวายพระราชสมัญญาว่า "พระมหาเจษฎาราชเจ้า” ที่มีความหมายว่า "พระเจ้าแผ่นดินผู้เป็นใหญ่”
..................................................................................
น.ส.ทัศชล เทพกำปนาท ที่ปรึกษากรมส่งเสริมวัฒนธรรม