การสร้างลวดลายบนผ้าทอไทย ถือเป็นเสน่ห์และเอกลักษณ์ที่โดดเด่นมา ตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน นับเป็นภูมิปัญญาในการสร้างสรรค์งานศิลป์ที่มีความงดงามบนผืนผ้า ผ่านเทคนิควิธีการต่างๆ ตามแต่จะสืบต่อกันมาหรือที่ได้รับการถ่ายทอดจากการติดต่อปฏิสัมพันธ์กับชุมชนอื่น การรักษาภูมิปัญญาของผ้าไทยจึงไม่ใช่เพียงเป็นการส่งต่อรูปแบบของผ้าทอที่เป็นเอกลักษณ์โดดเด่นของแต่ละชุมชนเท่านั้น หากแต่เป็นการรักษาภูมิปัญญา ความคิดสร้างสรรค์ของปู่ ย่า ตา ยาย ที่ได้คิดค้นลายผ้าต่างๆ ที่งดงามในแต่ละท้องถิ่นขึ้นนั่นเอง โดยการสร้างลวดลายจากการทอเกิดจากการย้อมสีผ้าที่เส้นไหมหรือเส้นด้ายก่อนที่จะนำไปทอ ซึ่งเป็นการยอมสีโดยตรงที่พบเห็นในตระกูล ผ้ายก ผ้าหางกระรอก ผ้าจก ผ้าแพรวา ผ้าขิด ผ้าห้อม-คราม และเป็นการมัดย้อมให้เกิดลวดลายลงบนเส้นด้าย ก่อนที่จะนำไปทอเป็นผืน เช่น ปรากฏในผ้ามัดหมี่ การทอผ้าในยุคหลังได้มีการประยุกต์ใช้เทคนิคผสม ซึ่งเห็นได้ชัดในผ้ากาบบัวหรือมัดหมี่ยกที่ผสมผสานเทคนิคการสร้างลวดลายทั้ง ๒ รูปแบบไว้ด้วยกันอย่างลงตัว จนทำให้เกิดความงามและความประณีตพร้อมทั้งช่วยเพิ่มมูลค่าในชิ้นงานเพิ่มขึ้น
สำหรับผ้าไทยมีรูปแบบการสร้างลวดลายที่สำคัญอยู่ ๒ ลักษณะ คือ การสร้างลวดลายด้วยการเขียนพิมพ์และการทอ แต่ในวัฒนธรรมของคนไทย คนไทยนิยมการสร้างลวดลายด้วยการทอผ่านเทคนิควิธีต่างๆ ดังนี้
๑. จก คือ การควัก ขุด คุ้ย หรือการเก็บเส้นยืนผ้าตามลวดลายที่เรากำหนด โดยใช้อุปกรณ์ที่มีความแหลมพอสมควร เช่น ไม้ ขนเม่น หรือนิ้วมือช่วยจกยกเส้นยืนขึ้น แล้วค่อยสอดเส้นพุ่งพิเศษสีต่างๆ เข้า เพื่อสร้างลวดลายเป็นช่วงๆ ไม่ติดต่อกันตลอดหน้ากว้างของผ้า และสามารถสลับสีได้ตามความต้องการเฉพาะลวดลายที่เราต้องการให้เป็นสีนั้นๆ นี่คือข้อแตกต่างจากการขิดที่ใช้เส้นพุ่งพิเศษตลอดหน้ากว้างของผืนผ้า โดยสามารถสังเกตผ้าที่สร้างลวดลายจากการจก คือ ลวดลายที่เรามองเห็นด้านหน้าจะเรียบ ส่วนด้านหลังจะเห็นการผูกเก็บปมที่เกิดจากรอยต่อของเส้นด้ายนั่นเอง
๒.ยก คือ การใช้ "ตะกอ” เป็นตัวควบคุมเส้นยืนแล้วใช้เส้นพุ่งพิเศษเข้าไปสาน ทอ ขัด ให้เกิดเป็นลวดลาย หากขัดขึ้นเรียก "เส้นยก” หากขัดลง เรียก "เส้นข่ม” เมื่อทอพุ่งกระสวยไปมาครบคู่ไปกับตะกอจะเกิดเป็นลวดลายนูนขึ้นจากผืนผ้า ถ้าทอยกด้วยเส้นทองจะเรียก "ยกทอง” ถ้าทอยกด้วยเส้นเงินจะเรียกว่า "ยกเงิน” ถ้าใช้ไหมเรียกว่า "ยกไหม”
๓. ขิด เป็นภาษาอีสาน หมายถึง "สะกิด” หรืองัดช้อนขึ้น ในการทอขิดจะใช้วิธีการเก็บตะกอแล้วพุ่งเส้นพิเศษเช่นเดียวกับยก โดยใช้อุปกรณ์ที่เรียกว่า ไม้เก็บขิด ในการเขี่ยหรือสะกิดเส้นยืนให้ยกขึ้นแล้วพุ่งกระสวยพิเศษและเส้นพุ่งเข้าไปรวดเดียว ด้วยกรรมวิธีที่ต้องใช้ไม้เก็บนี่เอง จึงมักเรียกว่าการทอขิดว่า " เก็บขิด” มากกว่า ผลที่ได้คือลวดลายที่ยกตัวนูนขึ้นมาในแต่ละแถวแต่ละลายอย่างสวยงาม ส่วนใหญ่มักเป็นลวดลายซ้ำๆ ยาวตลอดหน้าผ้า ส่วนสีสันของลวดลายที่เกิดขึ้นเป็นสีของด้ายพุ่งพิเศษ
๔. เกาะ คล้ายกับวิธีสร้างลวดลายแบบ "จก” แต่แตกต่างกันตรงที่การเกาะจะต้องนำเส้นพุ่งพิเศษ ๒ เส้นมาเกี่ยวหรือคล้องกัน ขณะที่การจกจะพุ่งอย่างเดียวไม่มีการคล้องเกี่ยวแต่อย่างใด
.....................................
ขอขอบคุณที่มา : หนังสือสานด้ายเป็นลายศิลป์ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม และหนังสือเบิ่งซิ่นกินแซ่บ ธนาคารกรุงเทพ
ภาพ : peacockthaisilk.com