กรมส่งเสริมวัฒนธรรม
เว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้
font size small font size normal font size big
หน้าแรก
Search


ข่าวสาร >> บทความ >> เล่าสู่กันฟัง
เล่าสู่กันฟัง...เรื่อง “เห้งเจีย : พญาวานรผู้กลายเป็นเทพเจ้า”

วันที่ 22 มี.ค. 2564
 

     นอกเหนือไปจาก "หนุมาน” พญาลิงเผือก ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในเรื่อง "รามเกียรติ์” แล้ว บิ๊กลิงที่โด่งดังไม่แพ้กันก็คือ "เห้งเจีย” จากเรื่อง "ไซอิ๋ว” วรรณกรรมคลาสสิกของจีน ที่มีความหมายว่า "บันทึกการเดินทางสู่ตะวันตก” (Journey to the West) เชื่อกันว่า "อู๋เฉิงเอิน” คือ ผู้ประพันธ์ที่ได้รวบรวมเรื่องเล่าจากท้องถิ่นต่างๆ มาผสมผสานจนกลายเป็นนิยายดังกล่าวขึ้น

 
     "ไซอิ๋ว” เป็นเรื่องของหลวงจีนชื่อ พระถังซัมจั๋ง กับศิษย์เอกสามตัว คือ เห้งเจีย (ลิง) ตือโป้ยก่าย (หมู)และซัวเจ๋ง(ปีศาจปลา) ที่ออกเดินทางไปอัญเชิญพระไตรปิฎกจากชมพูทวีป (อินเดีย) มาเผยแพร่ในจีน และระหว่างทางต้องต่อสู้กับเหล่าภูตผีปีศาจต่างๆ ที่มาขัดขวาง ด้วยเนื้อหาที่เป็นการผจญภัย มีสัตว์เป็นตัวเอก ประกอบด้วยอิทธิฤทธิ์ต่างๆ ทำให้นิยายเรื่องนี้ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก จนมีการทำเผยแพร่ในรูปแบบต่างๆ อย่างกว้างขวาง และเป็นหนึ่งในสี่สุดยอดวรรณกรรมจีนร่วมกับ สามก๊ก ความฝันในหอแดง และซ้องกั๋ง กล่าวกันว่า พระถังซัมจั๋ง เป็นบุคคลที่มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์คือ พระเสวียนจั้ง และเรื่องนี้ผู้ประพันธ์มิได้แต่งขึ้นเพื่อความสนุกสนานเท่านั้น แต่ยังแฝงปริศนาธรรมไว้อย่างลึกซึ้งด้วย ไม่ว่าจะเป็นการไปอัญเชิญพระไตรปิฎก อันหมายถึง เป้าหมายที่จะไปถึงนิพพาน โดยมีพระถังซัมจั๋งเป็นตัวแทนของความศรัทธา ส่วนเหล่าลูกศิษย์เป็น ตัวแทนของไตรสิกขา โดยเห้งเจีย แทนปัญญา ที่แม้จะฉลาดว่องไว แต่ก็มักฟุ้งซ่าน ซุกซนเหมือนลิง ตือโป้ยก่าย แทน ศีล อันเป็นสิ่งที่ต้องควบคุมและขัดเกลาอยู่เสมอ เพื่อมิให้ประพฤติผิดพลาด ซัวเจ๋ง แทน สมาธิ ที่ต้องหนักแน่น สงบ จึงจะคงอยู่ได้ ส่วนพวกปีศาจ ก็แทนกิเลส ตัณหา ซึ่งเป็นดังอุปสรรคต่อการเดินทางของจิต
 
     สำหรับกำเนิด "เห้งเจีย” เล่ากันว่า เดิมเป็นหินที่อาบแสงสุริยันจันทรามานับพันปี จนวันหนึ่งหินปริแตก และมีลิงตัวหนึ่งกระโดดออกมาเอง ลิงตัวนั้นได้ไปอาศัยอยู่กับฝูงลิงที่เขาฮวยก๊วยซัว (เขาผลไม้) และตั้งตัวเป็นหัวหน้าฝูงมีฉายาว่า "มุ้ยเกาอ๋อง” (พญาวานรโสภา) ต่อมาได้ออกเดินทางไปหาวิชา เพราะไม่อยากแก่ตายอย่างลิงในฝูง ได้ไปพบกับนักพรตนาม "โผเถโจ๊ซือ” เมื่อท่านรับเป็นศิษย์ก็ได้ฝึกวิชาหลายอย่าง เช่น การแปลงกาย ๗๒ ร่าง ถอนขนเสกเป็นสิ่งของ ตีลังกาไปได้ไกลกว่า ๓๐๐ ลี้ หดขยายร่างกายได้ ขี่เมฆวิเศษได้ เป็นต้น พร้อมกันนั้นก็ได้รับฉายาใหม่ว่า "ซุนหงอคง” (ซุน แปลว่า ลิง หงอคง แปลว่า ตื่นรู้ในความว่าง) เมื่อฝึกวิชาสำเร็จ ด้วยความคึกคะนองและลำพองใจ หงอคงจึงเที่ยวอวดวิชาและอาละวาดไปทั่ว จนโลกมนุษย์ สวรรค์และบาดาลปั่นป่วนไปหมด เง็กเซียนฮ่องเต้จึงส่งทหารสวรรค์นับแสนนาย และเทพต่างๆ มาช่วยกันปราบแต่กลับพ่ายแพ้ ไปสิ้น จนที่สุดเง็กเซียนฮ่องเต้ต้องยอมแต่งตั้งให้หงอคงเป็น "ฉีเทียนต้าเซิน” (ผู้ยิ่งใหญ่เสมอฟ้าดิน) นอกเหนือ ไปจากที่เคยตั้งให้เป็น "ปี้ม่าอุน” (หัวหน้าคนเลี้ยงม้าสวรรค์) ต่อมายังได้รับหน้าที่ให้ดูแลสวนลูกท้อสวรรค์ แต่กระนั้นหงอคงก็ยังเหิมเกริมไม่เลิก ได้แอบกินลูกท้อจนหมดสวน แล้วยังดื่มสุราสวรรค์ ขโมยยาอายุวัฒนะของเทพเจ้าดาวศุกร์จนหมดห้อง อีกทั้งขู่จะถล่มสวรรค์ให้พินาศ เมื่อไม่สามารถจัดการหงอคงได้ ฝ่ายสวรรค์จึงต้องไปอัญเชิญพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือที่ชาวจีนเรียกว่า "พระยูไล” มาปราบ โดยพระองค์ได้ท้าหงอคงว่า ถ้ามีอิทธิฤทธิ์มากมายจริง ก็ให้หงอคงกระโดดให้พ้นฝ่ามือของพระองค์ ถ้าทำได้ก็จะเจรจาให้ได้ครอบครองสวรรค์ หงอคงรับคำท้าและขี่เมฆวิเศษของตนเหาะไกลออกไปเรื่อยๆ ไปจนไกลมากแล้ว ก็ยังไม่เห็นสุดขอบโลกเสียที ครั้นแลไปข้างหน้า เห็นเสา ๕ ต้นปักตระหง่านอยู่ลิบๆ ก็เข้าใจผิดคิดว่าเสาทั้งห้าต้น คือ จุดกำหนดบอกเขตสุดขอบโลก จึงเหาะลงไป แล้วจารึกชื่อตนไว้ที่เสาต้นหนึ่ง พร้อมฉี่ลดที่ต้นเสาเพื่อหมายให้เป็นหลักฐานอ้างอิงว่าตนมาถึงที่นี่แล้ว จากนั้นก็เหาะกลับมาหาพระยูไลที่ๆ เดิมอีกครั้ง พระองค์มิได้ตรัสสิ่งใด นอกจากยกนิ้วพระหัตถ์ให้ดูอักษรคำว่า "หงอคง”ที่ปรากฎอยู่ ทำให้หงอคงยอมรับผิด และยอมรับความพ่ายแพ้ด้วยการถูกจองจำอยู่ใต้ภูเขา "โกเคียว” หรือหุบเขาห้าธาตุเป็นเวลา ๕๐๐ ปี จะพ้นคำสาปต่อเมื่อมีพระธุดงค์ผ่านมาช่วย ซึ่งพระองค์นั้น ก็คือ "พระถังซำจั๋ง” นั่นเอง เมื่อรับหงอคงเป็นศิษย์ ท่านได้ตั้งฉายาใหม่ให้ว่า "ซุนเห้งเจีย” (ผู้ปฏิบัติธรรม ซึ่งหมายถึง หงอคงที่ปวารณาตัวเป็นศิษย์) แม้จะยอมตัวเป็นศิษย์ แต่ซุนเห้งเจียก็ยังติดนิสัยใจร้อน วู่วาม ดื้อรั้น และไม่เชื่อฟังพระถังซำจั๋ง จนท่านต้องใช้ไม้ตายคือ "มงคล” ที่ได้รับประทานจากพระโพธิสัตว์กวนอิม รัดอยู่บนหัวของเห้งเจีย พยศเมื่อไร ท่านก็จะสวดมนต์ทำให้เห้งเจียปวดหัวจนทนไม่ไหว ต้องยอมเชื่อฟัง และมงคลนี้จะหายไปเองเมื่อเสร็จสิ้นภารกิจในการไปอัญเชิญพระไตรปิฎก ตลอดการเดินทาง พระถังซำจั๋ง เห้งเจีย ตือโป้ยก่าย และซัวเจ๋งที่ท่านรับมาเป็นศิษย์ภายหลัง ต้องผจญกับอุปสรรคนานัปการ โดยเฉพาะการต่อสู้กับเหล่าปีศาจที่มักปลอมตัวมาหลอกลวง ทำให้เกิดความเข้าใจผิดระหว่างพระถังซำจั๋งกับเห้งเจียอยู่เสมอ อย่างไรก็ดี ท้ายสุดทั้งอาจารย์และลูกศิษย์ทั้งสามก็สามารถทำภารกิจได้สำเร็จ ตัวซุนหงอคงเองก็ได้บำเพ็ญเพียรจนสำเร็จมรรคผล มีฉายาว่า "ไต่เส่งปุดจ้อ” หรือ "ไต่เสี่ยฮุกโจ้ว”
 
     แม้ว่า "เห้งเจีย” จะเป็นเพียงตัวละครหนึ่งในเรื่อง "ไซอิ๋ว” แต่ต่อมาก็ได้กลายเป็นเทพที่คนจีนนับถือสืบเนื่องมาช้านาน เพราะเชื่อว่าเป็นผู้ประทานความสุข ทำให้สิ่งชั่วร้ายไม่กล้ามารบกวน ด้วยท่านมีอิทธิฤทธิ์ในการกำจัดมารและปราบปรามเหล่าปีศาจ ทำให้ผู้บูชามีสุขภาพแข็งแรง มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด มีปฏิภาณไหวพริบ และความกล้าหาญ สามารถแก้ปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ให้ผ่านพ้นไปได้ ซึ่งความเชื่อและความศรัทธานี้ ปัจจุบันก็ได้แพร่หลายไปตามที่ต่างๆ ตั้งแต่ฮ่องกง ไต้หวัน สิงคโปร์ มาเลเซีย รวมทั้งไทย โดยรูปเคารพที่พบเห็นจะมีอยู่ ๒ ปาง คือ ปางสวมชุดเกราะ เรียกว่า "เจ่เที้ยนไต่เส่ง” ส่วนปางที่สำเร็จอรหัตน์และนุ่งห่มจีวร เรียกว่า "ไต่เส่งปุดจ้อ” ในประเทศไทยมีศาลเจ้าของท่านอยู่หลายแห่งทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด เช่น ในวัดสามจีน เยาวราช ซึ่งถือว่ามีความเก่าแก่ที่สุด นอกจากนี้ก็ยังมีศาลเจ้าเห้งเจียที่ซอยสวนผัก ๑๙ กทม. ที่พุทธรัตนมณฑลสถาน องค์ฉีเทียนไต่เสี่ยฮุกโจ้ว จ.นครปฐม และศาลไต่เสี่ยฮุกโจ้ว เซียนไช้ท่งจื้อ อ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี เป็นต้น
 
………………………………………….
 
น.ส.ทัศชล เทพกำปนาท ที่ปรึกษากรมส่งเสริมวัฒนธรรม
(ภาพ) A painting of the Monkey King by Deng Yu, created using a bamboo brush.
[Photo provided to China Daily] www.chinadaily.com.cn
ลิขสิทธิ์ของ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม สำหรับใช้ประโยชน์เพื่อเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมและการศึกษา
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์ | การปฏิเสธความรับผิด (Disclaimer)