กรมส่งเสริมวัฒนธรรม
เว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้
font size small font size normal font size big
หน้าแรก
Search


ข่าวสาร >> บทความ >> วันสำคัญ
ฉัตรแก้วแห่งแผ่นดิน “ เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม”


 

           พระปฐมบรมราชโองการในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ที่ดังกึกก้องในหัวใจพสกนิกรชาวไทยทั้งแผ่นดิน  เมื่อวันที่ ๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๓ จนถึงปัจจุบัน

           พระราชพิธีฉัตรมงคลเป็นพระราชพิธีที่กำหนดให้มีขึ้น โดยถือวันครบรอบปีแห่งการเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติของพระมหากษัตริย์กรุงรัตนโกสินทร์แต่ละรัชกาล ถือเป็นวันมหามงคล ในพระราชพิธีนั้นพระมหากษัตริย์ทรงบำเพ็ญพระราชกุศล สมโภชพระมหาเศวตฉัตรและเครื่องสิริราชกกุธภัณฑ์ เป็นการเฉลิมฉลองครบรอบปีที่เสด็จขึ้นครองราชสมบัติราชาภิเษก และเพื่อให้เป็นสวัสดิมงคลแก่ราชสมบัติ และทรงบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุประทาน เพื่อทรงอุทิศกุศลสนองพระเดชพระคุณให้เป็นการเชิดชูพระเกียรติคุณสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทุกพระองค์และพระราชทานแก่ประชาชนชาวไทยทั่วไป ซึ่งเป็นพระราชพิธีที่ปฏิบัติกันมาแต่โบราณ ดังปรากฏในหลักศิลาจารึก พ่อขุนรามคำแหงมหาราชว่า "ในสมัยสุโขทัยมีพิธีต้อนรับประมุขของแผ่นดินอย่างมโหฬารตั้งแต่พ่อขุนผาเมืองอภิเษก พ่อขุนบางกลางหาวขึ้นเป็นผู้ปกครองเมืองสุโขทัย” สำหรับสมัยอยุธยาก็ปรากฏหลักฐานตามพงศาวดารว่า " พระมหากษัตริย์ในแผ่นดินอยุธยา เมื่อมีการเปลี่ยนองค์พระมหากษัตริย์  ทั่วทั้งเมืองจัดให้มีพิธีเฉลิมฉลองอย่างเอิกเกริกใหญ่โตไปทั่วทั้งพระนคร”

           ในรัชการที่ ๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติในวันที่ ๙ มิถุนายน  พุทธศักราช ๒๔๘๙ แต่ขณะนั้นยังทรงพระเยาว์ และกำลังทรงศึกษาอยู่ในต่างประเทศ ณ ทวีปยุโรป จึงยังมิได้ทรงรับพระบรมราชาภิเษก การพระราชพิธีจึงคงทำในนามพระราชพิธีรัชมงคล  จนกระทั่งทรงบรรลุนิติภาวะ จึงเสด็จนิวัติประเทศไทยและรัฐบาลไทยได้น้อมเกล้าฯ จัดพิธีบรมราชาภิเษกถวาย เมื่อวันที่ ๕ พฤษภาคม ๒๔๙๓ เหล่าพสกนิกรรชาวไทยจึงถือเอาวันที่ ๕ พฤษภาคม ของทุกปี เป็นวันฉัตรมงคล

           การจัดพิธีฉัตรมงคลในปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงโปรดเกล้าฯ ให้ประกอบพระราชกุศลในวันฉัตรมงคลรวม ๓ วัน เริ่มตั้งแต่วันที่ ๓ พฤษภาคม เป็นพิธีสงฆ์  งานพระราชกุศลทักษิณา นุประทาน ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ทรงนิมนต์พระสงฆ์มาสวดมนต์ แล้วพระราชาคณะถวายพระธรรมเทศนา พระสงฆ์สดับปกรณ์พระบรมอัฐิสมเด็จพระบรมราชบุรพการี อุทิศถวายแด่พระบรมราชบุรพการี ในวันที่ ๔ พฤษภาคม เริ่มพระราชพิธีฉัตรมงคล เจ้าพนักงานอัญเชิญเครื่องราชกกุธภัณฑ์ขึ้นประดิษฐานบนพระแท่นใต้ พราหมณ์เบิกแว่นเวียนเทียนสมโภชพระมหาเศวตฉัตร และเครื่องราชกกุธภัณฑ์ เมื่อถึงเวลาเที่ยงตรงทหารเรือ และทหารบกยิงปืนใหญ่เฉลิมพระเกียรติ พร้อมกัน ๒ กอง รวม ๔๒ นัด นอกจากนี้ ยังมีพิธีพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตราจุลจอมเกล้า ให้แก่ผู้ที่ได้รับพระราชทานด้วย หลังจากนั้น ทรงเสด็จนมัสการพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร (พระแก้วมรกต) และถวายบังคมพระบรมรูปสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้า ณ ปราสาท เทพบิดร ในพระบรมมหาราชวัง เป็นอันเสร็จพิธี  

           พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ภูมิพลอดุลยเดช ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงงานหนักที่สุดในโลก ทรงประกอบพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่นานับประการจนเกินที่จะคณานับ เพื่อให้พสกนิกรชาวไทยและผู้ที่เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารของพระองค์อยู่ดีกินดีมีความสุข พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมราษฏรทั่วประเทศอย่างใกล้ชิด ไม่ว่าจะเป็นถิ่นทุรกันดารแค่ไหน ทำให้ทรงเห็นและตระหนักในทุกข์ของราษฎรของพระองค์ และกลายเป็นความผูกพันและห่วงใยอันลึกซึ้งและยาวนานที่มีต่อราษฎรความผูกพันและความห่วงใยนี้เองที่ทำให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทุ่มเทพระวรกายและพระราชหฤทัยคิดค้นหาทางอยู่ตลอดเวลาที่จะทำให้ ราษฎรคลายทุกข์และอยู่ดีกินดี เพราะราษฎรชาวไทยส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงทรงสนพระทัยโดยเฉพาะในเรื่องดินและน้ำ อันเป็นปัจจัยสำคัญของเกษตรกรรม ทรงศึกษาด้วยพระองค์เองจนทรงมีความรู้แตกฉาน ทรงสามารถที่จะร่วมกับเจ้าหน้าที่และนักวิชาการ พิจารณาแก้ปัญหาและพระราชทานความคิดเห็น ที่นำไปสู่โครงการตามแนวพระราชดำริต่างๆ ที่มีอยู่ประมาณ ๓,๐๐๐  โครงการทั่วประเทศ                                                                                 

           ด้วยพระปรีชาสามารถในด้านต่างๆของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงทรงได้รับการทูลเกล้าถวายรางวัลและเกียรติยศต่างๆมากมาย ทั้งจากบุคคลและคณะบุคคลในประเทศและต่างประเทศ อันเนื่องมาจากพระราช  กรณียกิจและพระราชอัธยาศัยในการแสวงหาความรู้ เป็นต้นว่า "รางวัลความสำเร็จสูงสุดด้านการพัฒนามนุษย์” จากสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ ทูลเกล้าถวาย ฯ  เมื่อวันที่ ๒๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๙ จากการที่ได้ทรงอุทิศกำลังพระวรกายและทรงพระวิริยะอุตสาหะในการปฏิบัติพระราชกรณียกิจมาตลอดพระชนม์ชีพ "เหรียญรางวัลผู้นำโลกด้านทรัพย์สินทางปัญญา” (Global Leaders Award) จากองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (World Intellectual Property Organization) เมื่อวันที่ ๑๔ มกราคม ๒๕๕๒ เพื่อเทิดพระเกียรติที่ทรงมีบทบาทและมีผลงานด้านทรัพย์สิน ทางปัญญาที่โดดเด่น และพระองค์เป็นผู้นำโลกคนแรกที่องค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลกทูลเกล้าฯถวายเหรียญรางวัล และล่าสุดเมื่อวันที่ ๑๖ เมษายน ๒๕๕๕ สหภาพวิทยาศาสตร์ทางดินนานาชาติ (International Union of Soil Sciences-IUSS) นำโดยอดีตเลขาธิการสหภาพวิทยาศาสตร์ทางดินนานาชาติทูลเกล้าฯถวาย"รางวัลนักวิทยาศาสตร์ดินเพื่อมนุษยธรรม” (The Humanitarian Soil  Scientist) เป็นพระองค์แรกของโลก

           ในวโรกาสที่วันที่ ๕ พฤษภาคม เวียนมาบรรจบอีกวาระหนึ่ง ซึ่งเป็นสิ่งยืนยันว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติมาครบรอบขวบปีด้วยดี และตลอดเวลาที่ผ่านมา พระองค์ได้ประกอบพระราชกรณียกิจอันเป็นคุณประโยชน์ต่อประเทศชาติและปวงชนชาวไทยนับอเนกอนันต์ ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ขอเชิญชวน หน่วยงานทั้งภาครัฐ  รัฐวิสาหกิจ บริษัทเอกชนและพสกนิกรชาวไทยทั้งประเทศ ร่วมกันประดับธงชาติตามหน่วยงานและอาคารบ้านเรือน ร่วมทำบุญตักบาตร เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงเจริญพระชน มายุยิ่งยืนนานเป็นมิ่งขวัญแก่พสกนิกรชาวไทยสืบไป

 ..................................................................

บทความโดย ธนพร  สิงห์นวล กลุ่มงานประชาสัมพันธ์  สำนักนวัตกรรมทางวัฒนธรรม กรมส่งเสริมวัฒนธรรม
 
 
ลิขสิทธิ์ของ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม สำหรับใช้ประโยชน์เพื่อเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมและการศึกษา
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์ | การปฏิเสธความรับผิด (Disclaimer)