
เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๓ พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร และสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้เสด็จประพาสทวีปอเมริกาและยุโรป เพื่อเจริญสัมพันธไมตรี จำนวน ๑๕ ประเทศ ซึ่งต้องเสียเวลาหลายเดือนคือตั้งแต่หน้าร้อน ฤดูใบไม้ร่วง จนถึงหน้าหนาวหิมะตก ดังนั้นเสื้อผ้าจึงจำเป็นต้องเตรียมไปสำหรับทุกหน้าและทุกโอกาส สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงจึงทรงมีพระราชเสาวนีย์โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาค (หม่อมหลวงมณีรัตน์ บุนนาค นางสนองพระโอษฐ์ ในขณะนั้น) ประสานงานกับผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมไทย คือ ศาสตราจารย์พระยาอนุมาราชธน ศึกษาค้นคว้าเครื่องแต่งกายสตรีไทยแบบและสมัยต่างๆ และทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายให้ทอดพระเนตรอีกครั้งหนึ่ง โดยมีอาจารย์สมศรี กุสุมาลนันท์ (อาจารย์ประจำแผนกเสื้อผ้า วิทยาลัยเทคนิคกรุงเทพ ในขณะนั้น) เป็นผู้ออกแบบร่าง และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้คุณไพเราะ พงษ์เจริญ ตัดเย็บเป็นฉลองพระองค์ถวาย ฉลองพระองค์ชุดไทยประยุกต์ที่สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงในระหว่างตามเสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศอย่างเป็นทางการ ครั้งนั้นมีความงดงามเป็นที่ชื่นชมของชาวต่างประเทศที่ได้มีโอกาสชมพระบารมีเป็นอย่างยิ่ง และเมื่อนิตยสาร NEUE ILUSTRERTE นิตยสารชั้นนำของประเทศเยอรมนีอัญเชิญพระบรมฉายาลักษณ์ในฉลองพระองค์ชุดไทยประยุกต์ไปเป็นปก ยิ่งส่งผลให้ความงดงามแห่งชุดเครื่องแต่งกายประจำชาติของสตรีไทยเป็นที่ประจักษ์แก่สายตาสาธารณชนกว้างขวางยิ่งขึ้น
หลังจากเสด็จนิวัติพระนครครั้งนั้นแล้ว สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ก็ยังทรงฉลองพระองค์ชุดไทยประยุกต์แบต่างๆ ตามโอกาส กระทั่งปีพุทธศักราช ๒๕๐๗ จึงทรงมีพระราชวินิจฉัยเลือกชุดไทยประยุกต์จำนวน ๘ แบบด้วยกัน และโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาค เป็นผู้คิดตั้งชื่อชุดให้เหมาะสมกับแบบชุดต่างๆ นั้น เพื่อใช้เป็นชื่อเรียกขานเป็นแบบฉบับเครื่องแต่งกายชุดประจำชาติของสตรีไทยต่อไป ท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาค ได้นำชื่อพระตำหนักและพระที่นั่งต่างๆ มาใช้เป็นชื่อของชุดไทยประยุกต์ ทั้ง ๘ ชุด โดยคำนึงถึงความเหมาะสมกับแบบ ตลอดจนโอกาสในการเลือกใช้ชุดนั้นๆ และโดยเหตุที่สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง มิได้ทรงบังคับให้ชุดไทยประยุกต์ดังกล่าว เป็นแบบแผนเครื่องแต่งกายที่สุภาพสตรีไทยทุกคน จะต้องแต่ง เพียงแต่ทรงมีพระราชนิยมทรงฉลองพระองค์แบบต่างๆ นั้น ประชาชนทั่วไปจึงเรียกขานกันในภายหลังว่า "ชุดไทยพระราชนิยม” ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา ประกอบด้วย

๑.ชุดไทยเรือนต้น ตั้งชื่อตามเรือนต้น ใช้ผ้าไหมมีลายริ้ว ตามขวางหรือตามยาว หรือใช้ผ้าเกลี้ยงมีเชิงซิ่น ยาวจรดข้อเท้า ป้ายหน้า เสื้อใช้ผ้าสีตามริ้วซิ่นหรือเชิงซิ่น จะตัดกับวิ่นหรือสีเดียวกันก็ได้ เสื้อคนละท่อนกับซิ่น แขนสามส่วน กว้างพอสบาย ผ่าอก กระดุม ๕ เม็ด คอกลมตื้นไม่มีขอบตั้งที่คอ เหมาะสำหรับงาที่ไม่เป็นพิธีการหรือในโอกาสปกติและต้องการความสบาย เรียบง่าย เช่น งานกฐิน เที่ยวเรือ งานทำ บุญ วันสำคัญทางศาสนา ข้อสำคัญต้องเลือกใช้ผ้าที่ใช้ตัดให้เหมาะสมกับเวลาและสถานที่

๒.ชุดไทยจิตรลดา ตั้งชื่อตามพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ใช้ผ้าไหมเกลี้ยงมีเชิงหรือทอยกดอกทั้งตัวก็ได้ ตัดแบบเสื้อคนละท่อนกับซิ่น ซิ่นยาวป้ายหน้า เสื้อแขนยาว ผ่าอก คอกลม มีขอบตั้งน้อยๆ มักใช้ในโอกาสพิเศษ เช่น งานพระราชพิธีต่างๆ รับประมุขจากต่างประเทศที่มาเยือนอย่างเป็นทางกาย ไม่ต้องประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์

๓.ชุดไทยอมรินทร์ ตั้งชื่อตามพระที่นั่งอมรินทร์วินิจฉัย แบบเหมือนไทยจิตรลดา ต่างกันที่ใช้ผ้าและเครื่องประดับหรูหรากว่าไทยจิตรลดา ใช้ผ้าไหมยกดอกที่มีทองแกมหรือยกทองทั้งตัว เสื้อคนละท่อนกับซิ่น ไม่มีเข็มขัด ใช้สำหรับพิธีตอนค่ำ เหมาะสมสำหรับงานเลี้ยงรับรองรับเสด็จ ไปดูละครตอนค่ำ และ เฉพาะในงานพระราชพิธีสวนสนามในวันเฉลิมพระชนมพรรษา ประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ หรือ ใช้ในโอกาสพิเศษที่กำหนดให้แต่งกายเต็มยศหรือครึ่งยศ เช่น ในงานพระราชพิธีหรืองานสโมสรสันนิบาต

๔.ชุดไทยบรมพิมาน ตั้งชื่อตามพระที่นั่งบรมพิมาน ใช้ผ้ายกไหมหรือยกทองมีเชิง หรือยกทองทั้งตัวก็ได้ตัดติดกันกับตัวเสื้อ หรือเป็นเสื้อคนละท่อนก็ได้ซิ่นจีบข้างหน้า มีชายพกยาวจรดข้อเท้า คาดเอวด้วยเข็มขัดไทยเสื้อแขนยาว คอกลมมีขอบตั้ง ผ่าด้านหน้าหรือด้านหลัง สวมเครื่องประดับตามสมควร ใช้สำหรับงานพิธีตอนค่ำ เหมาะสำหรับงานพิธีเต็มยศและครึ่งยศ เช่น งานอุทยานสโมสร งานพระราชทานเลี้ยงอาหารค่ำอย่างเป็นทางการ หรือเป็น ชุดเจ้าสาว

๕.ชุดไทยจักรี (ชุดไทยห่มสไบ) ตั้งชื่อตามพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ใช้ผ้ายกมีเชิงหรือยกทั้งตัวคาดเข็มขัดไทย ซิ่นมีจีบยกข้างหน้า มีชายพก ท่อนบนเป็นสไบ จะเย็บติดกับซิ่นหรือท่อนเดียวกัน หรือจะมีสไบห่มต่างหากก็ได้เปิดบ่าข้างหนึ่ง ชายสไบคลุมทิ้งชายด้านหลังยาวตามเห็นสมควร ใช้สำหรับงานตอนค่ำ สวมใส่เครื่องประดับให้งดงามตามโอกาส

๖.ชุดไทยดุสิต ตั้งชื่อตามพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ใช้ผ้ายกไหมหรือยกทองอย่างแบบไทยอมรินทร์ ไทยบรมพิมานและไทยจักรี ตัวเสื้อไม่มีแขน คอหน้า-หลังคว้านกว้าง ผ่าหลัง ปักเป็นลวดลายด้วยไข่มุก ลูกปัดหรือเลื่อม มีลวดลายสวยงาม ตัวซิ่นยาวมีจีบหน้านางและชายพก ใช้เข็มขัดแบบไทย ใช้ในงานพระราชพิธีตอนค่ำที่กำหนดให้แต่งกายเต็มยศ

๗.ชุดไทยจักรพรรดิ ตั้งชื่อตามพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ใช้ซิ่นไหมหรือยกทอง เอวจีบ จีบหน้านาง มีชายพก ห่มแพรจีบแบบไทยเป็นชั้นที่หนึ่งก่อนแล้วค่อยใช้สไบปักอย่างสตรีบรรดาศักดิ์สมัยโบราณ ห่มทับแพรจีบอีกชั้นหนึ่ง ใช้เข็มขัดไทยคาด ใช้ในโอกาสพิเศษที่กำหนดให้แต่งกายแบบเต็มยศ

๘.ชุดไทยศิวาลัย ตั้งชื่อตามพระที่นั่งศิวาลัย ใช้ซิ่นไหมหรือยกทอง เอวจีบ มีชายพก ตัวเสื้อใช้ผ้าสีทองเหมือนสีเนื้อ ตัดแบบแขนยาวคอกลมผ่าหลัง เย็บติดกับผ้าซิ่น คล้ายแบบไทยบรมพิมาน แต่ห่มปักลายไทยอย่างแบบไทยจักรพรรดิโดยไม่ต้องมีแพรจีบรองพื้นก่อน ใช้ในโอกาสพิเศษที่กำหนดให้แต่งกายเต็มยศ เหมาะสมกับเวลาที่มีอากาศค่อนข้างเย็น
ด้วยพระปัญญาอันปรีชาชาญและมองการณ์ไกล สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง จึงทรงฉลองพระองค์ชุดไทยพระราชนิยมแบบต่างๆ อย่างสม่ำเสมอ ทั้งในการส่วนพระองค์ การเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรตามภูมิภาคต่างๆ ของประเทศไทย การพระราชกุศล ตลอดจนงานพระราชพิธีต่างๆ เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ให้ชาวต่างชาติได้ประจักษ์ในความงามของชุดไทยพระราชนิยม พระองค์จึงมักใช้ชุดไทยพระราชนิยมเป็นฉลองพระองค์ ในพระราชพิธีต้อนรับพระราชอาคันตุกะจากนานาอารยประเทศอีกวโรกาสหนึ่งอีกด้วย
........................................
ขอขอบคุณ ที่มา : หนังสือชุดไทยพระราชนิยม
เรียบเรียงโดย จักรกฤษณ์ ดวงพัตราและวิไลวรรณ สมโสภณ