ผ้ายก หมายถึง ผ้าที่ทอด้วยวิธีการสร้างลวดลายแบบการยก คือ การใช้ ตะกอ เป็นตัวควบคุมเส้นยืนแล้วใช้เส้นพุ่งพิเศษเข้าไปสาน ทอ ขัดให้เกิดเป็นลวดลาย หากขัดขึ้นเรียกว่าเส้นยก หากขัดลงเรียกว่าเส้นข่ม เมื่อทอพุ่งกระสวยไปมาครบคู่ไปกับการยกตะกอจะเกิดเป็นลวดลายนูนขึ้นมาจากผืนผ้า ซึ่งเทคนิคในการทอยกให้เกิดลวดลายนี้เรียกว่า "การยกดอก” ถ้าทอยกด้วยเส้นทองเรียกว่า "ยกทอง” ถ้าทอยกด้วยเส้นเงินจะเรียกว่า "ยกเงิน” ถ้าใช้ไหม เรียกว่า "ยกไหม” ดังนั้นผ้ายกดอกจึงเป็นการสร้างผิวสัมผัสให้กับผ้าสีพื้นให้มีลูกเล่นเพิ่มเติม ทำให้ผ้าผืนธรรมดามีคุณค่าและมูลค่าเพิ่มขึ้นนั้นเอง ผ้ายกดอกเป็นผ้าทอที่นิยมใช้ในสังคมชั้นสูง ดังนั้นจะเห็นได้ว่า
ผ้ายกดอกมักจะมีการทอเฉพาะในจังหวัดที่เคยเป็นหัวเมืองใหญ่ในอดีต ซึ่งใช้เป็นศูนย์กลางการปกครองของหัวเมืองทั้งหลาย เช่น เชียงใหม่ ลำพูน นครศรีธรรมราช และอุบลราชธานี โดยเฉพาะผ้าไหมยกดอกลำพูน ขึ้นชื่อเรื่องความงดงามและลวดลายอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะท้องถิ่น คือ เนื้อผ้าแน่น ละเอียด มีความมันวาว งดงาม อ่อนช้อย ซักแล้วสีไม่ตก ไม่ซีด เมื่อนำไปตัดเย็บตะเข็บไม่แตกง่าย มีความพิถีพิถันในการทอ ตั้งแต่กรรมวิธีการทอ การออกแบบลวดลายให้หลากหลาย ทำให้ผ้าไหมยกดอกลำพูนมีลักษณะเด่น ดังนี้
๑. ตะกอเขาดอก เป็นตะกอที่ทำให้เกิดลวดลายนั้นผ้าไหมยกดอกลำพูนใช้ตะกอพาดลงบนไหมเส้นยืน ซึ่งอาจจะมีตั้งแต่ ๑๐ – ๑๐๐ ตะกอขึ้นกับลวดลาย ทำให้การทอต้องมีความประณีต ละเอียดอ่อน เพราะหากเส้นไหมยืนขาดเหนือตะกอดอก ช่างทอต้องต่อเส้นไหมให้เข้าตะกอตลอดทั้ง ๑๐ – ๑๐๐ ตะกอ ความแตกต่างของตะกอขึ้นอยู่กับผู้บริโภค ผู้ผลิตและความต้องการของตลาดในสินค้าแต่ละแบบ
๒. ไม้กระทบ ผ้าไหมยกดอกลำพูนจะทอโดยใช้กี่พื้นเมือง ใช้ฟืมที่ประกบด้วยไม้กระทบ ซึ่งมีขาไม้ยึดโยงกับโครงกี่ ทำให้การทอได้คุณภาพของผ้าและหน้าผ้าสม่ำเสมอสวยงาม
๓. ลายผ้า ลายที่ใช้ทอในอดีตนั้นได้มาจากลายปูนปั้นวัดจามเทวี เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มของพระนางจามเทวี มีลายสัตว์อยู่บ้างเล็กน้อย ทั้งยังได้มีการประยุกต์โดยพระราชชายาเจ้าดารารัศมี ทรงนำลายเทพพนมจากภาคกลางมาสอนให้กับชาวลำพูน ทำให้ลายผ้านี้เป็นเอกลักษณ์ของเมืองลำพูนจนถึงปัจจุบัน
๔. คานรับตะกอ เป็นอุปกรณ์ที่พัฒนาขึ้นเพื่อเป็นเครื่องมือสำหรับรับตะกอเขาดอกในจำนวนมากๆ เพื่อช่วยให้การยกตะกอได้ง่ายยิ่งขึ้น และยังช่วยให้ตะกอเขาดอกไม่พันกันและเป็นขน
๕. การทอ ผ้ายกดอกลำพูนจะมีลวดลายที่นิ่มนวลอ่อนช้อยกว่าทางภูมิภาคอื่น ตะกอที่ใช้เป็นตะกอเขาลอยซึ่งเป็นตะกอลอยแถวใดแถวหนึ่ง ไม่สามารถที่จะเปลี่ยนลวดลายได้ ถ้าจะเปลี่ยนต้องถอดตะกอลอยออกทั้งหมดแล้วเก็บลายใหม่ขึ้นมา ลายผ้าที่เก็บเป็นตะกอลอยนั้นสามารถทำได้ไม่เกิน ๑๐๐ ไม้ต่อหนึ่งลาย ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือนั้นจะเป็นตะกอโยงที่สามารถแก้และเพิ่มลายใหม่ได้ง่ายภายในเวลาเดียวกัน แต่ละลายสามารถทำได้มากกว่า ๑๐๐ ไม้ แต่มีข้อเสียอยู่ที่ว่าลวดลายในตะกอโยงนั้น ถ้ามีใครมาถอดไม้ใดไม้หนึ่งออกไปจะทำให้ลายผ้านั้นเสียไปทั้งหมด และต้องเก็บลายผ้าขึ้นมาใหม่ให้เหมือนเดิม
นอกจากผ้าไหมยกดอกลำพูนที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักแล้ว ยังมีผ้ายกดอกที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักอีก เช่น ผ้าราชวัตรหรือที่ทุกคนรู้จักดีในนามของผ้าเกาะยอ และผ้าทอนาหมื่นศรีของจังหวัดตรัง ซึ่งผ้าทอยกดอกจากทั้งสองแหล่งนี้มีลักษณะเด่นในเรื่องของการออกแบบลวดลาย ที่มีการพัฒนาลวดลายแบบผสมผสาน ซึ่งเดิมนั้นจะมีการยกลายแค่ลายเดียว แต่กลายเป็นผ้าที่มีลวดลายต่างกันถึง ๙ ลายในผืนเดียวกัน นอกจากนี้ยังมีการสลับช่วงสี ทำให้ผ้าหนึ่งผืนเกิดสีต่างกันได้ สามารถนำไปตัดเย็บเป็นเสื้อผ้าที่มีลูกเล่นที่สวยงามเพิ่มมากขึ้นด้วย
............................
ขอขอบคุณที่มา : หนังสือสานด้ายเป็นลายศิลป์, ผ้าไหมพื้นบ้าน โดย ศิริ ผาสุก,เบิ่งซิ่นกินแซ่บ, www.gotoknow.org/posts/441689 ภาพ : phayokdok.com