กรมส่งเสริมวัฒนธรรม
เว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้
font size small font size normal font size big
หน้าแรก
Search


ข่าวสาร >> บทความ >> เล่าสู่กันฟัง
เล่าสู่กันฟัง...เรื่อง “เซียมซี : คำทำนายแก้ไขปัญหาชีวิต

วันที่ 1 มี.ค. 2564
 

     บางครั้งที่เราประสบกับปัญหาชีวิต และไม่รู้จะหาคำตอบมาจากไหน นอกจากจะไปไหว้พระอธิษฐานขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ช่วยแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่คนนิยมคือ "เสี่ยงเซียมซี” เพื่อสอบถามในสิ่งที่ยังสงสัย ไม่แน่ใจ ซึ่งหลายๆครั้งคำตอบใน "ใบเซียมซี” อันเป็นกระดาษแผ่นเล็กๆที่มีคำทำนายเป็นคำกลอน หรือคำคล้องจองก็เป็นอีกแนวทางหนึ่งของการแก้ไขปัญหาที่เราคิดไม่ตกได้ หรืออย่างน้อยๆ ก็ทำให้บางคนมีกำลังใจเพิ่มขึ้น
 
     ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานบอกความหมายของ "เซียมซี” ว่า "ใบทำนายโชคชะตาตาม ศาลเจ้าหรือวัด มีเลขหมายเทียบกับเลขหมายบนติ้วที่เสี่ยงได้” ส่วนในวิกิพีเดีย ให้ความหมายเซียมซีว่า เป็นการทำนายดวงชะตารูปแบบหนึ่งตามธรรมเนียมของจีน โดยการเขย่าภาชนะที่บรรจุหมายเลขที่เขียนไว้บนไม้ไผ่ที่เหลาเป็นซีก โดยไม้ที่หล่นลงมาแท่งแรกจะแสดงหมายเลขที่นำไปตรวจสอบกับคำทำนาย นอกจากนี้ข้อมูลอื่นๆยังบอกอีกว่า เซียมซี เป็นคำภาษาจีน มาจากคำว่า "เซียม”ที่แปลว่า กระดาษแผ่นเล็กๆยาวๆ ส่วน "ซี” แปลว่า บทกลอน เมื่อรวมกันแล้วก็หมายถึง กลอนบนกระดาษแผ่นเล็กๆ แต่บางแห่งสันนิษฐานว่าเพี้ยนมาจากคำว่า "เซียนซือ” ซึ่งหมายถึงผู้ทรงอิทธิฤทธิ์หรือผู้ที่มีความสามารถเหนือมนุษย์ ที่จะให้คุณหรือโทษแก่ผู้ใดก็ได้ และบางแห่งก็ว่า "เซียม” หมายถึง ไม้ติ้วเสี่ยงทาย และ "ซี” หมายถึง โคลง กลอน โดยรวมจึงหมายถึงโคลงกลอนบนไม้ติ้วที่เสี่ยงทาย สรุปแล้ว เซียมซี ก็คือแผ่นกระดาษหรือไม้ติ้วที่บรรจุบทกลอนอันเป็นคำทำนายไว้ ซึ่งเซียมซีนี้ส่วนใหญ่จะอยู่ตามวัดหรือศาลเจ้า ส่วนที่ว่าเพี้ยนมาจากเซียน คงเพราะเป็นการทำนายอนาคต ซึ่งต้องอาศัยผู้มีความสามารถพิเศษที่จะหยั่งรู้การณ์ข้างหน้าได้ ปัจจุบันนอกจากไปที่วัด ศาลเจ้าหรือศาสนสถานแล้ว เรายังสามารถเสี่ยงเซียมซีทางออนไลน์ได้อีกด้วย
 
     การเสี่ยงเซียมซีเพื่อหาคำตอบอันเป็นเสมือนคำพยากรณ์นี้ อาจถือได้ว่ามีลักษณะเป็นโหราศาสตร์ที่เก่าแก่แขนงหนึ่ง และชื่อก็บอกเป็นนัยแล้วว่าต้องมาจากประเทศจีน ซึ่งจากการที่มักพบเซียมซีตามศาลเจ้าจีน ก็เลยเชื่อกันว่าเซียมซีน่าจะเผยแพร่มาเมืองไทยพร้อมกับชาวจีนที่อพยพมาทำมาหากินในบ้านเรา แล้วสร้างศาลเจ้าขึ้นตามความเชื่อของตน ทั้งนี้ หากจะอนุมานจากการมีศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวในจังหวัดปัตตานี อันเป็นศาลที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทยที่สร้างขึ้นในปีพ.ศ. ๒๑๑๖ การเสี่ยงเซี่ยมซีที่เกิดขึ้นในในบ้านเรา ก็น่าจะมีอายุมากกว่า ๔๐๐ ปีมาแล้ว ซึ่งแต่เดิมคงเขียนเป็นภาษาจีนไว้ เมื่อเสี่ยงทายเสร็จก็ต้องหาผู้รู้แปลให้ ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๕ ที่วัดกัลยาณมิตร ฝั่งธนบุรี ได้พบหลักฐานว่ามีการแปลเซียมซีภาษาจีนให้เป็นไทยโดย นายเปลี่ยน แซ่ซ้อง และคงเป็นจุดกำเนิดของเซียมซีภาษาไทยให้เราได้อ่านมาจนทุกวันนี้
 
     คนไทยเรารู้จักและคุ้นเคยกับ "เซียมซี” มาช้านาน หากจะเปรียบ "เซียมซี” ก็คล้ายกับ "หมอดู” ที่คนทั่วไปมักไปหา เวลามีปัญหาชีวิต เพียงแต่คำตอบที่ได้ มิใช่คำพูด แต่กลับเป็นแผ่นกระดาษคำกลอนที่ผู้เสี่ยงทายอาจต้องแปลปริศนาคำทำนายที่ซ่อนอยู่ และที่ต่างออกไปคือ หมอดูกระดาษที่ตอบปัญหาสารพันให้แก่มนุษย์ไม่ว่าเรื่องรัก เรื่องเรียน เรื่องงาน เรื่องสุขภาพ รวมถึงความหวังต่างๆที่ว่านี้ มิใช่หมอดูทั่วไป แต่เป็นถึง เทพเจ้า หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่เราเคารพนับถือ การเสี่ยงเซียมซีจึงเพิ่มความเชื่อและความศรัทธาเข้าไปด้วย
 
     สำหรับอุปกรณ์การเสี่ยงเซียมซีจะประกอบด้วย ไม้ติ้ว ที่ทำจากไม้ไผ่เหลาเป็นแท่งบางๆ มักยาวไม่เกินหนึ่งฟุต และเขียนเลขกำกับไว้ มีตั้งแต่เลข ๑ - ๒๘ หรือมากกว่านั้น แล้วบรรจุไม้ติ้วทั้งหมดลงในกระบอกไม้ไผ่ ในปัจจุบันบางแห่งก็ทำติ้วและกระบอกเป็นพลาสติกหรือวัสดุอื่นๆ เวลาจะเสี่ยงเซียมซีก็ให้ยกกระบอกขึ้นจบหน้าผาก จากนั้นตั้งจิตให้มั่น อธิษฐานถามสิ่งที่ต้องการรู้ต่อหน้าพระหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เราไปขอ แล้วสั่นกระบอกติ้วเซียมซี ให้ไม้ติ้วหลุดมา ๑ อัน หากตรงกับหมายเลขใดก็ไปอ่านคำทำนายตามหมายเลขนั้นๆ
 
     นอกจากไม้ติ้วแล้ว อีกสิ่งที่อยู่คู่กับเซียมซีคือ ไม้ปวย อันเป็นไม้เสี่ยงทายอีกรูปแบบหนึ่ง ที่มีลักษณะเป็นไม้นูนโค้งรูปพระจันทร์เสี้ยว จะมีอยู่สองอันประกบกัน และมักวางไว้ ณ แท่นบูชา ไม้นี้จะเป็นเสมือนสิ่งที่ใช้สื่อสารระหว่างผู้เสี่ยงทายกับเทพเจ้าหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ณ ที่นั้นๆ กล่าวคือเมื่อเสี่ยงเซียมซีได้หมายเลขใดแล้ว บางคนก็อยากจะรู้ว่าเซียมซีที่ได้นั้น ใช่หรือไม่ใช่ของเรา ก็จะใช้ไม้ปวยนี่แหละเสี่ยงทายอีกครั้ง
 
     วิธีการเสี่ยงไม้ปวยเพื่อยืนยันเซียมซี ก็คือ เมื่ออธิษฐานและเสี่ยงเซียมซีได้หมายเลขใดแล้วก็ตาม ให้วางไม้ติ้วนั้นบนพื้นก่อน จากนั้นให้ถือไม้ปวยประกบคู่กัน แล้วอธิษฐานถามต่อหน้าพระหรือเทพเจ้าที่เราขอเซียมซีกับท่านว่า เซี่ยมซีหมายเลขที่เสี่ยงได้นี้ ใช่หมายเลขของเราหรือเปล่า แล้วให้โยนไม้ปวยขึ้นเหนือศีรษะ เมื่อไม้ตกลงมากับพื้น ให้ดูว่า ออกมาในรูปใด ซึ่งจะมีเพียง ๓ แบบเท่านั้น คือ
 
      - แบบ คว่ำทั้งคู่ มีความหมายว่า ไม่ใช่ ให้เสี่ยงขอเซียมซีใบใหม่
 
     -แบบ หงายทั้งคู่ หมายถึง ไม่มีความเห็น หรือให้ตัดสินใจเอง แต่ในการเสี่ยงเซียมซี หากออกมาในลักษณะนี้เขาให้เสี่ยงขอใบใหม่
 
     -แบบ คว่ำอัน หงายอัน หมายถึง ใช่ คือ ใช่ใบที่ท่านประทานให้ ไม่ต้องเสี่ยงใหม่
 
     "ไม้ปวย” หรือไม้เสี่ยงทายนี้ บางคนก็ใช้อธิษฐานถามในเรื่องต่างๆที่อยากรู้ โดยไม่เกี่ยวกับการยืนยันเซียมซีก็ได้ เช่น อยากถามว่าเราจะเปลี่ยนงานดีไหม ก็ให้ทำแบบเดียวกับการถามในเรื่องเซียมซี คือ เมื่ออธิษฐานถามแล้ว ก็โยนไม้เสี่ยงทาย หากออกมาในลักษณะใด ก็ให้ทำนายตามนั้น คือ ถ้าคว่ำทั้งคู่ ก็แปลว่า ไม่ควรเปลี่ยนงาน หงายทั้งคู่ ก็แปลว่า อยู่ที่การตัดสินใจของเรา จะเปลี่ยนหรือไม่ก็ได้ หากคว่ำอัน หงายอัน ก็แปลว่า เปลี่ยนได้ ดังนี้เป็นต้น
 
     โดยทั่วไป เซียมซีที่เราพบเห็นมักจะมีด้วยกัน ๒๘ ใบ ซึ่งเรื่องนี้อาจารย์วิโรจน์ ตั้งวาณิชย์ ผู้เชี่ยวชาญจีน ได้เคยให้ความเห็นว่าน่าจะมาจากจำนวนทิศ ๔ ทิศ ซึ่งมีดาวบริวารอยู่ ๗ กลุ่ม เมื่อรวมกันก็ได้ ๒๘ พอดี แต่เหตุใดมาเกี่ยวกับจำนวนเซียมซี ก็ไม่ได้บอกเหตุผลไว้ คงจะเป็นเลขมงคลกระมัง แต่ตามศาลหรือวัดบางแห่งก็มีมากกว่านี้ เช่น ที่ศาลเจ้ากวนอูที่อยู่ใกล้สวนสมเด็จย่า จะมีเซียมซีถึง ๑๐๐ ใบ
 
     คำทำนายในใบเซียมซีนั้น คาดว่าของเดิมคงมาจากปราชญ์ชาวจีนได้แต่งไว้ และคัดลอกต่อๆกันมา โดยไม่รู้ว่าใครเป็นผู้เขียน ส่วนรูปแบบก็มีทั้งที่เป็นร้อยแก้วและร้อยกรอง โดยมักแต่งเป็นกลอนสุภาพให้คล้องจองกัน เนื้อหาเซียมซีของจีนโบราณจะแบ่งเป็น ๔ ประเภทคือ ดีเลิศ ดี ปานกลาง และไม่ดี เมื่อนำมาแปลภายหลังก็มีหลายสำนวน ต่อๆมาศาลเจ้า วัดและศาสนสถานหลายแห่งก็ใช้ผู้รู้เขียนคำทำนายขึ้นเอง ทำให้จำนวนเซียมซีแตกต่างกันออกไปตามแต่ที่นั้นๆจะกำหนด แต่เนื้อหาส่วนใหญ่ก็ยังประกอบด้วยคำทำนาย คติเตือนใจ และ คำสั่งสอนในเชิงปรัชญาทางศาสนา ซึ่งบางครั้งอ่านแล้วก็ต้องมาตีความหมายอีกทีหนึ่ง ปัจจุบันใบเซียมซีนอกจากจะมีเฉพาะภาษาไทยแล้ว บางแห่งก็มีควบทั้งภาษาไทย-จีน หรือมีทั้งภาษาไทย-จีน-อังกฤษในแผ่นเดียวกัน
 
     ตามปกติเซียมซีใบหนึ่งๆ จะรวมคำทำนายหลายเรื่องไว้ด้วยกัน เช่น เรื่องโชคลาภ เรื่องหาคู่ เรื่องคนหาย เรื่องเจ็บป่วย และเรื่องความสำเร็จในกิจการต่างๆ ฯลฯ ซึ่งความแม่นยำของคำทำนายนั้น ต้องบอกว่าขึ้นอยู่กับความศรัทธาของผู้เสี่ยงทายเป็นสำคัญว่าจะเชื่อมากน้อยแค่ไหน เช่น หลายคนเชื่อว่า เซียมซีที่ศาลเจ้าพ่อเสือ ตรงเสาชิงช้า จะทำนายเรื่องอาชีพการงานได้แม่นยำมาก เป็นต้น
 
     ตัวอย่างเซียมซี ใบที่มีความหมายดี "ใบที่เจ็ดเสร็จทุกข์เป็นสุขี ทั้งบ้านเรือนเพื่อนกินก็ยินดี แต่ตัวนี้เคืองขุ่นอยู่วุ่นวาย จงทำบุญให้ทานประมาณจิต คงสมคิดแสนสมอารมณ์หมาย อย่าอ้อมโอบโลภมากจะยากกาย ฟังภิปรายพาทีคงดีจริง เหมือนปลูกต้นผลไม้ไว้ใกล้บ้าน คงเป็นการอยู่สุขสิ้นทุกสิ่ง ถามหาลาภใบนี้ว่าดีจริง หรือถามสิ่งของหายว่าได้คืน ถามหาคู่สู่สมภิรมย์พักตร์ ว่าดีนักแสนดีเป็นที่ชื่น ถามคนเจ็บว่าหายสบายครืน ถึงเรื่องอื่นก็ดี เท่านี้เอยฯ”
 
     ตัวอย่างเซียมซี ใบที่มีความหมายดีและไม่ดี "ใบที่สิบหยิบยกตกกับใบ้ เหมือนได้นอนหลับไปแล้วกลับฝัน จะพูดจาแสนยากลำบากครัน ไม่รู้วันเป็นตายวายชีวา แม้นถามลูกในท้องต้องเป็นหญิง ถ้าถามสิ่งของที่หายอย่าหมายหา สุดแสนยากถ้าจะพบประสพตา แต่ถามคนไข้ว่าจะได้คลาย ถามถึงคู่สู่สมภิรมย์พักตร์ ว่าสมศักดิ์แสนสมอารมณ์หมาย ถามหาลาภได้ยากลำบากกาย แต่นานไปคงสมอารมณ์เอยฯ”
 
     จากตัวอย่างข้างต้น จะเห็นได้ว่า เซียมซีใบหนึ่งๆ นอกจากจะทำนายไว้หลายเรื่องแล้ว ยังมีแบบที่ดีทั้งใบ หรือดี-ไม่ดีอยู่ในแผ่นเดียวกัน ซึ่งถ้าออกมาดี ผู้เสี่ยงทายก็จะรู้สึกยินดีมีกำลังใจเพิ่ม หากออกมาทางร้าย แม้จะทำให้ใจเสีย ก็ให้คิดเสียว่าเป็นการเตือนสติ ให้เราระมัดระวังในการใช้ชีวิตมากขึ้น
 
     อย่างไรก็ดี ไม่ว่าคำทำนายจะดีหรือร้าย "เซียมซี” ก็ถือได้ว่าเป็นที่พึ่งทางใจที่จะช่วยตอบปัญหาชีวิต ได้อีกทางหนึ่ง แต่สิ่งสำคัญที่เราควรระลึกไว้เสมอ ก็คือ คำทำนาย เป็นเรื่องอนาคต ซึ่งเปลี่ยนแปลงได้ หากเราตั้งใจปฏิบัติตนให้ดี หรือทำแต่กรรมดีไว้ กรรมดีนั้นย่อมส่งผลต่ออนาคตให้ดีได้อย่างแน่นอน
 
...........................................
 
น.ส.ทัศชล เทพกำปนาท ที่ปรึกษากรมส่งเสริมวัฒนธรรม
ลิขสิทธิ์ของ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม สำหรับใช้ประโยชน์เพื่อเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมและการศึกษา
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์ | การปฏิเสธความรับผิด (Disclaimer)