กรมส่งเสริมวัฒนธรรม
เว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้
font size small font size normal font size big
หน้าแรก
Search


ข่าวสาร >> บทความ >> รู้ไว้ใช่ว่า
รู้ไว้ใช่ว่า…ตอน "ป่าหิมพานต์ ป่าในตำนาน"

วันที่ 26 ก.พ. 2564
 

      พูดถึง "ป่าหิมพานต์” เชื่อว่าหลายคนคงสงสัย ในเรื่องราวที่น่าค้นหาของป่าในตำนานแห่งนี้ ด้วยในวรรณคดีไทยหลายเรื่อง มีเนื้อหา เรื่องราวความเร้นลับ สัตว์รูปร่างหน้าตาแปลกประหลาดที่ไม่มีให้เห็นในชีวิตจริง แม้แต่ในวัดวา อาราม ยังพบภาพจิตรกรรม หรือรูปปั้นที่เชื่อว่าเป็นสัตว์ในป่าหิมพานต์ เช่นที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) มีรูปปั้นครุฑ นาค กินรี กินนร ที่ท่อนบนเป็นคนท่อนล่างเป็นนกมีปีกบินได้ และยังพบเรื่องราวต่างๆ ที่ได้กล่าวถึงป่าแห่งนี้ในหลากหลายแง่มุม จึงทำให้เกิดคำถามว่า ป่านี้ มีอยู่จริงหรือไม่ ตั้งอยู่ที่ไหนและมีเรื่องราวอะไรที่น่าสนใจ
 

      กินนร และ กินรี
 
     เรื่องราวของป่าหิมพานต์ ปรากฏอยู่ในวรรณคดีไทยมาตั้งแต่ยุคสุโขทัย ที่ชื่อ "ไตรภูมิกถา” หรือ "ไตรภูมิพระร่วง” โดยพญาลิไทย กษัตร์ย์นักปราชญ์ผู้ครองเมืองศรีสัชนาลัย พระราชนิพนธ์จากคติความเชื่อทางพุทธศาสนา ได้อ้างอิงเนื้อหาเรื่องราวจากคัมภีร์ต่างๆ  ของศาสนาพุทธ ไตรภูมิกถา มีเนื้อหาเกี่ยวกับจักรวาลวิทยาในทางพุทธ ที่เชื่อว่าจักรวาลอันเป็นที่เวียนว่ายตายเกิดของสัตว์ทั้งหลาย มีด้วยกัน ๓ ภูมิ คือ กามภูมิ รูปภูมิ และ อรูปภูมิ เพื่อให้คนได้เรียนรู้และรู้จักการทำความดี และผลของกรรมที่ทำให้ไปเกิดในภพภูมิต่างๆ
 

เขาพระสุเมรุ ศูนย์กลางของจักรวาลตามคติในไตรภูมิกถา
 
     ศูนย์กลางของจักรวาลในไตรภูมิกถา ระบุไว้ว่าคือ เขาพระสุเมรุ ซึ่งรายล้อมด้วยทิวเขาทั้ง ๗ และทะเล ๗ ชั้น จักรวาลประกอบด้วยมหาทวีปทั้ง ๔ คือ อุตตรกุรุทวีป ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของภูเขาพระสุเมรุ ปุพพวิเทหะ ตั้งอยู่ทางตะวันออก อปรโคยาน ตั้งอยู่ทางตะวันตก และ ชมพูทวีป ตั้งอยู่ตอนใต้ ในทวีปทั้ง ๔ ยังแบ่งเป็นทวีปย่อยๆ ออกไปอีกมากมาย ซึ่งดินแดนที่เกิดอาศัยของมนุษย์หรือโลกมนุษย์ ก็คือ "ชมพูทวีป” มีพื้นที่ ๑๐,๐๐๐ โยชน์ แบ่งออกเป็น ๓ ส่วน คือ ๑.ที่อยู่ของมนุษย์ มีขนาด ๓,๐๐๐ โยชน์ ๒.ป่าหิมพานต์ มีขนาด ๓,๐๐๐ โยชน์ นอกนั้นคือผืนน้ำ มีขนาด ๔,๐๐๐ โยชน์ (๑ โยชน์ เท่ากับ ๑๖ กิโลเมตร)
 
     ป่าหิมพานต์ หรือ หิมวันต์ ชื่อป่าหนาวในดินแดนแถบเหนือของประเทศอินเดีย ตั้งอยู่บนเทือก หิมาลัย นั่นเอง เป็นดินแดนที่มีหิมะปกคลุม ป่าหิมพานต์ ถือเป็นดินแดนอันศักดิ์สิทธิ์อยู่บนยอดเขาสูงเสียดฟ้า ที่มียอดเขาสลับซับซ้อนถึง ๘๔,๐๐๐ ยอด ในผืนป่านี้ เป็นที่สถิตของ เหล่าเทพ เทวดา และเป็นที่อยู่อาศัยของผู้ทรงคุณวิเศษต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นนักบวช ผู้ทรงศีล ฤาษี นักสิทธิ์ วิทยาธร (นักสิทธิ์ คือ ผู้สำเร็จ วิทยาธร คือ ผู้ทรงไว้ซึ่งวิทยา ทั้งสองแต่งตัวคล้ายเทวดาแต่สวมชฏาเป็นดอกลำโพง หรือโพกผ้าแบบฤๅษี) และยังมีสิ่งมีชีวิต สัตว์ต่างๆ ที่แปลกประหลาดพิสดาร เป็นดินแดนที่เร้นลับ ยากที่มนุษย์ธรรมดาจะเดินทางไปถึงหรือเข้าถึงได้
 

สระอโนดาต (ภาพจาก http://phramerumas.finearts.go.th/)
 
     ในป่าหิมพานต์มีสระน้ำใหญ่ ๗ สระ โดยมีสระอโนดาตเป็นศูนย์กลาง แวดล้อมด้วย ๕ เทือกเขา ภูเขาทั้ง ๕ โน้มเข้าหากันคลุมสระอโนดาตไว้ น้ำในสระอโนดาต จะเต็มตลอดเวลา มีความใสสะอาดบริสุทธิ์ สายน้ำจาก อโนดาต จะไหลแยกออกเป็นธารน้ำไป ๔ ทิศ ยังความอุดมสมบูรณ์ให้แก่สิ่งมีชีวิตทั้งหลาย และธารน้ำทางด้านทิศใต้ ยังไหลลงสู่ดินแดนมนุษย์ กลายเป็นแม่น้ำ ๕ สาย หรือ "ปัญจมหานที” ได้แก่ แม่น้ำคงคา ยมนา มหิ สรภู และอจิรวดี ถือเป็นสายน้ำที่สำคัญ สร้างความอุดมสมบูรณ์หล่อเลี้ยงมนุษย์และในแผ่นดินถิ่นกำเนิดของพระพุทธเจ้าศาสดาของศาสนาพุทธ ถือเป็นแม่น้ำที่ศักดิ์สิทธิ์นำมาใช้ประกอบพิธีกรรมที่สำคัญนำมาซึ่งความสิริมงคลตามความเชื่อ
 

สัตว์สี่ขาตระกูลสิงห์ จากความเชื่อในจินตนาการของศิลปิน
     ในป่าหิมพานต์ มีสิ่งมีชีวิตที่น่าอัศจรรย์แม้แต่ต้นไม้ อาทิ ต้นนารีผล หรือ มักกะลีผล ซึ่งออกผลเป็นหญิงสาวแรกรุ่น มีรูปโฉมงดงาม สะกดสายและอารมณ์ของมนุษย์และอมุนษย์ที่ได้พบเจอ ตามตำนานกล่าวว่า ท้าวสักกะเทวราช หรือพระอินทร์ ได้เนรมิตต้นไม้ที่มีผลเป็นหญิงสาวไว้รอบทิศที่พระเวสสันดรและพระนางมัทรีไปบำเพ็ญเพียรอยู่ในป่าหิมพานต์ เพื่อในเวลาที่บรรดานักบวช นักสิทธิ์ วิทยาธร คนธรรพ์ทั้งหลายเดินทางผ่านทางมาจะได้มัวเมาหลงใหลอยู่กับความงามของนารีผลจนเสื่อมอิทธิฤทธิ์ ทำให้ไม่อาจล่วงล้ำเข้าไปรบกวนถึงบริเวณอาศรมของพระนางมัทรีที่มีรูปโฉมงดงามได้
 
 
 
ครุฑ และ นาค สัตว์ในตำนานป่าหิมพานต์
 
     สิงสาราสัตว์ในป่าแห่งนี้ ล้วนแต่มีความพิเศษ รูปลักษณ์แปลกประหลาดมากมาย เป็นสัตว์ที่ผสมกันหลายเผ่าพันธุ์ สร้างสรรค์ขึ้นตามจินตนาการที่อ้างอิงเรื่องราวจากไตรภูมิรวมถึงคัมภีร์ ชาดกต่างๆ ทางพุทธซึ่งได้รับอิทธิพลจากพราหมณ์-ฮินดู จำแนกได้ ๓ ประเภทใหญ่ คือ สัตว์มีสองขา สัตว์มีสี่ขา และสัตว์จำพวกปลา สัตว์แต่ละประเภทยังมีอิทธิฤทธิ์ อำนาจวิเศษเฉพาะตัว ส่วนใหญ่ส่งผลในทางมงคลแก่ผู้ที่ได้พบ อันได้แก่ สัตว์สองขาจำพวกนก เช่น อสูรปักษา , อสุรวายุพักตร์ , นกการเวก , ครุฑ , กินรี – กินนร, เทพปักษี , นกทัณฑิมา–หงส์ สัตว์สี่ขา ตระกูลสิงห์ เช่น บัณฑุราชสีห์, กาฬสีหะ, ไกรสรราชสีห์, ติณสีหะ – เกสรสิงหะ, เหมราช, คชสีห์, เทพนรสีห์ หรือนรสิงห์ ตระกูลม้า เช่น ดุรงค์ไกรสร, ดุรงค์ปักษิณ ,เหมราอัสดร ,ม้าปีก , สินธพกุญชร , อัสดรเหรา, อัสดรวิหก ตระกูลช้าง เช่น เอราวัณ, กรินทร์ปักษา, วารีกุญชร, ช้างเผือก ตระกูลปลา เช่น เหมวาริน, กุญชรวารี, มัจฉนาคา, มัจฉวาฬ, เงือก, ปลาควาย เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีสัตว์อีกหลายชนิดที่มีรูปร่างวิจิตรพิสดารต่างจากที่พบบนโลกมนุษย์
 

ตำนานความเชื่อเรื่องป่าหิมพานต์ มีอิทธิพลต่อสังคมชาวพุทธในประเทศไทยต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน มักพบเห็นในรูปงานศิลปะต่างๆ ประดับตกแต่งตามศาสนสถาน ในรูปแบบ จิตรกรรม ประติมากรรม รวมถึงงานเขียนบทประพันธ์ต่างๆ ละคร-ภาพยนตร์ ป่าหิมพานต์ จะมีอยู่จริงหรือไม่จึงไม่ใช่ประเด็นเพราะมนุษย์ที่จะเข้าถึงดินแดนนี้ได้ต้องเป็นผู้ทรงศีลที่มีอภิญญาหาใช่มนุษย์ธรรมดา ตามหลักพุทธศาสนาให้เชื่อในเหตุและผลที่สามารถพิสูจน์หรือสัมผัสได้จริง บุญทำกรรมแต่ง ทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่ว ปัจจุบันชาติมุ่งมั่นทำกรรมดีย่อมส่งผลให้ไปสู่ภพภูมิที่เจริญอย่างแน่นอน
 

ลิขสิทธิ์ของ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม สำหรับใช้ประโยชน์เพื่อเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมและการศึกษา
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์ | การปฏิเสธความรับผิด (Disclaimer)