
คติความเชื่อเกี่ยวกับไตรภูมิสอดแทรกอยู่ในศิลปกรรมไทยหลายสาขา ทั้งสถาปัตยกรรม ประติมากรรม จิตรกรรม ดนตรี-นาฏศิลป์ และวรรณคดี แต่เนื่องจากเรื่องราวและสถานที่ต่างๆ ตามคติไตรภูมิประกอบด้วยรายละเอียดจำนวนมาก ในสมุดไทย (บันทึกภูมิปัญญาและวัฒนธรรมสยาม) ได้อธิบายเฉพาะเรื่องราวที่พบเห็นเป็นส่วนมากในสมุดภาพจิตกรรมไทย อาทิ สถานที่สำคัญ เช่น เขาพระสุเมรุ ป่าหิมพานต์ สระน้ำทั้ง ๗ ทวีปทั้ง ๔ ดังนี้
เชื่อว่าศูนย์กลางของจักรวาล คือ เขาพระสุเมรุ หรือ พระสิเนรุราช เป็นประธานของจักรวาล อันเป็นที่ตั้งสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ มีนครของพระอินทร์คือ สุทัสสนเทพนคร เป็นศูนย์กลาง รอบเขาพระสุเมรุมีเขาสัตตบริภัณฑ์ล้อมรอบ ๗ ชั้น ตามลำดับ ได้แก่ ยุคนธร อิสินธร กรวิก สุทัสสนะ นมินธร วินตะกะ และอัสสกัรณ์ โดยระหว่างภูเขาแต่ละชั้นจะคั่นด้วยห้วงน้ำอันกว้างใหญ่ เรียกว่า ทะเลสีทันดร หรือมหนทีสีทันดรสมุทร เป็นที่อยู่ของสัตว์น้ำดุร้ายนานาชนิด
ระหว่างเขายุคนธร จะมีพระจันทร์ พระอาทิตย์ เป็นเทพเทวดาในสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา โคจรอยู่ ซึ่งแสงสว่างที่อยู่เหนือขึ้นไปเกิดจากอำนาจของเทพในสวรรค์แต่ละชั้น ซึ่งยอดเขายุคนธรนี้เป็นที่ตั้งของสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา มีท้าวจตุโลกบาล ปกครองทิศทั้ง ๔ คือ ทิศเหนือ ท้าวเวสสุวัณ เป็นใหญ่เหนือยักษ์ ภูติและปีศาจทั้งปวง ทิศตะวันออก ท้าวธตรฐ เป็นใหญ่เหนือคนธรรพ์ ทิศตะวันตก ท้าววิรปักข์ เป็นใหญ่เหนือเหล่านาคทั้งปวง และทิศใต้ ท้าววิรุฬหก เป็นใหญ่เหนือเหล่ากุมภัณฑ์ เทพยดาในชั้นจาตุมหาราชิกาทั้งภุมเทวดาและรุกขเทวดาแต่ละทิศก็อยู่ในการปกครองของท้าวจตุโลกบาลด้วย
ป่าหิมพานต์ หรือ หิมวันต์ ตามศัพท์แปลว่า มีหิมะ ตั้งอยู่บริเวณเขาหิมพานต์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเขายุคนธร อันประด้วยยอดเขาสำคัญ เช่น กาฬกูฏ จิตรกูฏ คันธมาทนกูฏ และเกลาสกูฏ บริเวณเขาคันธมาทนกูฏหรือคันธมาทน์มีไม้หอม ๑๐ จำพวก เป็นที่อยู่ของพระปัจเจกพุทธเจ้าซึ่งตรัสรู้ธรรมเฉพาะพระองค์(มิได้สอนผู้อื่น) ป่าหิมพานต์นี้เป็นที่อยู่ของสัตว์หิมพานต์ต่างๆ เช่น กินนร กินรี ช้าง ๑๐ ตระกูล โคอุสุภราช ม้าวลาหก และราชสีห์ ๔ เหล่า คือ กาฬสีห์ บัณฑุสีห์ ไกรสรสีห์ และติณสีห์ ในป่าหิมพานต์ยังมีสระน้ำใหญ่ ๗ สระ โดยมีสระน้ำที่คนไทยรู้จักมากที่สุด คือ สระอโนดาต ซึ่งมีน้ำเต็มตลอดเวลา มีการนำไปเขียนทั้งภาพจิตกรรมในสมุดไทยและลายรดน้ำ