กรมส่งเสริมวัฒนธรรม
เว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้
font size small font size normal font size big
หน้าแรก
Search


ข่าวสาร >> บทความ >> เล่าสู่กันฟัง
เล่าสู่กันฟัง...เรื่อง “พิเภก ยักษาผู้อาภัพ”

วันที่ 15 ก.พ. 2564
 
    

     หากจะถามถึงกุนซือคนสำคัญที่ทำให้การรบในเรื่อง "รามเกียรติ์” ต้องพลิกผันหลายครั้ง จนทำให้ พระรามเป็นฝ่ายมีชัยชนะในที่สุด คงเป็นใครไปไม่ได้ นอกจาก "พิเภก” น้องชายทศกัณฐ์ ผู้ซึ่งชะตาฟ้าลิขิตมาแล้วว่าให้ทำหน้าที่เป็น "สปาย” ผู้รู้ความลับของฝ่ายกรุงลงกา อันนำมาสู่การแก้ไขวิกฤตแต่ละครั้งให้ทัพพระรามได้สำเร็จ และทำให้ทศกัณฐ์ต้องจบชีวิตในสงครามที่สู้รบกันมายาวนานกว่า ๑๔ ปี
 
     จะว่าไปแล้ว "พิเภก” เป็นยักษ์ที่น่าเห็นใจ เพราะมักถูกมองว่าเป็นคนทรยศต่อพี่น้องของตน ไปอยู่ข้างศัตรู แต่โดยแท้จริงแล้ว ใครจะรู้ว่าการต้องเลือกระหว่างความรักฉันท์พี่น้องกับความถูกต้อง ผู้เลือกจะรู้สึกลำบากใจเพียงใด และหากมองอย่างเป็นธรรม อาจจะกล่าวได้ว่าพิเภกเป็นยักษ์ที่ซื่อตรง เคารพต่อวิชาชีพ และรักพี่ด้วยใจจริง เพราะเมื่อทศกัณฐ์ให้ทำนายฝัน ก็รู้ว่าฝันนั้นเป็นลางร้ายที่จะนำไปสู่สงครามล้างเผ่าพันธุ์ยักษ์ จึงแนะให้พี่ชายคืนนางสีดาแก่พระราม แต่ทศกัณฐ์กลับไม่ยอม และโกรธจนถึงกับขับไล่พิเภกออกจากเมืองไป ตรงนี้หลายคนคงคิดว่า พิเภกมีความรู้ด้านโหราศาสตร์เป็นอย่างดี ไฉนจึงไม่รู้อนาคตตนเองล่วงหน้า ปล่อยให้ชีวิตตกต่ำถึงเพียงนั้น ซึ่งจริงๆแล้วพิเภกอาจจะทราบก็ได้ แต่ยังทำนายตามความเป็นจริง และอาจคิดว่า ด้วยความหวังดีต่อพี่ชายไม่ให้ต้องผิดศีลธรรม หากทศกัณฐ์ยอมทำตาม ย่อมหลีกเลี่ยงความเลวร้ายที่จะเกิดขึ้นได้ แต่สุดท้ายก็ดูเหมือนว่า ต่างก็หนีชะตากรรมของตนไม่พ้น พิเภกจึงต้องไปอยู่กับพระราม และทศกัณฐ์ก็ต้องตายในที่สุด
 
     อย่างไรก็ดี เมื่อมองย้อนไปถึง "กำเนิดพิเภก” จะทราบได้ทันทีว่า"พิเภก”เป็นผู้ถูกวางตัวให้เป็น "ไส้ศึก” ไปรับรู้ความลับของศัตรูตั้งแต่เกิด เพราะในขณะที่เทวดาอื่นๆ ต่างจุติมาโดยมีเป้าหมายชัดเจนว่าจะอยู่ฝ่ายเดียว กับพระนารายณ์ที่จะอวตารมาเป็นพระราม แต่ "เวสสุญาณเทพบุตร” กลับถูกพระอิศวรบัญชาให้ไปเกิดเป็นลูกของท้าวลัสเตียน เจ้ากรุงลงกากับนางรัชฎามเหสี นามว่า"พิเภก”โดยมีพี่น้องท้องเดียวกันตามลำดับ คือ ทศกัณฐ์ กุมภกรรณ พิเภก พระยาขร ทูษณ์ ตรีเศียร และนางสำมนักขา ทั้งนี้ ได้กำหนดให้เรียนวิชาโหราศาสตร์เพื่อคอยท่าพระนารายณ์ และประทานแว่นวิเศษติดไว้ที่ดวงตาขวา ทำให้มองเห็นได้ทั้งสามโลก ทั้งอดีตและอนาคต พิเภกแม้จะเป็นยักษ์ที่มีสติปัญญาหลักแหลม แต่ก็มีฤทธิ์น้อยกว่าพี่น้องคนอื่นๆ โดยเฉพาะทศกัณฐ์ที่เก่งกล้าสามารถมากกว่าใคร (คงเพราะนารายณ์ให้พรก่อนนนทกจะมาเกิดเป็นทศกัณฐ์)
 
     ตลอดเรื่องใน "รามเกียรติ์” เราจะเห็นว่าพิเภกเป็นผู้มีบทบาทอย่างมากในการช่วยวางแผน แก้กลศึก ทำนายเหตุการณ์ต่างๆ รวมถึงช่วยชีวิตพระลักษณ์ไว้หลายครั้ง เพราะแม้พระรามจะมี "หนุมาน” เป็นทหารเอกผู้เก่งกล้าสามารถเพียงใดก็ตาม แต่ก็ยังพลาดท่าเสียทีแก่ทัพยักษ์ไปหลายต่อหลายครั้ง หากไม่มี "พิเภก” เป็นกุนซือใหญ่มาช่วยแก้เกมแล้ว คงยากที่จะชนะศึกได้ ศึกต่างๆ เหล่านี้ เช่น
 
     -ศึกอินทรชิต ศึกครั้งนี้ ทศกัณฐ์ได้ใช้ "รณพักตร์” หรือ "อินทรชิต” ซึ่งเป็นลูกของตนกับนางมณโฑออกไปต่อสู้ (ที่ได้ชื่อว่า"อินทรชิต” เพราะเคยสู้ชนะพระอินทร์ ทศกัณฐ์จึงตั้งชื่อนี้ให้) ได้ยิงศรนาคบาศออกไปกลายเป็นพญานาคมากมายออกมารัดตัวพระลักษณ์และเหล่าวานร รวมถึงพ่นพิษใส่จนหมดสติไปทั้งกองทัพ ก็ได้พิเภกบอกวิธีแก้ด้วยการให้พระรามแผลงศรที่เรียกว่า พญาสุบรรณ จ้าวแห่งครุฑเพื่อไปจับเหล่านาคกินและดูดพิษนาคในตัวพระลักษณ์และทหารลิงทั้งหลาย จึงฟื้นคืนสติขึ้นมาได้ และต่อมาอินทรชิตได้แปลงกายเป็นพระอินทร์เสด็จมาพร้อมขบวนอย่างสง่างาม ทำให้พระลักษณ์เผลอมองเพลิน จึงถูกศรพรหมาสตร์ยิงใส่จนล้มหมดสติไป พระรามคิดว่าพระอนุชาสิ้นชีพไปแล้ว ก็ร้องไห้เสียใจสลบไปอีกองค์ แต่พิเภกก็ได้ตามมาพบและบอกวิธีแก้ไขให้
 
     -ศึกวิรุณจำบัง วิรุณจำบังเป็นโอรสของพญาทูษณ์ (ซึ่งเป็นน้องชายทศกัณฐ์) มีม้าคู่ใจชื่อ "นิลพาหุ” ขี่แล้วหายตัวได้ทั้งคนทั้งม้า ได้อาสายกทัพไปสู้กับฝ่ายพระราม แรกๆพลยักษ์ถูกพลวานรฆ่าตายหมด วิรุณจำบังในฐานะแม่ทัพจึงได้ใช้เวทย์หายตัวไปสังหารฝ่ายวานรจนล้มตายไปเป็นจำนวนมาก พระรามสังเกตเห็นความผิดปกตินี้ จึงได้สอบถามพิเภกดู และได้ทราบว่า ขณะนั้นวิรุณจำบังได้ใช้เวทย์หายตัวเข้ามาในกองทัพ และใช้ความได้เปรียบนี้เข่นฆ่าพลวานรทั้งหลาย วิธีแก้คือ ให้พระรามแผลงศรไปฆ่าม้านิลพาหุเสีย ทำให้วิรุณจำบัง เสียทีจนต้องหลบหนีไป ต่อมาก็ถูกหนุมานฆ่าตายในที่สุด
 
     -ศึกท้าวอัศกรรณมาราสูร ท้าวอัศกรรณมาราสูรเป็นเพื่อนของทศกัณฐ์ และได้ขอทศคีรีวัน ทศคีรีธร โอรสฝาแฝดของทศกัณฐ์ที่เกิดจากนางช้างไปเป็นโอรสบุญธรรม ต่อมาลูกบุญธรรมทั้งสองถูกฆ่าตาย จึงได้ยกทัพไปช่วยแก้แค้น ถูกพระรามแผลงศรตัดตัวขาด แต่แทนที่จะตายกลับมีร่างกายทวีคูณขึ้นเรื่อยๆ พิเภกจึงได้บอกความลับให้ทราบว่า ท้าวอัศกรรณมาราสูรได้รับพรจากพระอิศวร ถึงจะถูกตัดร่างกายเป็นกี่ท่อนก็จะทวีคูณขึ้นมาเรื่อยๆ ไม่มีวันตาย วิธีแก้คือ ต้องนำร่างทั้งหมดไปทิ้งน้ำ พระรามจึงได้แผลงศรตัดหัวขาด และนำร่างไปทิ้งน้ำ จึงสังหารท้าวอัศกรรณมาราสูรได้
 
     จากตัวอย่างศึกข้างต้น หากไม่มีพิเภกช่วยบอกหนทางแก้ไขแล้ว ทัพพระรามคงแพ้ไปตั้งแต่ศึกแรกๆแล้ว ซึ่งท้ายสุดก่อนทศกัณฐ์จะถูกพระรามฆ่าตาย ก็ได้เห็นภาพว่าแท้จริงพระรามคือ พระนารายณ์อวตารลงมา จึงได้เรียกพิเภกมาสั่งเสียที่เรียกกันว่าตอน "ทศกัณฐ์สอนน้อง” โดยได้สั่งความต่างๆนานา ทั้งฝากลูกเมียญาติบริวารที่เหลือ รวมถึงสอนให้อย่าเอาอย่างตน หลังทศกัณฐ์ตาย พิเภกได้รับการสถาปนาเป็น "ท้าวคีรีวงศ์” ครองกรุงลงกาแทน ต่อมานางมณโฑเมียทศกัณฐ์ที่ยกให้พิเภกคลอดโอรสออกมา มีนามว่า "ไพนาสุริยวงศ์” ซึ่งจริงๆแล้วเป็นลูกทศกัณฐ์ติดท้องมา แต่พิเภกคิดว่าเป็นลูกตนก็รักและได้เลี้ยงดูจนเติบใหญ่ ครั้นไพนาสุริยวงศ์ได้รับรู้ว่าตนมิใช่ลูกที่แท้จริงของพิเภกจึงได้ร่วมกับท้าวจักรวรรดิ สหายเดิมทศกัณฐ์ก่อการกบฏ จับพิเภกขังคุก จนพระรามต้องส่งพระพรตพระสัตรุดมาช่วย จึงสงบศึกได้ในที่สุด
 
     อาจกล่าวได้ว่าพิเภกช่างเป็นยักษ์ที่อาภัพนัก เพราะนอกจากจะมีฤทธิ์เดชน้อยกว่าพี่น้องคนอื่นแล้ว วิชาโหราศาสตร์ที่เก่งกาจก็กลับทำให้ตนเองถูกพี่ชายขับไล่ ครั้นไปช่วยพระรามทำศึก ที่แม้นดูเหมือนถูกต้องชอบธรรม แต่ก็ถูกพี่น้องประณาม ทำดียากจะเห็นว่าดี เรียกได้ว่า "โดนทั้งขึ้นทั้งล่อง”

 

 
.......................................................
 
น.ส.ทัศชล เทพกำปนาท ที่ปรึกษากรมส่งเสริมวัฒนธรรม
ลิขสิทธิ์ของ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม สำหรับใช้ประโยชน์เพื่อเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมและการศึกษา
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์ | การปฏิเสธความรับผิด (Disclaimer)