กรมส่งเสริมวัฒนธรรม
เว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้
font size small font size normal font size big
หน้าแรก
Search


ข่าวสาร >> บทความ >> รู้ไว้ใช่ว่า
รู้ไว้ใช่ว่า ‘ภาพไตรภูมิ’ ในสมุดไทย ตอน ๑

วันที่ 12 ก.พ. 2564
 

     ไตรภูมิ คือ ความเชื่อทางพระพุทธศาสนาที่เกี่ยวกับจักรวาลวิทยา ซึ่งประกอบด้วย ๓ ภูมิ ที่สัตว์โลกทั้งหลายอันได้แก่ เหล่าเทวดา มนุษย์ และอมนุษย์ จะต้องเวียนว่าย เกิด แก่ เจ็บ ตาย ตามหลักไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา จนกว่าสัตว์ตนนั้นจะบรรลุนิพพานจึงจะหลุดพ้นไม่ต้องมาเกิดอีก

 
     เนื้อหาในสมุดภาพไตรภูมิ จะเริ่มต้นด้วยภูมิแห่งโลกุตตรธรรมของพระอริยบุคคล ซึ่งเป็นธรรมที่เหนือโลกคือ นิพพาน จากนั้นจะกล่าวถึงเนื้อหา ไตรภูมิ อันเป็นภพภูมิของสัตว์ทั้งหลายที่ยังไม่บรรลุนิพพาน จากระดับสูงสุดลงมาต่ำสุด คือ อรูปภูมิ รูปภูมิ และกามภูมิ โดยเหตุที่จะทำให้ไปเกิดและใช้ชีวิตอยู่ในภูมิใดนั้นขึ้นอยู่กับผลกรรมที่ได้กระทำหรือสะสมมาของแต่ละคน
 
     คัมภีร์ไตรภูมิที่เรียบเรียงเป็นภาษาไทยเล่มแรก คือ เตภูมิกถา หรือ ไตรภูมิพระร่วง โดยสมเด็จพระมหาธรรมราชาลิไท กษัตริย์นักปราญ์แห่งราชวงศ์พระร่วง ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นตั้งแต่สมัยอาณาจักรสุโขทัยเป็นราชธานีของราชอาณาจักรสยาม ถือเป็นองค์ความรู้ด้านจักรวาลวิทยาของพุทธศาสนิกชนไทยสืบต่อมาถึงสมัยกรุงศรีอยุธยา และยังพบว่าสมัยกรุงศรีอยุธยามีการจัดทำคัมภีร์ไตรภูมิขึ้นอีกฉบับด้วย สันนิษฐานว่าเขียนขึ้นในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (พ.ศ.๒๑๙๙-๒๒๓๑) ปัจจุบันพบเก็บไว้ที่หอสมุดแห่งชาติกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งเนื้อหาไตรภูมิสมัยอยุธยานี้ มีรายละเอียดที่แตกต่างจากไตรภูมิพระร่วงสมัยสุโขทัยหลายประเด็น เช่น กำเนิดโลก มีการแฝงความเชื่อทางคติพราหมณ์ไว้ด้วย
 
     ครั้นถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงโปรดเกล้าฯ ให้พระยาธรรมปรีชา (แก้ว) เป็นแม่กองตรวจสอบชำระคัมภีร์ไตรภูมิ สำเร็จเป็นไตรภูมิที่มีเนื้อหาละเอียดและพิสดารที่สุด คือ ไตรโลกยวินิจฉยกถา หรือเรียกว่า ไตรภูมิโลกวินิจฉัย ซึ่งเนื้อหาในฉบับนี้มีความใกล้เคียงกับไตรภูมิพระร่วงของสมเด็จพระมหาธรรมราชาลิไท ด้วยประกอบการอ้างอิงที่มาจากคัมภีร์ต่างๆ ไว้อย่างละเอียด
 
     >>> คลิกชมเนื้อหา สมุดภาพไตรภูมิ...http://www.culture.go.th/ewtadmin/ewt/culture_th/images/akasit/120264.pdf
ลิขสิทธิ์ของ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม สำหรับใช้ประโยชน์เพื่อเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมและการศึกษา
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์ | การปฏิเสธความรับผิด (Disclaimer)