กรมส่งเสริมวัฒนธรรม
เว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้
font size small font size normal font size big
หน้าแรก
Search


ข่าวสาร >> บทความ >> เล่าสู่กันฟัง
เล่าสู่กันฟัง...เรื่อง “เสาหลักเมือง เสาเอกของแผ่นดิน”

วันที่ 8 ก.พ. 2564
 

     "หลักเมือง” ความหมายตามพจนานุกรมฯ คือ เสาที่ยกตั้งขึ้นเพื่อแสดงว่าจะสร้างเมืองที่ตรงนั้นอย่างแน่นอน ถ้าเป็นศัพท์ภาษาบาลีสันสกฤตก็เรียก "อินทขีล” ซึ่งก็คือ เสาหลักเมือง นั่นเอง หลายๆคนที่ผ่านไปยังสนามหลวงคงจะคุ้นกับ "ศาลหลักเมือง”ที่อยู่ใกล้ๆกระทรวงกลาโหม เหตุใดเราจึงต้องมี "เสาหลักเมือง” บางคนอาจจะยังไม่เคยทราบ จึงขอนำมาเล่าสู่กันฟัง ดังนี้
 
     ในสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ฉบับภาคกลาง ได้กล่าวว่า ตามประเพณีโบราณที่ยึดถือและปฏิบัติกันสืบๆ มา เมื่อจะมีการสร้างบ้านแปงเมืองจำเป็นจะต้องทำพิธียก "เสาเอกของเมือง” หรือ "เสาหลักเมือง” เพื่อเป็นสิริมงคลแก่บ้านเมือง โดยสถานที่ตั้งต้องกอปรไปด้วยชัยภูมิอันเป็น "มงคลสถาน” เพราะสถานที่ที่จะสร้างบ้านสร้างเมืองนั้นจะกลายเป็นที่อยู่อาศัยของประชาชนต่อไป ดังนั้น หลักเมืองที่ยกขึ้นย่อมจะเป็นมิ่งขวัญและกำลังใจของประชาชน ทำให้เกิดความเชื่อมั่นว่าจะอยู่เย็นเป็นสุข และมีความเจริญรุ่งเรืองสถาพร
 
     พิธียกเสาหลักเมืองคาดว่าคงจะทำกันมาแต่สมัยสุโขทัย กรุงศรีอยุธยา มาถึงกรุงรัตนโกสินทร์ แต่เฉพาะกรุงสุโขทัยยังค้นไม่พบหลักฐาน พบเพียงแต่โบราณสถานขนาดเล็กที่ปรากฎอยู่ริมคูวัดมหาธาตุกลางเมืองสุโขทัย ซึ่งเมื่อรัชกาลที่ ๖ เสด็จเมืองสุโขทัยก็ทรงพบเสาศิลาหลักหนึ่งที่เรียกกันว่า "ขอมดำดิน” ก็ทรงคาดว่าน่าจะเป็น "หลักเมือง”ที่สร้างกันกลางเมืองนั่นเอง ครั้นสืบมาถึงกรุงศรีอยุธยา พระเจ้าอู่ทองทรงสถาปนาพระนครศรีอยุธยา ก็โปรดฯให้ประกอบพระราชพิธี "กลบบาต” เมื่อปีขาล พ.ศ.๑๘๙๓ ซึ่งพิธีดังกล่าวน่าจะหมายถึง "พิธีกลบบัตรสุมเพลิง” อันเป็นชื่อพิธีหนึ่งของพราหมณ์ที่ทำขึ้นเพื่อแก้เสนียด โดยว่าพระราชพิธีที่โปรดฯให้ทำขึ้นครั้งนั้น น่าจะหมายถึงพิธียก "หลักเมือง” ก็อาจเป็นได้
 
     มีประเพณีหลักเมืองที่เล่าเป็นนิยายปรัมปรามาแต่โบราณว่า การสร้างบ้านสร้างเมืองหรือปราสาทราชมณเฑียรจะต้องทำพิธีฝังอาถรรพ์ประตูเมืองทั้ง ๔ รวมถึงเสาหลักเมือง หรือเสาปราสาทราชวัง โดยจะต้องนำคนที่มีชีวิตฝังลงในหลุมเพื่อให้ดวงวิญญาณของผู้นั้นทำหน้าที่เฝ้าประตูเมือง เฝ้าหลักเมือง หรือเฝ้าเสาปราสาท เพื่อจะได้ป้องกันอริราชศัตรู และโรคภัยไข้เจ็บมิให้เกิดแก่ผู้ครองบ้านครองเมือง ตลอดจนราษฎรและสมณชีพราหมณ์ ส่วนที่คนจะต้องเอาไปฝังนั้น จำเป็นต้องเฉพาะคนที่ชื่อ อิน จัน มั่น คง ถือเป็นเคล็ดที่จะทำให้เกิดความศักดิ์สิทธิ์ โดยเล่าว่านายนครวัฒกี (ช่างไม้) จะเที่ยวเดินร้องเรียกชื่อ อิน จัน มั่น คง ไปตามสถานที่ต่างๆ ใครเคราะห์ร้ายเกิดขานรับขึ้นมา ก็จะถูกจับเอาตัวไปฝังในหลุม กลายเป็นผีเฝ้าประตูเมือง เฝ้าหลักเมืองหรือเฝ้าเสาปราสาทไป แต่ที่กล่าวมานี้ เป็นเพียงเรื่องเล่าขานมานาน ยังไม่มีหลักฐานยืนยันว่ามีการกระทำดังกล่าวจริง รวมทั้งในพงศาวดารไทย ไม่ว่าจะสมัยกรุงสุโขทัย กรุงศรีอยุธยา กรุงรัตนโกสินทร์ หรือเมืองอื่นๆก็ไม่ปรากฏ
 
     สำหรับ "หลักเมืองกรุงเทพมหานคร” หรือ "ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง” ก็คือ สถานที่ฝังหลักเมืองอันมีดวงพระชันษาพระนครบรรจุไว้ภายใน สร้างในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เมื่อแรกสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งสมัยนั้นศาลหลักเมืองจะเป็นอย่างไรไม่มีใครทราบ แต่เข้าใจว่าเดิมคงเป็นเพียงศาลาการ ปลูกกันแดดกันฝนแบบธรรมดา เพราะสร้างโดยรีบด่วน เนื่องจากบ้านเมืองยังไม่สงบเรียบร้อย และมีเพียงหลักเมืองอย่างเดียว ยังไม่มีเทวดาต่างๆเข้ามาอยู่ด้วยเหมือนสมัยนี้ การฝังหลักเมืองขณะนั้นได้มีการทำตามตำรา "พระราชพิธีนครฐาน” อันเป็นตำราที่กล่าวถึงการฝังหลักเมืองโดยเฉพาะ ในตำรากล่าวว่าให้เอาไม้ไชยพฤกษ์มาทำเสาหลักเมือง เอาไม้แก่นจันทน์ประดับนอก กำหนดให้ความสูงของเสาเมื่ออยู่พ้นดินแล้ว ๑๐๘ นิ้ว ฝังลงไปใต้ดิน ๗๙ นิ้ว มีเม็ดยอดรูปบัวตูมสวมลงบนยอดหลัก ลงรักปิดทอง ล้วงภายในไว้เป็นช่อง สำหรับเป็นที่บรรจุดวงพระชันษาของพระนคร ซึ่งการฝังเสาหลักเมืองครั้งนั้น ได้ทำพิธีเมื่อวันอาทิตย์ ขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือน ๖ ปีขาล ตรงกับวันที่ ๒๑ เมษายน พ.ศ. ๒๓๒๕ เวลา ๐๖.๕๔ นาฬิกา
 
     เล่ากันว่า เมื่อเริ่มพระราชพิธีอัญเชิญเสาหลักเมืองลงสู่หลุมโดยวางไว้บนแผ่นศิลายันต์ ทันใดนั้นก็ปรากฏมีงูตัวเล็กๆ ๔ ตัวเลื้อยลงไปอยู่ในหลุมด้วย ซึ่งก่อนหน้านั้นไม่มีใครเห็นงูดังกล่าว แต่ทันทีที่ทุกคนเห็นก็เป็นเวลาเดียวกับที่เสาเคลื่อนลงหลุมไปแล้ว จะแก้ไขอย่างไรก็ไม่ทัน จำต้องปล่อยเลยตามเลย ปล่อยเสาลงหลุมและกลบดินฝังเสาไปพร้อมกับงู เหตุการณ์ดังกล่าวได้ยังพระปริวิตกแก่รัชกาลที่ ๑ เป็นอย่างมาก ได้ทรงเรียกเหล่าเสวกามาตย์ราชบัณฑิต ปุโรหิตโหราจารย์ พระราชาคณะ และผู้รู้ทั้งมวลมาปรึกษาหารือกันว่า เหตุที่บังเกิดนั้นเป็นมงคลนิมิตหรืออวมงคลนิมิต ที่สุดต่างก็เห็นพ้องต้องกันว่า เป็น อวมงคลนิมิต และถวายความเห็นให้ทรงประกอบพระราชพิธีสะเดาะเคราะห์เสีย ซึ่งพระองค์ก็ทรงเห็นชอบด้วย มีบางแห่งเล่าว่า เหตุการณ์นี้ทำให้ชะตาบ้านเมืองต้องอยู่ในเกณฑ์ร้ายถึง ๗ ปี ๗ เดือน นับแต่วันยกเสา จึงจะพ้นเคราะห์ ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวก็ตรงกับที่ไทยต้องรบทัพจับศึกกับพม่าจนสิ้นสุดเมื่อสงครามเก้าทัพพอดี
 
     นอกจากนี้ยังมีเรื่องเล่าอีกว่า เมื่อครั้นรัชกาลที่ ๑ โปรดฯให้โหรผูกชะตาเมืองกรุงเทพฯที่จะสร้างขึ้นใหม่นี้ โหรหลวงได้ทูลเกล้าฯถวายดวงเมือง ๒ แบบ คือ แบบที่ ๑ บ้านเมืองจะเจริญรุ่งเรือง ไม่มีเหตุวุ่นวาย แต่ต้องมีระยะหนึ่งที่ต้องตกเป็นเมืองขึ้นของต่างชาติ ส่วนแบบที่ ๒ บ้านเมืองจะมีแต่เรื่องวุ่นวายไม่มีที่สิ้นสุด แต่ทว่าจะสามารถรักษาเอกราชได้ตลอดไป ปรากฏว่าพระองค์ทรงเลือกแบบที่ ๒ ด้วยทรงเห็นว่า การต้องตกเป็นเมืองขึ้นของชาติอื่นนั้น ต่อให้บ้านเมืองเจริญรุ่งเรืองแค่ไหน แต่ถ้าต้องสูญสิ้นความเป็นไทย ก็ไม่มีความหมายอันใด ซึ่งก็เป็นเรื่องแปลกที่ต่อมาในรัชกาลที่ ๔-๕ ที่บ้านเมืองโดยรอบไทยต่างกลายเป็นอาณานิคมของประเทศอังกฤษและฝรั่งเศส มีแต่ไทยที่รอดมาได้ แม้จะมีเรื่องวุ่นวายอยู่ตลอดเวลา จึงคล้ายเป็นเช่นคำทำนาย เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องเล่าต่อๆกันมา จึงนำมาเล่าต่อให้ฟัง
 
     เนื่องจากหลักเมืองไม่ได้ซ่อมแซมมานานหลายรัชกาล จึงทรุดโทรมมาก ครั้นมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ จึงทรงโปรดเกล้าฯให้สร้างหลักเมืองขึ้นใหม่ พร้อมบรรจุดวงพระชาตาใหม่ เมื่อวันอาทิตย์ แรม ๙ ค่ำ เดือน ๑ ปีชวด ตรงกับวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๓๙๕ เวลา ๐๔.๔๘ ทั้งนี้ กล่าวกันว่า คงเป็นเพราะทรงชำนาญในวิชาโหราศาสตร์ จึงทรงคิดแก้ไขดวงเมืองใหม่ และได้บรรจุดวงชะตาพระนครลงในแผ่นทองคำหนัก ๑ บาท โดยได้ประกอบพิธีจารึกในพระอุโบสถวัดพระแก้ว พร้อมทั้งมีการสมโภชฉลองเป็นพิธีใหญ่โตสมกับเป็นของสำคัญของบ้านเมืองทั้งพิธีพุทธและพราหมณ์ อีกทั้งได้โปรดฯให้ก่อศาลาขึ้นใหม่ สร้างให้เป็นยอดปรางค์ ตามแบบอย่างศาลาที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ดังนั้น หลักเมืองที่เราเห็น จึงมีอยู่ ๒ ต้น คือ ต้นเดิมที่สร้างในรัชกาลที่ ๑ และอีกต้นที่มีส่วนสูงทอนลงมาเป็นต้นที่สร้างใหม่ในสมัยรัชกาลที่ ๔ ซึ่งจะมีแกนในเป็นไม้สัก มีไม้ชัยพฤกษ์ประกอบนอก หัวเสาเป็นรูปยอดเม็ดทรงมัณฑ์ปิดทอง (รูปทรงกลมหรือเหลี่ยมซ้อนกันเป็นชั้นๆเรียวขึ้นไป)
 
     "ศาลหลักเมือง” อยู่ในความดูแลขององค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกในพระบรมราชูปถัมภ์มาตั้งแต่ปีพ.ศ.๒๔๘๑ และได้มีการปฏิสังขรณ์ซ่อมแซมมาโดยลำดับ จนที่สุดได้มีการเปลี่ยนแปลงลักษณะรูปศาลเป็นทรงจตุมุข และมีการขยายบริเวณศาลให้กว้างขวางออกไป เมื่อปฏิสังขรณ์สำเร็จสมบูรณ์แล้ว พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร หรือรัชกาลที่ ๙ ได้เสด็จฯมาประกอบพิธีสังเวยสมโภช เมื่อวันจันทร์ที่ ๖ เมษายน พ.ศ.๒๕๑๓
 
     สมัยก่อนศาลหลักเมืองจะมีแต่หลักเมืองเท่านั้น ส่วนเทพารักษ์อีก ๕ องค์ คือ พระเสื้อเมือง พระทรงเมือง พระกาฬ เจ้าพ่อหอกลอง และเจ้าพ่อเจตคุปต์ ซึ่งเป็นเทพารักษ์ประจำพระนคร ที่รัชกาลที่ ๑ ได้โปรดฯให้สร้างเพื่อดูแลรักษาเมืองและประเทศชาตินั้น แต่เดิมท่านก็มีศาลของท่านแยกอยู่ต่างหาก คนละที่ ต่อมาเมื่อมีการสร้างสถานที่ราชการและตัดถนนเพิ่ม จึงมีการรื้อศาลเทพารักษ์ดังกล่าวออก แล้วอัญเชิญท่านมาประดิษฐานรวมกันในศาลหลักเมือง ปัจจุบัน "ศาลหลักเมือง” จึงกลายเป็นที่ชุมนุมสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คนนิยมมากราบไหว้และบนบานเพื่อขอให้สมปรารถนาในเรื่องต่างๆ มากขึ้น
 
     นอกเหนือจาก "ศาลหลักเมืองกรุงเทพฯ” แล้ว เวลาเราไปต่างจังหวัดหลายแห่ง มักจะพบว่ามี "ศาลหลักเมือง” ของจังหวัดนั้นๆอยู่ด้วย เช่น เชียงใหม่ นครราชสีมา สุพรรณบุรี และนครศรีธรรมราช เป็นต้น ทั้งนี้เพราะว่า สมัยโบราณ สถานที่เหล่านี้ต่างก็เป็นเมืองมาก่อน มิได้เป็นเพียงจังหวัดๆหนึ่งดังเช่นปัจจุบัน ต่างจึงมี "หลักเมือง” ที่บ่งบอกความเป็นเมืองสำคัญหรือเคยเป็นราชธานี ดังนั้น "เสาหลักเมือง” จึงเปรียบเสมือน "เสาเอก” ที่เป็นเครื่องแสดงเจตจำนงของผู้นำและประชาชนที่จะลงหลักปักฐานในแผ่นดินนั้นๆ
 
...........................................................
 
.ส.ทัศชล เทพกำปนาท ที่ปรึกษากรมส่งเสริมวัฒนธรรม ภาพ : wordpress.com
ลิขสิทธิ์ของ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม สำหรับใช้ประโยชน์เพื่อเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมและการศึกษา
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์ | การปฏิเสธความรับผิด (Disclaimer)