
วัฒนธรรมการจดบันทึกของคนไทยในอดีต หลักฐานที่พบเห็นเป็นจำนวนมากคือ การจารลงบนใบลานและการเขียนหรือชุบลงบน สมุดไทย หรือ สมุดข่อย ซึ่งมักเป็นเรื่องราวทางศาสนาและตำรับตำราองค์ความรู้ต่างๆ "ใบลาน” ส่วนใหญ่นิยมใช้บันทึกเรื่องราว ในทางศาสนา เช่น คัมภีร์ต่างๆ ส่วน "สมุดไทย” มักจะบันทึกเรื่องราวที่มีเนื้อหารายละเอียดมาก และเรื่องราวที่จำเป็นต้องมีภาพประกอบ มีการอธิบายเพื่อให้เข้าใจได้ชัดเจน เช่น ตำราพรหมชาติ ตำราช้าง ตำราม้า ตำราแมว ตำราสมุนไพร ตำราพิชัยสงคราม เป็นต้น
สมุดไทยที่นำมาใช้บันทึกตำราต่างๆ จะแบ่งเป็น ๒ ประเภท คือ สมุดไทยดำ ทำจากกระดาษข่อยสีดำ จะมีภาพประกอบในลักษณะภาพลายเส้น ไม่มีการระบายสี เช่น ตำราเทวรูป ฉบับหอสมุดแห่งชาติ สมุดภาพร่างจิตรกรรมเรื่อง รามเกียรติ์ เป็นต้น ส่วนสมุดไทยขาว จะใช้ทำตำราที่มีทั้งภาพวาดลายเส้นและภาพระบายสี เช่น สมุดภาพไตรภูมิ สมุดภาพตำรารำ เป็นต้น
เนื้อหาที่นิยมใช้สมุดไทยขาวจดบันทึก ที่น่าสนใจ เช่น สมุดพระอภิธรรม สมุดสวดสรรเสริญพุทธคุณ มักพบภาพจิตรกรรมคั่นเป็นช่วงๆ อาทิ ภาพเทพชุมนุม สัตว์หิมพานต์ ภาพธรรมชาติ ภาพเรื่องทศชาติ ภาพจากวรรณคดี ฯลฯ ตัวอย่าง หนังสือสวดมักวางภาพจิตรกรรมไว้ด้านขวาและซ้ายของหน้าสมุด เขียนข้อความหรือตัวบทด้วยอักษรขอมไว้ตรงกลาง ระหว่างภาพประกอบด้านขวาและด้านซ้าย
สีสันที่ใช้ระบายในสมุดไทย จะเป็นสีที่มาจากวัสดุธรรมชาติ ในช่วงต้นจึงเป็นสีที่ไม่ฉูดฉาด ต่อมาเมื่อมีการนำเข้าสีจากประเทศจีนและตะวันตก จึงนิยมใช้สีสันที่ที่สดสวยและสะดุดตามากขึ้น จิตรกรรมไทยในสมุดภาพเป็นเสมือนสมุดบันทึกวัฒนธรรมของชาติในแต่ละยุคสมัย ทั้งการแต่งกาย ทรงผม สิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ สมุดภาพบางเล่มอาจระบุชื่อผู้สร้างและศักราช เดือนปีที่สร้างไว้ด้วย
ภาพที่เขียนลงในสมุดไทยส่วนมากจะเป็นจิตรกรรมแบบไทยประเพณี คือ ภาพที่สร้างสรรค์ขึ้นตามขนบของศิลปกรรมไทย ประกอบด้วย ภาพลวดลาย เช่น ลายกนก ลายก้านต่อดอก ลายแก้วชิงดวง สิ่งมีชีวิต มนุษย์ ชาย หญิง ในอิริยาบถต่างๆ เช่น เหมาะ นั่งเมือง ดีใจ เสียใจ อมนุษย์ เช่น เทพ เทวดา ยักษ์ วานร กินนร กินรี สัตว์หิมพานต์ สัตว์ ที่มีตัวตนพบเห็นได้ เช่น ช้าง ม้า วัว ควาย เป็นต้น ในตำราช่างเขียนโบราณ เรียกการวาดภาพศิลปะไทยประเพณี ๔ หมวด นี้ว่า "กระหนก นารี กระบี่ คช”
สมุดภาพจิตรกรรมไทยที่พบเห็นมากที่สุด คือ สมุดมาลัย เป็นหนังสือสำหรับสวดพระมาลัย เป็นสมุดไทยขาวขนาดใหญ่ เขียนบทประพันธ์กลอนสวด เรื่องพระมาลัยด้วยอักษรขอมภาษาไทย มีภาพประกอบสอดคล้องกับเนื้อหาในกลอนสวดคั่นเป็นระยะๆ เช่น ภาพชายเข็ญใจถวายดอกบัว ๘ ดอกให้พระมาลัย ภาพพระมาลัยนมัสการพระจุฬามณีเจดีย์ ภาพพระมาลัยสนทนากับพระอินทร์และศรีอาริย์เทพบุตร เป็นต้น
>>> คลิกอ่านเพิ่มเติม สมุดไทย... http://www.culture.go.th/ewtadmin/ewt/culture_th/images/akasit/050264.pdf