กลีบดอก 6 กลีบ ซ้อนกันเป็นชั้น ปลายกลีบแหลม โคนกลีบดอกกว้าง ดอกมีขนาดเล็กสีเหลือง กลิ่นหอมเย็น ออกดอกช่วง เดือนธันวาคม-มีนาคม เป็นลักษณะของดอกลำดวน ซึ่งเป็นสัญญลักษณ์ของวันผู้สูงอายุของไทย ที่ตรงกับวันที่ ๑๓ เมษายน ของทุกปี และยังเป็นดอกไม้ประจำจังหวัดศรีสะเกษด้วย
ในสมัย พล.เอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้ตระหนักถึงความสำคัญของผู้สูงอายุ และปัญหาต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อ วันที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๒๕ อนุมัติให้วันที่ ๑๓ เมษายน ของทุกปี เป็นวันผู้สูงอายุ และได้เลือก "ดอกลำดวน" เป็นสัญลักษณ์ของผู้สูงอายุ จากการที่องค์การสหประชาชาติได้จัดประชุมสมัชชาโลกเกี่ยวกับผู้สูงอายุ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๕ ณ กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรเลีย ได้ให้ความหมาย ของ คำว่า "ผู้สูงอายุ” ไว้ดังนี้
ผู้สูงอายุ หมายถึง บุคคลที่มีอายุตั้งแต่ ๖๐ ปีขึ้นไปทั้งชายและหญิง ซึ่งในการศึกษารวบรวมข้อมูลประชากรผู้สูงอายุได้แบ่ง ผู้สูงอายุเป็น ๒ กลุ่มคือ ผู้สูงอายุตอนต้น และผู้สูงอายุตอนปลาย
ผู้สูงอายุตอนต้น หมายถึง บุคคลที่มีอายุ ๖๐-๖๙ ปี ทั้งชายและหญิง
ผู้สูงอายุตอนปลาย หมายถึง บุคคลที่มีอายุ ๗๐ ปี ขึ้นไปทั้งชายและหญิง
เฉลี่ยเมื่อแรกเกิด หมายถึงจำนวนปีที่บุคคลหนึ่งเมื่อเกิดมาแล้วมีโอกาสที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไปจนกระทั่งตาย
อายุขัยเฉลี่ยเมื่ออายุ ๖๐ ปี หมายถึง จำนวนปีที่บุคคลหนึ่งเมื่ออายุครบ ๖๐ ปี แล้วมีโอกาสที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไป จนกระทั่งตาย
ปัจจุบัน "โลก" กำลังเต็มไปด้วย ผู้สูงอายุ ข้อมูลจาก "กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ" (UNFPA) ระบุว่า จากการสำรวจ สถิติประชากรโลก พบ ว่า ๑ ใน ๑๐ จะมีผู้สูงอายุ (ตั้งแต่อายุ ๖๐ปีขึ้นไป) เพิ่มขึ้นมากกว่าประชากรกลุ่มอื่น โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา นั่นหมายความว่า โลกกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Ageing Society) อย่างรวดเร็ว สำหรับประเทศไทย ในปี ๒๕๕๓ มีสัดส่วนผู้สูงอายุ อยู่ที่ร้อยละ ๑๑.๙ หรือ ๘.๐๑ ล้านคน คาดการณ์ว่าในปี ๒๕๖๘ ไทยจะก้าวกระโดด มีผู้สูงอายุมากถึง ๑๔.๔ ล้านคน และในปี ๒๕๙๓ ผู้สูงอายุจะล้นเมือง มีจำนวนมากถึงร้อยละ ๒๗ ของพลเมืองทั้งประเทศ และผู้สูงอายุก็ต้องการการดูและเอาใจใส่จากบุตรหลาน ทั้งในด้านร่างกายและจิตใจ โดยในด้านร่างกาย ต้องการมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง สมบูรณ์ ต้องการมี ผู้ช่วยเหลือดูแลอย่างใกล้ชิด ต้องการที่อยู่อาศัยที่สะอาด อากาศดี สิ่งแวดล้อมดี ต้องการอาหารการกินที่ถูกสุขลักษณะตามวัย ต้องการมีผู้ดูแลช่วยเหลือให้การพยาบาลอย่างใกล้ชิดเมื่อยามเจ็บป่วยต้องการได้รับการตรวจสุขภาพ และการรักษาพยาบาลที่สะดวก รวดเร็ว ทันท่วงที ต้องการได้รับบริการรักษาพยาบาลแบบให้เปล่าจากรัฐ ความต้องการได้พักผ่อน นอนหลับอย่างเพียงพอ ความต้องการบำรุงรักษาร่างกาย และการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ความต้องการสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อป้องกันอุบัติเหตุ ในด้านจิตใจ การเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกาย และสังคมจะทำให้จิตใจของผู้สูงอายุเปลี่ยนไปด้วย ผู้สูงอายุจะปรับจิตใจ และอารมณ์ไปตามการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย และสิ่งแวดล้อม จะเห็นได้ว่า ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ จะมีการปรับปรุง และพัฒนาจิตใจของตัวเอง ให้เป็นไปในทางที่ดีงามมากขึ้น สามารถควบคุมจิตใจได้ดีกว่าหนุ่มสาว ดังนั้น เมื่อคนเราอายุมากขึ้น ความสุขุมเยือกเย็น จะมีมากขึ้นด้วย แต่การแสดงออก จะขึ้นอยู่กับลักษณะของแต่ละบุคคล การศึกษา ประสบการณ์ และสิ่งแวดล้อมในชีวิตของคนคนนั้น ความเครียดที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลง ที่เกิดขึ้นในวัยสูงอายุ มีผลต่อจิตใจของผู้สูงอายุมาก ลักษณะการเปลี่ยนแปลงของจิตใจที่พบคือ
* การรับรู้ ผู้สูงอายุจะยึดติดกับความคิด และเหตุผลของตัวเอง การรับรู้สิ่งใหม่ๆ จึงเป็นไปได้ยาก ความจำก็เสื่อมลง
* การแสดงออกทางอารมณ์ การแสดงออกทางอารมณ์ของผู้สูงอายุ เกี่ยวเนื่องกับการสนองความต้องการของจิตใจ ต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ผู้สูงอายุจะมีความรู้สึกต่อตนเองในแง่ต่างๆ ส่วนใหญ่เป็นความท้อแท้ น้อยใจ โดยรู้สึกว่าสังคมไม่ให้ความสำคัญกับตนเอง เหมือนที่เคยเป็นมาก่อนทำให้ผู้สูงอายุ มีอารมณ์ไม่มั่นคง การกระทบกระเทือนใจเพียงเล็กน้อย จะทำให้ผู้สูงอายุเสียใจ หงุดหงิดหรือโกรธง่ายต้องการการยอมรับ และเคารพยกย่องนับถือ และการแสดงออกถึงความมีคุณค่าของผู้สูงอายุ โดยสมาชิกในครอบครัว สังคมของผู้สูงอายุ
* ความสนใจสิ่งแวดล้อม ผู้สูงอายุจะสนใจสิ่งแวดล้อม เฉพาะที่ทำให้เกิดความพึงพอใจ และตรงกับความสนใจ ของตนเองเท่านั้น
* การสร้างวิถีดำเนินชีวิตของตนเอง การมีอายุมากขึ้นคือ การเข้าใกล้กาลเวลาแห่งการสิ้นสุดของชีวิต การยอมรับสภาพดังกล่าว ทำให้ผู้สูงอายุบางคน มุ่งสร้างความดีงามให้แก่ตนเองเพิ่มมากขึ้น
* ความผิดปกติทางจิตใจและในวัยสูงอายุ แยกเป็นกลุ่มอาการทางจิต ๒ กลุ่มใหญ่ๆ คือ
กลุ่มอาการทางจิตเนื่องจากสมองเสื่อม กลุ่มอาการผิดปกติด้านจิตใจและอารมณ์
นอกจากนี้ในด้านสังคม - เศรษฐกิจ ผู้สูงอายุยังต้องการได้รับความสนใจจากผู้อื่น ต้องการเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว สังคมและหมู่คณะ ต้องการช่วยเหลือสังคมและมีบทบาทในสังคมตามความถนัด ต้องการการสนับสนุน ช่วยเหลือจากครอบครัว และสังคมทั้งทางด้านความเป็นอยู่ รายได้บริการจากรัฐ ต้องการมีชีวิตร่วมในชุมชน มีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ ของชุมชนและสังคม ต้องการลดการพึ่งพาคนอื่นให้น้อยลง ไม่ต้องการความเมตตาสงสาร (ที่แสดงออกโดยตรง) และต้องการการประกันรายได้ และประกันความชราภาพ
สำหรับสังคมไทยเราซึ่งยังคงเป็นสังคมที่มีลักษณะการอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัวใหญ่ ถึงแม้ในปัจจุบันด้วยวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปไม่ว่าจะเป็นความเร่งรีบในการแข่งขันในด้านต่างๆทั้งเรื่องงาน การเป็นอยู่ การศึกษา ไม่ว่าจะในสังคมเมืองหรือเมืองใหญ่ๆของชนบท ทำให้อยู่กันเป็นครอบครัวเดี่ยวมากขึ้น คือ พ่อ แม่ ลูก เท่านั้น ผู้สูงอายุไม่ว่าจะเป็นพ่อ แม่ ในวัยหลังเกษียน ปู่ ย่า ตา ยาย ถูกทิ้งให้อยู่ตามลำพัง บุคคลเมื่อก้าวสู่วัยสูงอายุ ซึ่งเป็นวัยท้ายของชีวิตเป็นช่วงที่ควรได้รับการช่วยเหลือ ประคับประคองจากสังคม จากคนใกล้ชิด จากลูกหลาน ในสังคมไทยเรามีวัฒนธรรมในการดูแลพ่อ แม่ ญาติ ผู้สูงอายุ แต่ปัจจุบันต้องยอมรับว่าสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนไป ย่อมมีผลกระทบต่อวัฒนธรรมและวิถีชีวิตคนไทย ซึ่งย่อมส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของผู้สูงอายุอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ในโอกาสวันผู้สูงอายุ ซึ่งตรงกับวันที่ ๑๓ เมษายน ของทุกปีเวียนมาถึง กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ขอเชิญชวนบุตรหลาน ได้ใช้ช่วงเวลาพิเศษในเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งมีวันหยุดยาวได้กลับไปเยี่ยมเยือนพ่อ แม่ ญาติผู้สูงอายุ ซึ่งรอท่านอยู่ที่บ้าน กลับไปกอดท่าน บอกรักท่านร่วมทำบุญตักบาตร รดน้ำขอพร เพื่อให้ความรักและความกตัญญูนี้ เป็นเสมือนยาอายุวัฒนะที่เติมเต็มพลังให้เราต่อสู้กับปัญหาต่างๆที่ถาโถมเข้ามาในชีวิตและผ่านมันไปได้ด้วยรอยยิ้มและกำลังใจที่ยิ่งใหญ่ของครอบครัว
.................................................
บทความโดย
ธนพร สิงห์นวล
กลุ่มประชาสัมพันธ์
กรมส่งเสริมวัฒนธรรม
|