
ชื่อว่า "ขนมตาล” เชื่อว่าหลายคนที่ได้ลิ้มลองต้องสัมผัสได้ถึงความหอมและรสชาติละมุน เหนียวนุ่มลิ้น อันมาจากเนื้อลูกตาลสุก ขนมไทยแท้แต่ดั้งเดิม ที่กำลังได้รับความนิยมน้อยลง ด้วยคนในยุคปัจจุบันนิยมบริโภคขนมหวานจากตะวันตกมากกว่าขนมไทย ซึ่งพบว่าปัญหาหนึ่งเกิดจากสัดส่วนหรือส่วนผสมรวมถึงระยะเวลาที่ใช้หมักในการทำขนมตาล แต่ละท้องถิ่นที่ไม่คงที่ มากบ้างน้อยบ้าง ทำให้รสสัมผัสและกลิ่นรวมถึงรสชาติของขนมผิดเพี้ยนไป
การรักษาและส่งเสริมมรดกภูมิปัญญาการทำขนมตาลจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ เกิดการคิดค้นวิธีการแก้ปัญหา นำภูมิปัญญาขนมตาลโบราณมาพัฒนาต่อยอดสร้างสรรค์ สร้างสูตรแป้งขนมตาลกึ่งสำเร็จรูป โดยประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในยุคปัจจุบัน ได้แก่ การทำผงเนื้อตาลแห้ง การใช้ยีสต์ ผงฟูหรือโซเดียมไบคาร์บอเนตและไฮโดรคอลลอยด์ เพื่อช่วยรักษารสชาติและเนื้อสัมผัสของขนมตาลแบบดั้งเดิมไว้ และที่สำคัญสามารถปรุงสุกได้อย่างสะดวกง่ายดายด้วยเตาอบไมโครเวฟ
จากการวิจัยเรื่อง "การประยุกต์ใช้ภูมิปัญญาขนมไทยโบราณเพื่อสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์แป้งขนมตาลกึ่งสำเร็จรูป” ได้พบสูตรการสร้างสรรค์แป้งขนมตาลกึ่งสำเร็จรูป และพัฒนาให้บรรจุอยู่ในซองอลูมิเนียมฟอยด์ ประกอบด้วย ๒ ซอง ซองแรก บรรจุแป้งสาลี กัมอาราบิค น้ำตาลทราย ผงเนื้อตาลสุก แป้งข้าวจ้าว และผงฟู ส่วนซองที่สอง บรรจุยีสต์ และที่ส่วนที่เหลือผู้บริโภคต้องเตรียมเอง คือ กะทิยูเอชที น้ำ และน้ำมันพืช โดยวิธีทำเริ่มด้วยผสมส่วนผสมต่างๆ ให้เข้ากันทั้งหมด หมักไว้ ๔๕ นาที แล้วจึงแบ่งส่วนผสม... และปรุงสุกด้วยเตาอบไมโครเวฟ ใช้กำลังไฟ ๘๐๐ วัตต์ เป็นเวลา ๔๐ วินาที ทำให้ได้ขนมตาลปรุงสุกที่มีรสชาติและเนื้อสัมผัสใกล้เคียงกับขนมตาลต้นฉบับแบบดั้งเดิมที่ใช้เวลารวมในการปรุง/หมัก/เวลาในการนึ่งให้สุก ที่ต้องใช้เวลาถึง ๑๐ ชั่วโมง ๑๕ นาที
การพัฒนาสร้างสรรค์องค์ความรู้ภูมิปัญญาการทำขนมไทยในแบบดั้งเดิมให้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคยุคปัจจุบัน ที่ต้องการความสะดวกรวดเร็ว แต่ยังคงความอร่อยในแบบต้นฉบับไว้ได้ ถือเป็นตัวอย่างนวัตกรรมที่ทำให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจแก่ขนมไทยโบราณให้อยู่รอดต่อไป..
อ่านเนื้อหารายงานการวิจัยฉบับเต็ม >>> http://www.culture.go.th/culture_th/images/akasit/220164a.pdf