กรมส่งเสริมวัฒนธรรม
เว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้
font size small font size normal font size big
หน้าแรก
Search


ข่าวสาร >> บทความ >> เล่าสู่กันฟัง
เล่าสู่กันฟัง...เรื่อง “พระอินทร์เป็นใคร?”

วันที่ 18 ม.ค. 2564
 

     "ทิพย์อาสน์เคยอ่อนแต่ก่อนมา กระด้างดังศิลาประหลาดใจ” คำกลอนประโยคนี้ ดูจะเป็นซิกเนเจอร์ (Signature) หรือสัญลักษณ์ ที่พูดเมื่อใด ก็จะทำให้เรานึกถึงเทพองค์หนึ่ง ที่มักปรากฏตัวมาช่วยแก้ปัญหาให้มนุษย์อยู่เสมอๆ ทั้งในวรรณกรรมและชาดกต่างๆ ซึ่งเทพองค์นี้ก็คือ "พระอินทร์” นั่นเอง
 

     คำว่า "พระอินทร์” แปลว่า ผู้เป็นใหญ่ เป็นชื่อเทวดาที่มีอยู่ทั้งในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู และศาสนาพุทธ มีตำแหน่งเป็นเทวาธิบดี คือ เป็นประมุขแห่งเทวดาทั้งปวง มีหน้าที่ปกครองสวรรค์และดูแลทุกข์สุขของมนุษย์โลก ยามใดที่มีเรื่องเดือดร้อนเกิดขึ้นบนโลก อาสนะของพระองค์ที่เคยอ่อนนุ่มก็จะแข็งกระด้างขึ้นหรือบางทีก็ร้อนจนประทับไม่ได้ ดังคำกลอนที่กล่าวถึงในตอนต้น อันมาจากเรื่อง "สังข์ทอง”ตอนตีคลีที่ว่า "มาจะกล่าวบทไป ถึงท้าวสหัสนัยไตรตรึงษา ทิพย์อาสน์เคยอ่อนแต่ก่อนมา กระด้างดังศิลาประหลาดใจ จะมีเหตุมั่นแม้นในแดนดิน อมรินทร์เร่งคิดสงสัย จึงสอดส่องทิพย์เนตรดูเหตุภัย ก็แจ้งใจในนางรจนา...” นอกจากคำเรียก "พระอินทร์” แล้ว ท่านยังมีชื่อเรียกอื่นๆอีก ได้แก่ ท้าวสักกเทวราช ท้าววาสพ ท้าวสหัสนัย ท้าวสุชัมบดี ท้าวโกสีย์ และท้าวมฆวาน เป็นต้น
     ในศาสนาพรหมณ์-ฮินดู แต่โบราณจะนับถือ "พระอินทร์” เป็นใหญ่สูงสุด และเด่นที่สุดในคัมภีร์ฤคเวท (คัมภีร์ที่สวดสรรเสริญเทพเจ้า) ถือว่าท่านเป็นเทพแห่งบรรยากาศ มีอานุภาพมากมาย สามารถกวัดแกว่งอาวุธที่เรียกว่า "วัชระ” (สายฟ้า) ทำลายล้างปีศาจร้ายแห่งฝนแล้งและความมืดได้ มีพระวรกายใหญ่โต ทรงพลัง และยังแปลงกายได้สารพัด นอกจากจะมีฐานะยิ่งใหญ่เป็นผู้สร้างโลกแล้ว ยังเป็นเทพเจ้าแห่งสงครามด้วย ครั้นต่อมาเมื่อความเชื่อในมหาเทพ "ตรีมูรติ” (พระพรหม พระวิษณุ และพระศิวะ ) อุบัติขึ้น พระอินทร์จึงถูกลดบทบาทลง ตามทัศนะของศาสนาพราหมณ์เชื่อว่า ผู้ที่จะเป็นพระอินทร์ได้ต้องเป็นกษัตริย์ที่เคยกระทำพิธีบูชายัญที่เรียกว่า อัศวเมธ ถึง ๑๐๐ ครั้ง ครั้นศาสนาพุทธเข้ามา จึงได้มีการปรับเปลี่ยนแนวคิดเรื่องพระอินทร์เสียใหม่ให้สอดคล้องกับหลักธรรมคำสอนทางพุทธศาสนา พระอินทร์ จึงกลายเป็นตำแหน่งของพระราชาผู้เป็นใหญ่แห่งเทพทั้งหลายในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ซึ่งตำแหน่งนี้จะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนไปตามผลแห่งบุญกรรมที่ได้กระทำไว้ พระอินทร์องค์ใดสิ้นบุญ ก็จะมีองค์ใหม่ขึ้นมาแทนที่ กล่าวได้ว่าพระอินทร์มีหลายพระองค์ แต่ละองค์ก็จะมีอายุขัยเป็นไปตามบุญกุศลที่ตนได้กระทำมา
 
     "พระอินทร์” มีรูปกายที่สวยงาม มีผิวสีเขียว บางครั้งก็จะเปลี่ยนเป็นสีทองจนถึงขาวนวลตามแต่โอกาส อาวุธประจำกายคือ วัชระ (สายฟ้า) นอกจากนี้ยังมีศาตราวุธอื่นๆที่ใช้ ได้แก่ พระขรรค์ชื่อ ปรัญชะ ศักรธนู บ่วงบาศ จักร ตะขอ และแหตาข่าย เป็นต้น การที่มีพระวรกายสีเขียว บางแห่งว่าเกิดจากแสงสะท้อนของแก้ววชิระ บางแห่งก็ว่าเพราะ สีเขียว เป็นสีที่เกี่ยวข้องกับธรรมชาติ ดังนั้น เมื่อท่านเป็นเทพแห่งสายฟ้า สายฝนและพายุ และยังเป็นใหญ่เหนือเทพธรรมชาติอื่นๆ (เช่น พระอัคคี พระพิรุณ) สีนี้จึงเป็นสีประจำตัวท่าน อีกทั้งชาวฮินดูเชื่อว่า สีเขียวเป็นสัญลักษณ์ของความสุขและความสงบ พระอินทร์ประทับอยู่ในวิมานที่ชื่อว่า เวชยันตปราสาท บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ซึ่งเป็นสวรรค์ชั้นที่ ๒ ในฉกามาพจร (สวรรค์ ๖ ชั้นที่อยู่ในกามภูมิประกอบด้วย จาตุมหาราชิกา ดาวดึงส์ ยามา ดุสิต นิมมานนรดี และปรนิมมิตวสวัตตี) สวรรค์ชั้นดาวดึงส์นี้ บางทีก็เรียก ไตรตรึงษ์ อันหมายถึง ที่อยู่ของเทพ ๓๓ องค์ ซึ่งเคยร่วมสร้างกุศลด้วยกันในอดีต มีมาฆมาณพเป็นหัวหน้า เมื่อตายไปแล้ว จึงได้เกิดเป็นพระอินทร์ พร้อมบริวารอีก ๓๒ คน นอกจากปราสาทอันสวยงามแล้ว พระอินทร์ยังมีแท่นทิพย์ที่ชื่อว่า บัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ มีลักษณะพิเศษคือ ปกติจะอ่อนนุ่ม แต่เมื่อเกิดเหตุในโลกมนุษย์ ก็จะแข็งดุจดังหิน นอกจากนี้ยังมีต้นไม้วิเศษชื่อว่า ปาริชาติ ที่หากใครได้ดม ก็จะระลึกชาติได้ มี พระวิษณุกรรม ซึ่งเป็นเทวดานายช่างใหญ่ผู้สร้างเครื่องมือและสิ่งของต่างๆ ตามบัญชา มี เอราวัณเทพบุตร ที่ปกติจะเป็นเทวดา แต่เมื่อพระอินทร์และสหายจะเสด็จไปไหน ก็จะแปลงกายเป็น ช้างเอราวัณ ที่มีรูปร่างใหญ่โต และอลังการมาก คือ เป็นช้างเผือกที่มี ๓๓ เศียร แต่ละเศียรประกอบด้วยสระบัว ดอกบัว ปราสาท และเทพธิดานางอัปสรอยู่มากมาย บนสวรรค์ชั้นนี้ ยังมีอุทยานที่งดงามอีก ๔ แห่ง คือ สวนนันทวัน สวนปารุสกวัน สวนจิตรลดาวัน และสวนสักกวัน ซึ่งแต่ละแห่งก็จะมีสระอยู่อีก ๒ สระ ท่านมีพระชายาที่เป็นใหญ่ ๔ องค์คือ นางสุธรรมา นางสุชาดา นางสุจิตรา และนางสุนันทา (บางแห่งว่ายังมีนางฟ้าเป็นเมียอีก ๙๒ นางและนางบำเรออีกนับล้าน)
 
     ความเป็นมาของพระอินทร์ที่ปรากฏในพระไตรปิฎกและอรรถกถา สรุปย่อได้ว่า เดิมเป็นมาณพนามว่า มฆมาณพ เกิดในหมู่บ้านอจลคาม แคว้นมคธ เป็นผู้เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ชอบประกอบสาธารณประโยชน์อยู่เสมอ เช่น เมื่อยืนอยู่ลานกว้างที่ใด ก็มักใช้เท้าเกลี่ยฝุ่น ปรับที่ยืนให้เรียบเป็นที่น่ารื่นรมย์ แม้คนอื่นจะมาแย่ง ก็ไม่โกรธ กลับไปทำที่อื่นๆให้น่ารื่นรมย์ต่อ เช่นนี้เรื่อยๆไป ต่อมายังได้ชักชวนสหายอีก ๓๒ คน ที่มีแนวคิดเสียสละเช่นเดียวกันมาช่วยกันสร้างสะพาน ทำถนนหนทาง ขุดบ่อน้ำ ถางที่ ตัดไม้สร้างถนน ประหนึ่งอุปมาว่าเป็นทางไปสวรรค์ ได้สร้างศาลา ณ ทางสี่แพร่ง จัดสรรให้ทั้งคนใหญ่คนโต คนยากจน และคนเจ็บไข้ได้ป่วยได้พัก ซึ่งศาลาดังกล่าวนี้ เมียทั้งสามของมฆมาณพได้มีส่วนช่วยเหลือด้วย ยกเว้นคนที่ชื่อสุชาดาที่ไม่ได้ทำ เมื่อสิ้นชีพ มฆมาณพก็ได้บังเกิดไปเป็นพระอินทร์ปกครองสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ พร้อมสหายที่เป็นเทพบุตรอีก ๓๒ คน ส่วนภรรยาทั้งสาม(นางสุธรรมา นางสุจิตรา และนางสุนันทา) ก็ไปเกิดเป็นพระชายาพระอินทร์ด้วย ขาดแต่นางสุชาดาที่ไปเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน จนพระอินทร์ต้องลงไปช่วยสอนให้สร้างบุญสร้างกุศล และได้ตามไปบังเกิดเป็นเมียท่านในที่สุด นอกจากนี้ ผู้ที่จะไปบังเกิดเป็นพระอินทร์ได้ยังต้องรักษาวัตรบท หรือเส้นทางสู่ความเป็นพระอินทร์อีก ๗ ประการ ตลอดชีพ ได้แก่ ๑.เลี้ยงบิดามารดา ๒. เคารพอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ ๓. มีวาจาไพเราะอ่อนหวาน ๔.ไม่พูดส่อเสียด ๕.ไม่ตระหนี่ ๖. มีวาจาสัตย์ และ ๗.ไม่โกรธ
 
.....................................................
 
น.ส.ทัศชล เทพกำปนาท ที่ปรึกษากรมส่งเสริมวัฒนธรรม
ลิขสิทธิ์ของ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม สำหรับใช้ประโยชน์เพื่อเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมและการศึกษา
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์ | การปฏิเสธความรับผิด (Disclaimer)