"พระปริตร ๑๒ ตำนาน” เป็นบทสวดมนต์ที่มีความศักดิ์สิทธิ์และสำคัญมากในพุทธศาสนา มีมานานนับตั้งแต่สมัยพุทธกาล เป็นการสวดพระพุทธวจนะหรือหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าที่เชื่อว่าจะช่วยคุ้มครองป้องกันภยันตรายต่างๆ และทำให้เกิดความสุขสวัสดีแก่ผู้สวด (คำว่า "ปริตร” หมายถึง "เครื่องคุ้มครอง”) ซึ่งพระปริตรนี้พระสงฆ์มักจะใช้สวดสาธยายในพิธีมงคลต่างๆที่เราเรียกว่า "เจริญพระพุทธมนต์” มีด้วยกัน ๑๒ ตำนาน (บท) เช่น มงคลปริตร รัตนปริตร เมตตปริตร ขันธปริตร โพชฌังคปริตร และองคุลิมาลปริตร เป็นต้น แต่ละปริตรก็จะมีอานิสงส์แตกต่างกันไป ซึ่งจะขอยกตัวอย่าง มงคลปริตร ที่บางแห่งก็เรียก มงคลสูตร (สูตร หมายถึง พระธรรมเทศนา) แต่คนทั่วไปมักเรียกว่า "มงคล ๓๘" มาเล่าสู่กันฟัง
"มงคล ๓๘” เป็นบทพุทธมนต์ที่มีอานิสงส์เพื่อความเป็นมงคล และป้องกันชีวิตตกต่ำ เพราะเนื้อหากล่าวถึงหลักปฏิบัติ ๓๘ ประการ อันเป็นมูลเหตุแห่งความสุข ความเจริญ และความสำเร็จในการดำเนินชีวิต อันมีที่จากการตอบปัญหาของพระพุทธองค์ เมื่อครั้นท้าวสักกเทวราชได้นำเหล่าเทวดามาทูลถามว่า อะไรคือมงคลของชีวิต เพราะสมัยนั้นประชาชนต่างเกิดความสงสัยว่าอะไรที่ทำให้ชีวิตเป็นมงคล บ้างก็ว่าสิ่งของ บ้างก็ว่าสัตว์ บ้างก็ว่ารูปเคารพ ฯลฯ เถียงกันไปต่างๆนานา ก็ไม่มีข้อสรุป ในที่สุดจึงนำมาถามพระพุทธเจ้า ซึ่งพระองค์ก็ได้แสดงหลักธรรมที่จะทำให้ชีวิตประสบความเจริญหรือเป็นมงคลไว้ ๓๘ ประการ ดังนี้
๑.ไม่คบคนพาล ๒.คบบัณฑิต ๓.บูชาบุคคลที่ควรบูชา ๔.อยู่ในถิ่นที่เหมาะสม ๕. เคยสร้างสมความดีไว้ก่อน ๖.ตั้งตนไว้ชอบ ๗.เป็นพหูสูต(รอบรู้วิทยาการ) ๘.ชำนาญในศิลปะ ๙. มีวินัย ๑๐.กล่าววาจาอันเป็นสุภาษิต ๑๑.บำรุงบิดามารดา ๑๒.สงเคราะห์บุตร ๑๓.สงเคราะห์ภรรยา ๑๔.ทำงานไม่คั่งค้าง ๑๕.บำเพ็ญทาน ๑๖.ประพฤติธรรม ๑๗.สงเคราะห์ญาติ ๑๘.ทำงานไม่มีโทษ ๑๙.ละเว้นจากบาป ๒๐.สำรวมจากการดื่มน้ำเมา ๒๑.ไม่ประมาทในธรรมทั้งหลาย ๒๒.มีสัมมาคารวะ ๒๓.มีความถ่อมตน ๒๔.มีความสันโดษ ๒๕.มีความกตัญญู ๒๖.ฟังธรรมตามกาล ๒๗.มีความอดทน ๒๘.เป็นผู้ว่าง่าย ๒๙.คบหาสมณะ ๓๐.สนทนาธรรมตามกาล ๓๑.บำเพ็ญตบะ ๓๒.ประพฤติพรหมจรรย์ ๓๓.เห็นแจ้งในอริยสัจ ๓๔.ทำพระนิพพานให้แจ้ง ๓๕.มีจิตไม่หวั่นไหวในโลกธรรม ๓๖.มีจิตไม่เศร้าโศก ๓๗.มีจิตปราศจากกิเลส และ ๓๘.มีจิตเกษม (จิตหลุดพ้น)
อ่านเพียงข้อแรกๆ ก็เห็นได้เลยว่า สามารถทำให้ชีวิตผู้ปฏิบัติดีขึ้น อย่างเช่นการไม่ยุ่งเกี่ยวกับคนพาลย่อมทำให้เราห่างไกลจากความเดือดร้อนที่คนชั่วนำมาให้ ขณะเดียวกันการคบคนดี ก็ทำให้เราได้รับคำแนะนำและมีแบบอย่างดีๆในการดำเนินชีวิต อย่างไรก็ตาม หลักปฏิบัติข้อหลังๆ ดูเหมือนจะทำได้ยากขึ้น บางคนอาจจะรู้สึกว่าเกินกำลังของเราผู้ยังข้องเกี่ยวกับกิเลสอยู่ แต่จริงๆแล้ว มงคล ๓๘ นี้ กล่าวได้ว่า เป็นการพัฒนาตนเองที่ค่อยๆยกระดับการปฏิบัติตน ตั้งแต่ระดับต้นซึ่งทำได้ไม่ยาก ไปจนถึงระดับสูง คือ พระนิพพาน ที่ทำให้พ้นทุกข์อย่างสิ้นเชิงนั่นเอง
ในเอกสารวิจัยเรื่อง "การศึกษาวิเคราะห์แนวคิดและการพัฒนาตนเองตามหลักมงคลสูตรที่ปรากฏในสุภาษิตพระร่วง” ของสุนทร สุขทรัพย์ทวีผลและคณะ ได้กล่าวว่า หลักธรรมในมงคลปริตรนี้สามารถจำแนกตามลักษณะของการพัฒนาตนเองได้ ๓ ขั้นตอน คือ
๑.หลักการพัฒนาตนเองขั้นพื้นฐาน (ความรู้) ประกอบด้วยหลักธรรมที่เป็นมงคล ๑๘ ประการ ได้แก่ การไม่คบคนพาล การคบบัณฑิต การบูชาบุคคลที่ควรบูชา อยู่ในถิ่นที่เหมาะสม การสร้างสมความดีไว้ก่อน การตั้งตนไว้ชอบหรือดำรงตนถูกต้อง การรอบรู้วิทยาการ ความชำนาญในศิลปะ การมีระเบียบวินัย การพูดจาดีเป็นวาจาสุภาษิต การเลี้ยงดูบิดามารดา การเลี้ยงดูบุตรธิดา การเลี้ยงดูภรรยา การทำงานไม่ให้คั่งค้าง การบำเพ็ญทาน การประพฤติเป็นธรรม การสงเคราะห์ญาติ และการทำงานไม่มีโทษ
๒. หลักพัฒนาตนเองขั้นกลาง (ทักษะ) ประกอบด้วยหลักธรรมที่เป็นมงคล ๑๒ ประการ ได้แก่ การงดเว้นจากบาป การสำรวมจากการดื่มน้ำเมา การฟังธรรมตามกาล ความอดทน ความเป็นผู้ว่าง่ายสอนง่าย การคบหาสมณะ การสนทนาธรรมตามกาล ความไม่ประมาทในธรรม ความเป็นผู้มีสัมมาคารวะ การถ่อมตัว ความสันโดษ และความกตัญญู
๓. หลักพัฒนาตนเองขั้นสูง (เจตคติ) ประกอบด้วยหลักธรรมที่เป็นมงคล ๘ ประการ ได้แก่ ความ มีตบะ (ใช้ความเพียรเผาผลาญกิเลส) การประพฤติพรหมจรรย์ การเห็นแจ้งในอริยสัจ ทำนิพพานให้แจ้ง จิตไม่หวั่นไหวในโลกธรรม จิตไม่เศร้าโศก จิตปราศจากธุลี (กิเลส) และจิตเกษม
ดังนั้น แนวคิดการพัฒนาตนเองตามหลักหลักมงคลสูตร จึงเป็นการพัฒนาที่ครอบคลุมทั้งทางด้านความรู้ ทักษะ และเจตคติ กล่าวคือ เป็นการพัฒนาตนเองตามลำดับจากขั้นพื้นฐาน คือ การปรับองค์ความรู้ เช่น การคบบัณฑิต การศึกษาศิลปะวิทยา การใช้ชีวิตที่มีความสัมพันธ์กับคนในสังคมตั้งแต่ระดับครอบครัว ญาติมิตร และสังคมวงกว้าง จากนั้นจึงก้าวสู่การพัฒนาทางด้านทักษะ คือความอดทน ความประพฤติปฏิบัติ ตนเองในสถานการณ์การต่างๆ และพัฒนาสู่การพัฒนาขั้นสูงสุดคือการพัฒนาทางจิต การพัฒนาตนเองที่ ครอบคลุมองค์ประกอบทั้ง ๓ ประการนี้ มีความสอดคล้องกับกันแนวคิดเรื่องไตรสิกขาในพระพุทธศาสนา คือ ศีล สมาธิ และปัญญา จึงทำให้มงคลสูตรเป็นสูตรการพัฒนาตนเองที่เหมาะสมต่อการนำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน
อย่างไรก็ดี การปฏิบัติตามหลักมงคลสูตร หรือ มงคล ๓๘ ที่เป็นกระบวนการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไปสู่สิ่งที่ดีกว่านี้ จะทำให้แต่ละคนประสบความเจริญก้าวหน้าหรือความสำเร็จในชีวิตได้มากน้อยแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับความตั้งใจของตนเป็นสำคัญ
..............................................................
น.ส.ทัศชล เทพกำปนาท ที่ปรึกษากรมส่งเสริมวัฒนธรรม