ในเดือนธันวาคม นอกจากจะมีวันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแล้ว ยังมีอีกหนึ่งวันสำคัญของประชาชนชาวไทย คือ วันรัฐธรรมนูญ (หมายถึง กฎหมายว่าด้วยระเบียบการปกครองประเทศ) ซึ่งตรงกับวันที่ ๑๐ ธันวาคม ของทุกปี
ความสำคัญของวันนี้นั้น มีจุดเริ่มต้นมาจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ เหตุการณ์นั้นถือเป็นจุดเปลี่ยนของระบบการปกครองของไทย เป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช (คือ การปกครองที่พระมหากษัตริย์มีอำนาจเด็ดขาดในการบริหารราชการแผ่นดิน หรือที่เรียกกันง่ายๆ ว่าเป็นการปกครองแบบกษัตริย์อยู่เหนือกฎหมาย คือ เป็นทั้งผู้ออกกฎหมายบริหารบ้านเมือง และตัดสินคดีความด้วยพระองค์เอง ส่วนพวกขุนนาง ข้าราชการ เป็นเพียงกลไกที่ปฏิบัติไปตามพระบรมราชโองการเท่านั้น) ที่ใช้กันมายาวนานถึง ๗๐๐ กว่าปี มาเป็นการปกครองในระบอบประชาธิปไตย โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ
ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตย พระมหากษัตริย์ก็ยังทรงเป็นประมุขของประเทศ เป็นสถาบันที่ถาวรและมีการสืบราชสมบัติต่อกันไปในราชวงศ์ ไม่ต้องรับผิดชอบทางการเมือง เป็นผู้ใช้อำนาจทางคณะรัฐมนตรีที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งให้บริหารราชการแผ่นดิน แต่ทั้งนี้คณะรัฐมนตรีจะต้องรับผิดชอบในการบริหารราชการแผ่นดินต่อสภาผู้แทนราษฎร รัฐสภาซึ่งเป็นฝ่ายนิติบัญญัติมิได้ใช้แค่เพียงอำนาจนิติบัญญัติเท่านั้น แต่มีอำนาจที่จะควบคุมคณะรัฐมนตรีในการบริหารราชการแผ่นดินด้วย อย่างไรก็ตาม คณะรัฐมนตรีซึ่งประกอบกันเป็นรัฐบาลก็มีอำนาจที่จะยุบสภาผู้แทนราษฎรได้ หากเห็นว่ามีการดำเนินงานที่เป็นภัยหรือเสื่อมเสียผลประโยชน์สำคัญของรัฐที่มีผลเท่ากับถอดถอนสมาชิกสภาที่ได้รับเลือกตั้งมาเพื่อให้ราษฎรเลือกตั้งใหม่ ในส่วนที่เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์นั้น ได้บัญญัติไว้ว่าพระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะผู้ใดจะละเมิดมิได้
จากนั้นเมื่อวันที่ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ได้พระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยามฉบับถาวร เพื่อเป็นหลักในการปกครองของประเทศให้แก่ประชาชนชาวไทย พระองค์ได้เสด็จออกประทับพระที่นั่งพุดตานกาญจนสิงหาสน์ ภายใต้นพปฎลมหาเศวตฉัตร ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม ซึ่งโปรดกล้าฯ ให้จัดเป็นที่ประชุมรัฐสภา ทรงลงพระปรมาภิไธยในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พระราชทานเป็นกฎหมายสูงสุดเพื่อเป็นหลักในการปกครองประเทศ นับเป็นรัฐธรรมนูญ "ฉบับแรก” พระองค์ได้ทรงมีพระราชดำรัสในวันพระราชทานรัฐธรรมนูญว่า "ข้าพเจ้ามีความเต็มใจที่จะสละอำนาจอันเป็นของข้าพเจ้าอยู่แต่เดิมให้แก่ราษฎรโดยทั่วไป แต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้าให้แก่ผู้ใด คณะใด โดยเฉพาะเพื่อใช้อำนาจนั้นโดยสิทธิขาด และโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาราษฎร”
นับตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕ มาจนถึงปัจจุบัน ประเทศไทยได้มีรัฐธรรมนูญ นับเฉพาะฉบับที่สำคัญรวมทั้งสิ้น ๑๘ ฉบับด้วยกัน ซึ่งฉบับปัจจุบันที่ใช้ในการปกครองประเทศ คือ "รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ ประกาศและบังคับใช้เมื่อวันที่ ๒๔ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๐” การที่ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญถึง ๑๘ ฉบับด้วยกัน ไม่ได้แสดงว่าประเทศของเรามีความก้าวหน้าหรือมีการพัฒนาในเรื่องของการปกครองระบอบประชาธิปไตย แต่กลับตรงกันข้ามเพราะมันกลายเป็นการบ่งชี้ว่าประเทศไทยไม่ได้มีการพัฒนาในเรื่องของการปกครองระบอบประชาธิปไตยเลย เนื่องจากปัจจุบันสังคมไทยก็ยังมีความขัดแย้งในเรื่องของความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกต่างและยังมีการแบ่งสีกันอยู่ ประกอบกับประชาชนไทยส่วนใหญ่ก็ยังไม่มีความรู้และเข้าใจกับคำว่า "ประชาธิปไตย” อย่างดีพอ จึงเป็นที่มาของปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองอยู่เรื่อยๆ
แม้แต่เมื่อเร็วๆ นี้ที่ประเทศไทยประสบปัญหาอุทกภัยครั้งร้ายแรง ซึ่งในช่วงนั้นสังคมไทยต้องการความสมัครสมานสามัคคี และการเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าส่วนตน เพื่อให้ประเทศของเราก้าวผ่านพ้นวิกฤติการณ์น้ำท่วมครั้งร้ายแรงไปให้ได้ แต่กลายเป็นว่าสังคมไทยตอนนั้นกลับมีภาพของความขัดแย้งปรากฏขึ้น ทั้งการทำลายคันกั้นน้ำ การกดดันให้ภาครัฐเปิดประตูระบายน้ำ การขโมยของในภาวะที่เพื่อนร่วมชาติด้วยกันกำลังเดือดร้อน หรือการฉวยโอกาสขึ้นราคาสินค้าอุปโภคบริโภคในขณะที่เกิดภาวะขาดแคลน เป็นต้น
ดังนั้น วันรัฐธรรมนูญที่จะถึงนี้ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ขอเชิญชวนพี่น้องชาวไทยร่วมกันสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ที่ทรงพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับแรกอันเป็นจุดเริ่มต้นให้ประเทศไทยมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ด้วยการสร้างสรรค์ "วัฒนธรรมประชาธิปไตย” ให้เกิดขึ้นในสังคมไทย เพียงแค่ปฏิบัติตนตามสิทธิหน้าที่ของพลเมืองที่ดี ยอมรับฟังเสียงส่วนใหญ่เคารพเสียงส่วนน้อย มีความสมัครสมานสามัคคีและประนีประนอม มีจิตสำนึกสาธารณะเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม แค่นี้สังคมไทยก็จะเป็นสังคมประชาธิปไตยอย่างยั่งยืน
*******************************
สำนักนวัตกรรมทางวัฒนธรรม
กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม
|