วันที่ ๕ ธันวาคม ของทุกปี เป็นวันที่คนไทยจะมีความสุขและความปลาบปลื้มอย่างสุดหัวใจ เนื่องจากเป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระมหากษัตริย์ที่ทรงเป็นที่รักยิ่งและเป็นศูนย์รวมดวงใจของพสกนิกรไทย และในวันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในปีนี้ ถือเป็นปีมหามงคลอย่างยิ่งที่พสกนิกรไทยจะร่วมกันเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ ๗ รอบ ๘๔ พรรษา ในวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๔ ที่จะถึงนี้
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่ ๙) ทรงพระราชสมภพเมื่อวันจันทร์ที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๐ ณ โรงพยาบาลเมานท์ออเบอร์น เมืองเคมบริดจ์ รัฐแมสสาชูเซตส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา พระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์เดียวที่เสด็จพระราชสมภพในสหรัฐอเมริกา ทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ ๓ ในสมเด็จพระมหิตลาธิเบศรอดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก และสมเด็จพระศรีนครินทรา บรมราชชนนี (หม่อมสังวาลย์) ทรงมีพระเชษฐภคินี ๑ พระองค์ คือ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และทรงมีพระบรมเชษฐาธิราช ๑ พระองค์ คือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล (รัชกาลที่ ๘) ต่อมาเมื่อสมเด็จพระมหิตลาธิเบศรฯ เสด็จทิวงคต พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๗) ได้พระราชทานนามว่า "ภูมิพลอดุลยเดช” หมายถึง "พลังของแผ่นดิน” เสมือนจะบอกเป็นนัยว่าในภายภาคหน้าพระองค์จะเป็นกำลังสำคัญของแผ่นดินและเป็นศูนย์รวมดวงใจของพสกนิกรไทย
นับตั้งแต่ที่ทรงเสด็จขึ้นเถลิงถวัลย์ราชสมบัติในวันที่ ๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๙ พระองค์ทรงพระราชทานพระปฐมบรมราชโองการว่า "เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” ภาพแห่งความประทับใจนั้นก็ยังคงตราตรึงอยู่ในหัวใจของคนไทยตลอดมาแม้ว่าเวลาจะผ่านมา ๖๐ กว่าปีแล้ว และคงเป็นที่ประจักษ์ชัดแล้วว่า ตลอดระยะเวลาแห่งการครองราชย์ พระองค์ทรงดำรงอยู่ในทศพิธราชธรรม และทรงดำเนินพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่นานัปการ โดยเสด็จพระราชดำเนินไปยังพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศไทยไม่ว่าพื้นที่นั้นจะเป็นถิ่นทุรกันดาร แต่เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของพสกนิกร พระองค์จึงทรงงานโดยมิเห็นแก่ความเหนื่อยยาก โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริต่างๆ จึงเกิดขึ้นอยู่ในทุกภูมิภาคของประเทศ และทุกโครงการจะยึดถือประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้งทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริด้านการเกษตร การสาธารณสุข การส่งเสริมและพัฒนาอาชีพ การคมนาคม การสื่อสาร โดยเฉพาะเรื่องการจัดการทรัพยากรน้ำและการพัฒนาแหล่งน้ำ ด้วยสายพระเนตรอันยาวไกล พระองค์ทรงตระหนักดีว่าการขาดแคลนน้ำทำการเกษตรเป็นปัญหาที่สำคัญที่สุดของเกษตรกรไทย พระองค์จึงทรงงานเพื่อแก้ปัญหาเรื่องน้ำและจัดการให้เกิดสมดุลธรรมชาติตลอดมา สำหรับแนวพระราชดำริในการจัดการทรัพยากรน้ำแบ่งออกเป็น ๓ ลักษณะ ได้แก่ การจัดการในกรณีน้ำแล้ง น้ำเสียและน้ำท่วม
น้ำแล้ง เกิดจากสภาพภูมิประเทศ ภูมิอากาศ ฤดูกาลและการตัดไม้ทำลายป่า พระองค์ทรงมีพระราชดำริในการทรงงานแตกต่างกันไปตามภูมิภาค เช่น ภาคกลาง เป็นที่ราบลุ่ม บางส่วนติดชายทะเลและเป็นแหล่งการเกษตรที่สำคัญ ทรงมีพระราชดำริให้พิจารณาระบบชลประทานขนาดใหญ่ ได้แก่ การสร้างเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จังหวัดลพบุรี เขื่อนขุนด่านปราการชล จังหวัดนครนายก ภาคเหนือ มีภูเขาสูง ไม่เหมาะแก่ระบบชลประทานขนาดใหญ่ ทรงมีพระราชดำริให้พิจารณาฟื้นฟูป่าไม้และป่าต้นน้ำ สร้างฝายชะลอความชุ่มชื้น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นที่ราบสูงและร้อนแล้งปริมาณน้ำน้อย ทรงมีพระราชดำริเรื่องฝนหลวง และการสร้างระบบชลประทานขนาดกลางและเล็กจำนวนมาก ภาคใต้ มีชายฝั่งทะเล ป่าดิบชื้นและพรุ ปัญหาคือน้ำท่วมและขาดน้ำจืด ทรงมีพระราชดำริ เช่น ขุดลอกหนองบึงเพิ่มพื้นที่รองรับน้ำฝน สร้างประตูระบายน้ำปิดกั้นกักเก็บน้ำในฤดูน้ำหลากไว้ใช้ฤดูแล้ง เป็นต้น
น้ำเสีย เกิดจากการที่เมืองเจริญเติบโต ประชากรเพิ่มขึ้น และทิ้งสิ่งปฏิกูล ทรงมีพระราชดำริให้มีการบำบัดน้ำเสียด้วยเครื่องกลเติมอากาศแบบอัดอากาศและดูดน้ำ การสร้างเขื่อน เช่น เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เขื่อนขุนด่านปราการชล ที่สามารถส่งน้ำลงมาเจือจางน้ำเสียในแม่น้ำตอนล่างได้ ส่วนภาคใต้ซึ่งภูมิประเทศเป็นชายฝั่งทะเล ป่าดิบชื้น และป่าพรุ จะมีปัญหาน้ำเปรี้ยว น้ำเค็ม น้ำกร่อยและขาดน้ำจืด มีพระราชดำริให้มีการบังคับทิศทางน้ำด้วยประตูน้ำ เช่น ประตูอุทกวิภาชประสิทธิ์ ที่โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดนครศรีธรรมราช และโครงการพัฒนาลุ่มน้ำบางนรา อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดนราธิวาส
น้ำท่วม เกิดจากสภาพภูมิประเทศ ภูมิอากาศ ฤดูกาลและการตัดไม้ทำลายป่า ทรงมีพระราชดำริให้สร้างคันกั้นน้ำหรือพนังเลียบน้ำ เป็นคันดินขนาดเล็กห่างจากตลิ่ง สร้างทางผันน้ำโดยขุดคลองจากพื้นที่หรือคลองที่มีปัญหาน้ำท่วมเพื่อระบายน้ำไปยังลำน้ำสายอื่นหรือออกสู่ทะเล ปรับปรุงสภาพทางเดินน้ำให้ไหลสะดวกหรือเร็วขึ้น สร้างเขื่อนกักเก็บน้ำในฤดูน้ำหลาก เช่น เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จังหวัดลพบุรี ที่ช่วยกักน้ำไว้ไม่ให้ท่วมถึงกรุงเทพมหานครและปริมณฑล สร้างคันกั้นน้ำโอบล้อมพื้นที่อนุรักษ์พื้นที่ต้นน้ำลำธาร และปลูกป่าเพื่อให้ต้นไม้ช่วยดูดซับหรือชะลอน้ำ สำหรับในกรุงเทพมหานครทรงมีพระราชดำริเรื่องแก้มลิงเป็นพื้นที่รองรับน้ำ ได้แก่ แก้มลิงฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออกของเมือง รวมถึงการติดตั้งเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่สำหรับระบายน้ำออกจากพื้นที่ นอกจากนี้ ยังมีอีกหนึ่งโครงการในพระราชดำริ ในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมที่เกิดจากสาย พระเนตรอันยาวไกล คือ ประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ ซึ่งเป็นโครงการในการบริหารจัดการน้ำเพื่อแก้ปัญหา น้ำท่วมกรุงเทพฯ โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯประทับเรือพระที่นั่งอังสนา เสด็จฯทางชลมารคจากโรงพยาบาลศิริราช เพื่อทรงเปิดประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์อย่างเป็นทางการที่ ต.ทรงคะนอง อ.พระประแดง จ. สมุทรปราการ ด้วย
เห็นได้ว่าตลอดระยะเวลาแห่งการครองราชย์ พระองค์ทรงงานหนักเพื่อประชาชนของพระองค์ตลอดมา แม้แต่เหตุการณ์ภัยพิบัติน้ำท่วมครั้งใหญ่ในพื้นที่หลายจังหวัดและกรุงเทพมหานครเมื่อเร็วๆ นี้ ซึ่งทำให้ประชาชนประสบความเดือดร้อนอย่างมาก แม้ในขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงพระประชวรและประทับรักษาพระวรกายอยู่ที่โรงพยาบาลศิริราช แต่พระองค์ก็ไม่เคยทอดทิ้งประชาชน ทรงพระราชทานแนวทางในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมให้แก่ผู้ที่เกี่ยวข้อง ตลอดพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์รวมถึงถุงยังชีพพระราชทาน เพื่อบรรเทาทุกข์และช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน ยังความปลาบปลื้มปิติแก่พสกนิกรที่ได้รับความเดือดร้อนอย่างหาที่สุดมิได้
ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และเนื่องในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะทรงเจริญพระชนมายุครบ ๘๔ พรรษา ในวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๔ ที่จะถึงนี้ ซึ่งนับเป็นมหามงคลสมัยพิเศษยิ่ง กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ได้จัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติ ได้แก่ กิจกรรม "หุ่นไทย หัวใจรักชาติ” หรือ มหกรรมหุ่นไทยสำหรับเยาวชน เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยจัดการแสดงหุ่นนานาชนิด ในวันศุกร์ที่ ๒ ธันวาคม ตั้งแต่เวลา ๐๙.๐๐ – ๑๖.๐๐ น. ณ หอประชุมเล็ก ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เพื่อเปิดพื้นที่ให้เด็กและเยาวชนด้อยโอกาสจากบ้านเมตตา บ้านปากเกร็ด บ้านราชวิถี หมู่บ้านสวัสดิการปากเกร็ด และบ้านนนทภูมิ รวมจำนวน ๖๐๐ คน ได้เข้าชมการแสดง ซึ่งประกอบด้วย การแสดงหุ่นช่างฟ้อน เรื่อง รอยรักเพลงหุ่น การแสดงหุ่นเงา คณะคิดบวกสิปป์ จากเวทีประกวด Thailand Got Talent การแสดงหุ่นละครเล็กโจหลุยส์ เรื่องรามเกียรติ์ ตอนหนุมานจับนางสุพรรณมัจฉา การแสดงหุ่นสายเสมา เรื่องเด็กชายกับใบโพธิ์ การแสดงหุ่นกระบอกจากบ้านตุ๊กตุ่นหุ่นกระบอกไทย เรื่อง พระรถเมรี นอกจากนี้ เด็กๆ และเยาวชนด้อยโอกาสจะได้ร่วมกิจกรรมเรียนรู้ดูหุ่น ปฏิบัติ และประดิษฐ์หุ่นอย่างง่ายๆ เพื่อนำกลับไปเป็นของที่ระลึกด้วย และอีกกิจกรรมที่น่าสนใจอย่างยิ่งก็คือ การจุดเทียนชัยถวายพระพรออนไลน์ในรูปแบบของโลกเสมือนจริง หรือ Virtual World โดยการจำลองสถานที่ลานวัฒนธรรม ที่ยิ่งใหญ่สวยงามบนโลกไซเบอร์ ซึ่งทุกท่านสามารถเข้าไปชมนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ ภาพยนตร์ส่วนพระองค์ และชมม่านน้ำที่สวยงามตระการตา โดยมีพระบรมมหาราชวังเป็นฉากหลัง เพื่อความยิ่งใหญ่สมพระเกียรติ ซึ่งประชาชนทั่วไปจะสามารถเข้าร่วมกิจกรรมนี้ได้ผ่าน www.culture.go.th
กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ขอเชิญชวนประชาชนไทยทุกคนเข้าร่วมกิจกรรมโครงการจุดเทียนชัยถวายพระพร เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว บนลานวัฒนธรรม ได้ที่ www.culture.go.th ตั้งแต่วันที่ ๓ – ๓๑ ธันวาคม ๒๕๕๔ และที่พิเศษสุดในวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๔ ซึ่งเป็นวันมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๔ พรรษา ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะมีการจุดเทียนชัยถวาย พระพรพร้อมกันในโลกเสมือนจริงบนลานวัฒนธรรม ในเวลา ๑๙.๐๐ น. เพื่อร่วมแสดงถึงความจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและร่วมถวายพระพรให้พระองค์ทรงพระเจริญ มีพระชนมายุยิ่งยืนนานเป็นมิ่งขวัญของปวงชน ชาวไทยตราบนานเท่านาน
********************************
ข้อมูลอ้างอิงจากหนังสือสารานุกรมพระราชกรณียกิจ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรอบ ๖๐ ปี แห่งการครองราชย์
สำนักประชาสัมพันธ์และเทคโนโลยีสารสนเทศ
กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม
|