กรมส่งเสริมวัฒนธรรม
เว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้
font size small font size normal font size big
หน้าแรก
Search


ข่าวสาร >> บทความ >> วัฒนธรรมประเพณี
ทำไมต้องจุดเทียน ๒ เล่ม และธูป ๓ ดอก ในพิธีทางพุทธศาสนา

วันที่ 22 ธ.ค. 2563
 

     พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) เจ้าอาวาสวัดญาณเวศกวัน ต.บางระทึก อ.สามพราน จ.นครปฐมได้กล่าวถึงเรื่องการจุดเทียน ๒ เล่ม ไว้ในหนังสือ "ตามพระใหม่ไปเรียนธรรม” ว่า "เทียนเป็นเครื่องหมายของการบูชาพระธรรม จะเห็นว่าการบูชาด้วยเทียนนี้ ใช้เทียน ๒ เล่ม เพราะพระพุทธศาสนานั้นแยกเป็น ๒ ส่วน คือ ธรรม กับ วินัย เราเรียกว่า พระธรรมวินัย เป็นชื่อแท้ของพระพุทธศาสนา ดังนั้น
 
     การจุดเทียนบูชาพระธรรมนั้นนิยมจุดบูชาครั้งละ ๒ เล่ม โดยมีความหมายว่า พระธรรมอันเป็นคำสั่งสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น มี ๒ ประเภทคือ พระวินัย สำหรับฝึกหัดกาย วาจาให้เป็นระเบียบเรียบร้อยและพระธรรมสำหรับจิตใจให้ระงับความชั่วและทุจริตทุกประการ เทียน ๒ เล่มก็เพื่อบูชาพระวินัย ๑ เล่ม และบูชาพระธรรม ๑ เล่ม เทียนสำหรับบูชาพระธรรมนั้นนิยมใช้เทียนเล่มใหญ่พอสมควรแก่เชิงเทียนการใช้เทียนบูชาพระธรรมนั้นเพื่อแสดงว่าเทียนที่จุดขึ้น ณ ที่ใดย่อมกำจัดความมืดของสถานที่นั้น ๆ ออกไปทำให้เกิดความสว่างเปรียบได้กับพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้านั้น หากผู้ใดได้ศึกษาจนเกิดความรู้ความเข้าใจแล้วย่อมกำจัดความมืด คือ โลภะ โทสะ โมหะ ซึ่งเป็นความโง่เขลาเบาปัญญาในจิตใจของบุคคลนั้น ๆ ให้หายหมดไป ทำให้เกิดแสงสว่างคือ ปัญญาขึ้นภายในจิตใจของตน
 
      ส่วนการจุดธูป ๓ ดอก หมายถึง การบูชาพระคุณของพระพุทธเจ้า ๓ ประการ ดังนี้
 
     ๑.พระปัญญาคุณ หมายถึง ปัญญาของพระพุทธเจ้าที่ทรงตรัสรู้พระธรรมด้วยพระองค์เอง ทรงเป็นผู้รู้ทั้งโลกและธรรม ดังพระนามที่ได้รับ เช่น สัมมาสัมพุทโธ วิชชาจรณสัมปันโน และโลกวิทู เป็นต้น
 
     ๒. พระบริสุทธิคุณ หมายถึง พระพุทธเจ้าทรงมีพระทัยบริสุทธิ์สะอาดปราศจากกิเลสเครื่องเศร้าหมอง คือ ความ โลภ ความโกรธ และความหลง จึงทรงเป็นผู้สิ้นกิเลสทั้งปวง
 
     ๓.พระมหากรุณาธิคุณ หมายถึง พระคุณของพระพุทธเจ้าที่ทรงตั้งพระทัยจะเผยแผ่พระธรรมสั่งสอนสรรพสัตว์ให้พ้นจากทุกข์ของพระองค์ที่มีต่อสัตว์โลก โดยเสด็จไปแสดงธรรมโปรดสัตว์ตั้งแต่ตรัสรู้จนปรินิพพาน ทรงฝึกอบรมสั่งสอนบุคคลทุกเพศทุกวัยทุกชั้นวรรณะให้บรรลุมรรคผลแห่งความดับทุกข์ อนึ่ง ในการกล่าวคำบูชาพระรัตนตรัยทั้ง ๓ ประการ ซึ่งชาวพุทธทุกท่านคงทราบดีและใช้อยู่เป็นประจำแล้วนั้น ในขณะที่กล่าวคำบูชาและขณะที่กราบ ขอให้น้อมจิต น้อมใจระลึกถึงคุณพระรัตนตรัยตามความหมายไปด้วยก็จะเป็นการดีและอาจก่อให้เกิดความปีติสุขเกิดขึ้นในจิตใจของเราด้วย
 
......................................
 
 
ลิขสิทธิ์ของ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม สำหรับใช้ประโยชน์เพื่อเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมและการศึกษา
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์ | การปฏิเสธความรับผิด (Disclaimer)