
"เต ชะ สุ เน มะ ภู จะ นา วิ เว” หรือ "หัวใจพระเจ้าสิบชาติ” เป็นบทสวดภาวนาหรือคาถาที่มีมาแต่โบราณ คณาจารย์สมัยก่อนได้กล่าวถึงอานุภาพไว้มากมายหลายประการไม่ว่าจะเป็นความสำเร็จในด้านโภคทรัพย์ เมตตามหานิยม ความแคล้วคลาดปลอดภัยจากภยันตรายต่างๆ ทั้งปวง หรือการอธิษฐานตามความปรารถนา เนื่องด้วยเป็นการขอพึ่งพระบารมีแห่งพระโพธิสัตว์ที่ได้บำเพ็ญธรรมอย่างยิ่งยวด ๑๐ ประการใน ๑๐ ชาติสุดท้าย ก่อนจะสำเร็จมรรคผลเป็นพระโคตมพุทธเจ้าในชาติที่เป็นเจ้าชายสิทธัตถะแห่งศากยวงศ์ โดยนำพยางค์แรกของแต่ละชาติมาท่องต่อกัน
สิบชาติสุดท้ายที่กล่าวถึงนี้ ปรากฏในมหานิบาตชาดก ที่แปลว่า ชาดกที่ชุมนุมเรื่องใหญ่ หรือที่โบราณเรียกว่า "ทศชาติ” (ชาดก คือ เรื่องราวที่เป็นอดีตชาติของพระโคตมพุทธเจ้า สมัยที่ยังทรงเป็นพระโพธิสัตว์บำเพ็ญบารมีอยู่ โดยเกิดเป็นมนุษย์บ้าง เป็นสัตว์บ้าง แล้วพระองค์ทรงนำมาเล่าให้พระสงฆ์ฟังในโอกาสต่างๆ เพื่อแสดงหลักธรรมที่ทรงประสงค์ ด้วยลักษณะชาดกเป็นเรื่องเล่าคล้ายนิทาน บางครั้งจึงเรียก นิทานชาดก ซึ่งชาดกที่ทรงเล่านั้นมีหลายร้อยเรื่อง แต่เรื่องที่รู้จักกันดีคือ "ทศชาติชาดก” นั่นเอง) โดยในชาดกดังกล่าว ได้เล่าถึงพระโคตมพุทธเจ้าว่า ทรงบำเพ็ญบารมีธรรมเรื่องใดในแต่ละชาติ ดังนี้
-ชาติที่ ๑ เกิดเป็นพระเตมีย์ บำเพ็ญเนกขัมมบารมี
-ชาติที่ ๒ เกิดเป็นพระมหาชนก บำเพ็ญวิริยบารมี
-ชาติที่ ๓ เกิดเป็นพระสุวรรณสาม บำเพ็ญเมตตาบารมี
ชาติที่ ๔ เกิดเป็นพระเนมิราช บำเพ็ญอธิษฐานบารมี
ชาติที่ ๕ เกิดเป็นพระมโหสถ บำเพ็ญปัญญาบารมี
ชาติที่ ๖ เกิดเป็นพระภูริทัต บำเพ็ญศีลบารมี
ชาติที่ ๗ เกิดเป็นพระจันทกุมาร บำเพ็ญขันติบารมี
ชาติที่ ๘ เกิดเป็นพระนารทะ บำเพ็ญอุเบกขาบารมี
ชาติที่ ๙ เกิดเป็นพระวิฑูร บำเพ็ญสัจจบารมี
ชาติที่ ๑๐ เกิดเป็นพระเวสสันดร บำเพ็ญทานบารมี
สำหรับชาดกทั้ง ๑๐ ชาติ มีความย่อ ดังต่อไปนี้
ชาติที่ ๑ เตมียชาดก ได้ทรงบำเพ็ญเนกขัมมบารมี คือ การออกบวช หรือออกจากกาม เล่าถึงพระเตมียกุมารที่ทรงสลดพระทัย เมื่อเห็นราชบุรุษลงโทษโจรตามคำสั่งของพระราชา เพราะระลึกถึงอดีตชาติได้ว่า เมื่อเป็นพระราชา หลังกระทำพิพากษาลงโทษคนแล้ว ครั้นสิ้นชีวิต ก็ต้องไปเสวยผลกรรมในนรก จึงได้แสร้งทำเป็นคนหูหนวก เป็นใบ้ ไม่พูดจากับใคร แม้จะถูกทดลองต่างๆ ก็อดกลั้นไว้ ไม่แสดงอาการพิรุธ เพราะปรารถนาจะออกบรรพชามากกว่าการครองราชย์ จนสุดท้ายพระราชบิดาได้รับสั่งให้สารถีพาพระองค์ขึ้นรถไปฝัง พระองค์จึงได้โอกาสสอนสารถีจนเลื่อมใสจะขอออกบวชด้วย แต่ก่อนบวช สารถีได้นำความกลับไปกราบทูลพระราช บิดามารดาของพระองค์ได้ทรงทราบ ทั้งสองพระองค์ก็ยังคิดจะตามให้กลับไปครองราชสมบัติอีก แต่เมื่อเตมียกุมารได้ถวายหลักธรรมให้ยินดีในเนขัมมะ คือ การออกจากกาม ก็ทรงเลื่อมใสในคำสอน จนในที่สุดต่างก็ออกผนวชตาม
ชาติที่ ๒ มหาชนกชาดก ได้ทรงบำเพ็ญวิริยบารมี คือ ความพากเพียร เล่าถึงพระมหาชนกกุมารที่เดินทางไปค้าขายทางทะเล แล้วเรือแตก ขณะที่คนทั้งหลายตื่นตกใจ บ้างจมน้ำตายบ้าง เป็นเหยื่อสัตว์น้ำบ้าง พระองค์กลับตั้งสติ กำหนดทิศทางที่จะไปยังกรุงมิถิลา แล้วพยายามว่ายน้ำด้วยความพากเพียร ไม่ย่อท้ออยู่ถึง ๗ วัน ๗ คืน จนนางมณีเมขลา เทพธิดาผู้รักษามหาสมุทรได้มาช่วยเหลือ จึงรอดชีวิต และต่อมายังได้ครองราชสมบัติ ณ กรุงมิถิลา อีกด้วย
ชาติที่ ๓ สุวรรณสามชาดก ได้ทรงบำเพ็ญเมตตาบารมี คือ การมีเมตตาจิต เล่าถึงสุวรรณสามที่ เลี้ยงดูบิดามารดาที่ตาบอดอยู่ในป่า ด้วยความที่มีนิสัยเมตตากรุณาทำให้สัตว์ต่างๆ เดินตามมาแวดล้อมอยู่เสมอ วันหนึ่งถูกปิลยักษ์เจ้ากรุงพาราณสียิงด้วยธนูพิษ เพราะเข้าใจผิดคิดว่า สุวรรณสามเป็นสัตว์ไปด้วย แต่กระนั้นสุวรรณสามก็มิได้ถือโทษโกรธเคือง ก่อนตายได้ขอให้เจ้ากรุงพาราณสีช่วยดูแลพ่อแม่ของตนให้ด้วย เมื่อเจ้ากรุงพาราณสีไปพบบิดามารดาของสุวรรณสาม ทั้งสองคนก็ขอให้พามาหาลูกชายเป็นครั้งสุดท้าย เมื่อเห็นศพลูกชายทั้งสองก็รู้สึกเศร้าสลดใจยิ่งนัก ต่างได้พูดถึงคุณความดีต่างๆ ของสุวรรณสามที่มีต่อตน จนเหล่าเทวดานางฟ้าได้ยินเข้า เห็นใจถึงความเป็นบุตรกตัญญู และความมีเมตตาเป็นนิตย์ จึงได้ช่วยให้สุวรรณสามฟื้นคืนชีพ และทำให้พ่อแม่ของสุวรรณสามกลับมามองเห็นได้อีกครั้งหนึ่ง
ชาติที่ ๔ เนมิราชชาดก ได้ทรงบำเพ็ญอธิษฐานบารมี คือ ความตั้งใจอย่างเด็ดเดี่ยว มุ่งมั่นว่าจะทำเรื่องนั้น เรื่องนี้ และทำจนสำเร็จ เล่าถึงพระเจ้าเนมิราช ทรงสนพระทัยในการให้ทาน รักษาอุโบสถศีล และปฏิบัติธรรมอยู่เสมอตั้งแต่ทรงพระเยาว์ ครั้นเมื่อได้ครองราชย์แทนพระบิดาที่ออกบรรพชา ก็ยังให้ทาน รักษาศีลอยู่มิได้ขาด อีกทั้งยังสอนให้ประชาชนทำบุญ รักษาศีลเช่นเดียวกับพระองค์ ผลแห่งความดีนี้จึงเป็นที่สรรเสริญไปทั่ว พระองค์เคยสงสัยว่าถือศีลกับให้ทาน อย่างใดจะมีอานิสงส์มากกว่ากัน พระอินทร์ได้มาตอบว่า ถือศีลจะมีมากกว่าให้ทาน แต่ทั้งสองอย่างถือเป็นสิ่งที่ควรปฏิบัติ ขอให้พระองค์ทรงอุตสาหะหมั่นเพียรทำไปพร้อมๆกัน พระองค์จึงได้อบรมสั่งสอนไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินให้ปฏิบัติตาม ต่อมาพระอินทร์ได้ให้มาตุลีเทพบุตรพาพระเจ้าเนมิราชไปชมสวรรค์และนรก และเชิญให้พระองค์เสวยสุขอยู่บนสวรรค์ พระองค์ไม่รับ แต่กลับมายังเมืองมนุษย์และสั่งสอนผู้คนให้ประกอบคุณงามความดีต่อไปเพื่อจะได้ไม่ตกนรก ต่อมาก็ได้สละราชสมบัติและออกบรรพชา
ชาติที่ ๕ มโหสถชาดก ได้ทรงบำเพ็ญปัญญาบารมี เล่าถึงมโหสถบุตรเศรษฐีแห่งเมืองมิถิลา เมื่อแรกเกิดได้ถือแท่งยาวิเศษออกมาด้วย จึงได้ชื่อดังกล่าว ซึ่งต่อมายังใช้รักษาคนเจ็บไข้ได้ป่วยให้หายได้อย่างน่าอัศจรรย์ ตั้งแต่เล็กจนโตท่านได้ช่วยแก้ไขปัญหา ข้อพิพาทต่างๆ ให้เพื่อนบ้านด้วยสติปัญญาอันเฉียบแหลม รวมทั้งสามารถแก้ปัญหาที่ถูกพระราชานำมาทดสอบจนเป็นที่พอพระทัย เมื่อได้รับแต่งตั้งให้เป็นราชบัณฑิตประจำสำนัก ยังได้แสดงสติปัญญาช่วยบริหารบ้านเมืองของพระเจ้าวิเทหะด้วยดีมาตลอด ที่สำคัญคือได้ช่วยแก้ไขสถานการณ์คับขัน จนสามารถป้องกันภัยคุกคามจากกองทัพศัตรู และเปลี่ยนศัตรูมาเป็นมิตรได้
ชาติที่ ๖ ภูริทัตชาดก ได้ทรงบำเพ็ญศีลบารมี คือ การรักษาศีล เล่าถึงภูริทัตนาคราช ที่ตั้งความปรารถนาอยากไปเกิดในเทวโลก จึงไปรักษาอุโบสถศีลอยู่ที่จอมปลวกแห่งหนึ่งในเมืองมนุษย์ และได้ตั้งสัจอธิษฐานว่า "แม้ผู้ใดต้องการหนัง เอ็น กระดูก เลือดเนื้อของตน ก็จะยอมบริจาคให้ ขอเพียงให้รักษาศีลได้บริสุทธิ์ก็พอ” ครั้นต่อมาถูกพราหมณ์หมองูผู้รู้มนต์จับตัวไป และนำไปเที่ยวแสดงละครหาเงินตามที่ต่างๆ ภูริทัตนาคราชก็มิได้โกรธเคือง ยอมทำตามนั้น จนวันหนึ่งนาคพี่ชายน้องชายมาพบเข้า จึงเข้าช่วยเหลือให้รอดพ้นมาได้ นาคพี่ชาย แค้นเคืองพราหมณ์มาก ต้องการฆ่าให้ตาย แต่ท่านได้ห้ามไว้ เพราะกลัวตกนรก และไม่อยากเสียสัจจะที่กล่าวไว้ หลังจากได้รับอิสรภาพ พญานาคภูริทัตก็ได้มุ่งมั่นรักษาอุโบสถศีลต่อจนตลอดชีวิต
ชาติที่ ๗ จันทกุมารชาดก ได้ทรงบำเพ็ญขันติบารมี คือ ความอดทน เล่าถึงจันทกุมารโอรสของ พระเจ้าเอกราชได้ช่วยประชาชนให้พ้นจากคดีที่กัณฑหาลพราหมณ์ ราชปุโรหิตตัดสินไม่เป็นธรรม เพราะรับสินบนมา ทำให้ประชาชนพากันเลื่อมใสในพระองค์ ขณะเดียวกันก็ทำให้กัณฑหาลพราหมณ์ผูกใจอาฆาต จนวันหนึ่งได้โอกาสแก้แค้น เพ็ดทูลพระเจ้าเอกราชให้ตัดเศียรโอรสธิดาและมเหสีบูชายัญ เพื่อหาทางไปเทวโลกตามที่พระองค์สุบินและอยากไป ซึ่งพระราชาผู้โง่เขลาก็เชื่อและทำตาม แม้ใครจะห้ามปรามก็ไม่ฟัง ส่วนจันทกุมารแม้ความตายจะมาเยือน ก็ทรงอดทนไม่ตอบโต้ ไม่โกรธเคืองศัตรูผู้มุ่งร้าย ร้อนถึงพระอินทร์ต้องมาข่มขู่และชี้แจงว่าวิธีนั้นมิใช่ทางไปสวรรค์ พระราชาจึงยอมเชื่อ มหาชนที่โกรธแค้นจึงรุมฆ่าพราหมณ์ชั่ว แล้วเนรเทศพระเจ้าเอกราชให้ออกจากเมืองไป จากนั้นได้กราบทูลจันทกุมารขึ้นครองราชย์แทน
ชาติที่ ๘ นารทชาดก ได้ทรงบำเพ็ญอุเบกขาบารมี คือ การวางเฉย หรือวางใจเป็นกลาง เล่าถึงพระเจ้าอังคติราช กษัตริย์ที่เคยปกครองบ้านเมืองด้วยทศพิธราชธรรม จนวันหนึ่งได้สนทนาธรรมกับนักบวชชีเปลือยคุณาชีวกะ ทำให้พระองค์หลงผิด ไม่เชื่อเรื่องบาปบุญคุณโทษ จึงละเว้นการรักษาศีลทำทานอย่างที่เคย แต่กลับไปโปรดปรานมหรสพงานรื่นเริงต่างๆ แทน แม้รุจาราชกุมารีผู้ระลึกชาติได้ จะบอกเล่าถึงผลกรรมต่างๆ ที่เคยประสบมา พระราชบิดาก็ไม่เชื่อ จึงอธิษฐานขอให้เทพยดาฟ้าดินมาช่วย ครั้งนั้นท้าวมหาพรหมนามว่า พระนารทะ จึงได้จำแลงกายเป็นนักบวชไปแสดงธรรมเทศนาสั่งสอน จนพระเจ้าอังคติราชสามารถละมิจฉาทิฏฐิ และกลับมาปฏิบัติตนอยู่ในศีลในธรรมได้ดังเดิม ซึ่งการบำเพ็ญอุเบกขาหรือวางเฉยนั้น ได้มีผู้อธิบายไว้ว่า มิใช่การวางเฉยแบบไม่ยินดียินร้ายต่อสิ่งใด แต่หมายถึง การวางเฉยด้วยปัญญา ไม่ทำสิ่งใดด้วยความโลภ โกรธ หลง แต่มองอย่างเป็นกลาง เป็นการปล่อยวางอย่างรู้เท่าทันโลก อย่างที่พระมหาพรหมนารทะ แม้ท่านจะเป็นพรหมที่ต้องดูแลสัตว์โลก แต่ท่านก็มิได้ใช้อำนาจมาทำร้ายผู้มีมิจฉาทิฏฐิทั้งหลาย ขณะเดียวกันเรื่องพระอังคติราชท่านก็มิได้วางเฉย เมื่อเห็นว่าช่วยได้และเป็นประโยชน์ ก็มาช่วย แม้ตอนแรกพระอังคติราชจะพูดจาจาบจ้วงหรือแสดงกริยาไม่ดีต่อท่าน ท่านก็ไม่โกรธ วางเฉยต่อสิ่งเหล่านั้นและสอนด้วยความเมตตา จนทำให้พระองค์ละทิ้งความเห็นผิดได้ในที่สุด
ชาติที่ ๙ วิฑูรชาดก ได้ทรงบำเพ็ญสัจจบารมี คือ ความสัตย์ เล่าถึงวิฑูรบัณฑิต ซึ่งเป็นผู้ถวายคำแนะนำประจำราชสำนักของพระเจ้าธนัญชัยโกรพ ท่านเป็นผู้ที่พระราชาและประชาชนรักใคร่นับถือมาก วันหนึ่งปุณณกยักษ์ได้มาท้าพระเจ้าธนัญชัยโกรพเล่นสกา โดยมีเงื่อนไขว่าถ้าตนแพ้จะถวายรัตนมณีอันวิเศษให้ ถ้าพระราชาแพ้ก็ต้องพระราชทานทุกสิ่งที่ตนต้องการ เว้นแต่พระวรกายของพระองค์ ราชสมบัติ และพระมเหสี ปรากฏว่ายักษ์ปุณณกชนะ จึงทูลขอตัววิฑูรบัณฑิตไป พระราชาไม่อยากพระราชทานให้ จึงพยายามหน่วงเหนี่ยวด้วยวิธีต่างๆ แต่ขณะเดียวกันกลัวเสียสัตย์ จึงตกลงไปถามวิฑูรบัณฑิตให้ตัดสิน วิฑูรบัณฑิตจึงตัดสินให้รักษาสัตย์และยอมไปกับยักษ์ ซึ่งอันที่จริงทั้งหมดเป็นอุบายของมเหสีพญานาคที่ต้องการสดับธรรมของวิฑูรบัณฑิต แต่เนื่องจากการพบตัววิฑูรบัณฑิตเป็นไปได้ยาก เพราะพระราชาไม่ยินยอมง่ายๆ จึงตกลงกับสวามีว่า หากปุณณกยักษ์ที่มาหลงรักพระธิดาของตน อยากได้พระธิดาไป ก็ให้นำหัวใจของวิฑูรบัณฑิตมาแลก ยักษ์จึงไปท้าเล่นสกาดังกล่าว แต่ภายหลัง นอกจากฆ่าวิฑูรบัณฑิตไม่ได้แล้ว ยังกลับได้ฟังสาธุนรธรรม (ธรรมของคนดี) จนเกิดความเลื่อมใส อีกทั้งเมื่อวิฑูรบัณฑิตได้แสดงธรรมแก่พญานาคสมความตั้งใจแล้ว ก็ได้กลับสู่พระนครตามเดิม
ชาติที่ ๑๐ เวสสันดรชาดก ได้ทรงบำเพ็ญทานบารมี คือ การให้หรือบริจาคทาน เล่าถึงพระเวสสันดรผู้ใจดี บริจาคทุกอย่างตามที่มีคนขอ ไม่ว่าจะเป็นช้างเผือกคู่บ้านคู่เมือง ตลอดจนพระโอรสธิดา และพระนางมัทรีมเหสีก็ทรงบริจาคแก่ผู้อื่นจนหมดสิ้น ซึ่งเวสสันดรชาดกนี้ เรียกกันอีกอย่างว่า "มหาชาติ”เพราะเป็นชาติที่สำคัญยิ่ง ด้วยเป็นชาติสุดท้ายก่อนที่พระโคตมโพธิสัตว์จะได้เป็นพระพุทธเจ้า และเป็นชาติที่ทรงบำเพ็ญบารมีครบถ้วนทั้ง ๑๐ ประการ โดยเฉพาะการบำเพ็ญทานบารมีด้วยการบริจาคบุตรและภริยา อันเป็นสิ่งที่ปุถุชนกระทำได้ยาก อีกทั้งยังเป็นชาติที่แสดงให้เห็นถึงการเสียสละประโยชน์สุขส่วนตนเพื่อประโยชน์ส่วนรวม พุทธศาสนิกชนจึงเลื่อมใสศรัทธาและกล่าวถึงมากกว่าชาติอื่นๆ ดังที่เราจะได้เห็นว่า มีการเทศน์มหาชาติมาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยจนปัจจุบัน
..........................................................
น.ส.ทัศชล เทพกำปนาท ที่ปรึกษากรมส่งเสริมวัฒนธรรม
ภาพ : dhamma.serichon