กรมส่งเสริมวัฒนธรรม
เว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้
font size small font size normal font size big
หน้าแรก
Search


ข่าวสาร >> บทความ >> เล่าสู่กันฟัง
เล่าสู่กันฟัง...เรื่อง “เบญจศีล-เบญจธรรม”

วันที่ 27 พ.ย. 2563
 

 
      เมื่อพูดถึง "เบญจศีล” หรือ "ศีล ๕” คนส่วนใหญ่จะคุ้นเคยกันดี เพราะเมื่อมีงานเกี่ยวกับศาสนพิธีทางพุทธศาสนาก็จะต้องมีการอาราธนาศีลและสมาทานศีลด้วยทุกครั้ง แต่สำหรับ "เบญจธรรม”หลายคนอาจจะไม่ค่อยได้ยินสักเท่าไร ทั้งนี้ อาจเป็นเพราะเป็นสิ่งที่ปฏิบัติกันโดยอัตโนมัติ เมื่อ "ละ” สิ่งหนึ่ง ก็ปฏิบัติอีกสิ่งหนึ่งไปโดยปริยาย ซึ่งเรื่องนี้จะขอนำมาเล่าสู่กันฟังต่อไป
 
     โดยปกติเมื่อเชิญพระภิกษุสงฆ์มาทำพิธีกรรมต่างๆไม่ว่าที่บ้าน ที่ทำงาน ที่วัด หรือสถานที่แห่งใด เรามักจะพูดรวมๆว่า นิมนต์ท่านมาสวดมนต์ แต่แท้จริงแล้ว การสวดดังกล่าวจะเรียกต่างกันเป็น ๒ นัย คือ ถ้าพูดว่า "สวดพระพุทธมนต์” จะใช้กับงานอวมงคล อย่างงานศพ ส่วนงานมงคลหรืองานที่นำมาซึ่งความเจริญมาให้อย่าง งานแต่งงาน งานขึ้นบ้านใหม่ งานวันเกิด จะใช้คำว่า "เจริญพระพุทธมนต์”
 
     นอกจากนี้ ก่อนที่พระจะเริ่มพิธีสวดหรือเจริญพระพุทธมนต์นั้น เราจะต้องทำ ๒ อย่างคือ อาราธนาศีลและสมาทานศีล ซึ่งการอาราธนาศีล คือ การร้องขอศีลจากพระ (อาราธนาทางคำวัดหมายถึง เชื้อเชิญ อ้อนวอน ร้องขอ) เมื่อพระให้ศีลแล้ว เราก็สมาทานศีล นั่นคือ รับศีลนั้นไปเป็นข้อปฏิบัติ (สมาทานแปลว่า รับไปปฏิบัติ)
 
     ขั้นตอนอาราธนาจะขึ้นต้นด้วย "มะยัง ภันเต....จนจบที่ ตะติยัมปิ มะยัง ภันเต.....ปัญจะสีลานิยาจามะ” อันหมายถึงการที่เราขอรับศีลและไตรสรณคมน์ เมื่อพิธีกรอาราธนาศีลแล้ว ประธานสงฆ์จะหยิบตาลปัตรขึ้น และกล่าวบทสวดนมัสการพระพุทธเจ้าที่ว่า "นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ” ๓ จบ ฆราวาสก็ว่าตาม ๓ จบ จากนั้นพระท่านก็จะกล่าวบทไตรสรณคมน์ ที่แสดงถึงการยึดเอาพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์เป็นที่พี่ง ที่ว่า "พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ ....” เราก็ว่าตามท่านไป ขั้นต่อไป พระก็จะให้ศีลตามที่เราได้อาราธนา ทีละ ๑ ข้อ ผู้รับศีลก็ว่าตามที่ละข้อ ด้วยความตั้งใจว่าจะนำไปปฏิบัติตามลำดับ (ตรงนี้ก็คือ ศีล ๕ ที่ขึ้นด้วย ปาณาติปาตา เวระมะณี...) จากนั้นพระจะกล่าวปิดท้ายถึงอานิสงส์ของศีล หลังจบข้อ ๕ (ที่ขึ้นด้วยคำว่า "อิมานิ....จบที่ วิโสธะเย) ตรงนี้เราไม่ต้องกล่าวตาม แต่อาจจะไปกล่าวรับว่า "สาธุ”ตอนจบ ซึ่งการที่พระให้ศีลทีละข้อ และเราว่าตามนี้ ถือเป็นการยืนยันการรับศีลเพื่อนำไปปฏิบัติที่เรียกว่า "สมาทานศีล” นั่นเอง
 
     คำว่า "ศีล” มีหลายความหมาย อาจจะหมายถึง ความปกติตามระเบียบวินัย ข้อปฏิบัติในการเว้นจากความชั่ว หรืออาจหมายถึงพิธีกรรมและหลักปฏิบัติบางอย่างทางศาสนา เช่น ศีลจุ่ม ศีลอด แต่ในที่นี้จะหมายถึง ข้อปฏิบัติตนขั้นพื้นฐานทางพุทธศาสนา เพื่อควบคุมความประพฤติทางกาย วาจาให้ตั้งอยู่ในความดีงาม มีความปกติสุข เป็นกติกาข้อห้ามในการแก้ปัญหา และทำให้สังคมเกิดความสงบสุข ไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน หากจะแบ่งการถือศีลแบบง่ายๆ น่าจะได้ ๓ ระดับคือ ระดับต้น ได้แก่ ศีล ๕ สำหรับฆราวาสผู้ครองเรือน ระดับกลาง ได้แก่ ศีล ๘ สำหรับผู้ถือพรหมจรรย์ อย่าง แม่ชี ผู้ปฏิบัติธรรม และศีล ๑๐ สำหรับสามเณร ส่วนระดับสูง ได้แก่ ศีล ๒๒๗ ข้อ สำหรับภิกษุ และศีล ๓๑๑ ข้อ สำหรับภิกษุณี
 
     ศีล ๕ หรือ เบญจศีล จะเป็นข้อกำกับให้เราละเว้น ไม่ทำบาป ๕ ประการ ได้แก่
 
     ๑.ปาณาติปาตา คือ การละเว้นจากการฆ่าสัตว์ การเบียดเบียนสัตว์ รวมถึงการไม่ทำร้ายร่างกายคนหรือสัตว์
 
     ๒.อทินนาทาน คือ การละเว้นจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้ ด้วยการขโมย ปล้นจี้ ฉกชิงวิ่งราว การหลอกลวง การฉ้อโกง และการยักยอก เป็นต้น
 
      ๓.กาเมสุมิจฉาจาร คือ การละเว้นจากการประพฤติผิดในกาม ไม่ผิดสามี-ภริยาผู้อื่น รวมถึงหญิงหรือชายที่จารีตต้องห้าม เช่น พ่อแม่ พี่น้อง ปู่ย่าตายาย แม่ชี พระภิกษุสงฆ์ เป็นต้น
 
     ๔.มุสาวาท คือ ละเว้นจากการพูดเท็จ เช่น พูดปด พูดหยาบ พูดเพ้อเจ้อ พูดสับปลับ พูดผิดคำสัตย์ เป็นต้น
 
     ๕.สุราเมระยะ คือ ละเว้นจากการเสพสุรา น้ำเมา หรือยาเสพติดทั้งหลาย อันเป็นที่ตั้งของความประมาท
 
     เมื่อพูดถึงเบญจศีลหรือศีล ๕ อันเป็นข้อละเว้น ไม่ควรทำแล้ว หลักธรรมที่ควบคู่กันมาเสมอ ก็คือ เบญจธรรม หรือข้อที่ควรปฏิบัติ ๕ ประการ อันได้แก่
 
     ๑.เมตตากรุณา คือ ความรักและความปรารถนาดีที่มีต่อกัน เพราะเมื่อใดก็ตามที่บุคคลใดมีเมตตา ย่อมไม่ฆ่าและเบียดเบียนผู้อื่น ทำให้ไม่ผิดศีลข้อ ๑
 
     ๒.สัมมาอาชีวะ คือ การประกอบอาชีพสุจริต รู้จักใช้จ่าย รู้จักคำว่าพอเพียง ขณะเดียวกันก็จะมีหิริโอตตัปปะ คือ ความเกรงกลัวและละอายต่อบาป จึงไม่ทำผิดศีลข้อ ๒
 
     ๓.กามสังวรหรือความสำรวมอินทรีย์ คือ การระมัดระวังหู ตา จมูก ลิ้น กาย และใจ ทำให้ความใคร่ในกามคุณหรือการติดในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ลดน้อยลง เมื่อเกิดความสำรวม ก็จะไม่ทำให้ผิดศีลข้อ ๓
 
     ๔.สัจจะหรือความซื่อสัตย์ คือ การ พูดความจริง พูดตรง พูดสิ่งที่มีประโยชน์ ทำให้ไม่ผิดศีลข้อ ๔
 
     ๕.สติสัมปชัญญะ คือ การระลึกได้ การรู้สึกตัวอยู่เสมอ ไม่ปล่อยใจให้ไปตกเป็นทาสของความชั่วหรือสิ่งเสพติดต่างๆ ทำให้ไม่ผิดศีลข้อ ๕
 
      จะเห็นได้ว่า "เบญจศีล” และ "เบญจธรรม” เป็นหลักธรรมคู่ที่ส่งเสริมและสนับสนุนซึ่งกันและกัน ถือเป็นคุณธรรมจริยธรรมขั้นพื้นฐานในการดำรงชีวิต ซึ่งผู้ใดปฏิบัติย่อมส่งผลให้ผู้นั้นมีชีวิตที่ปกติสุข มีความเจริญก้าวหน้า มีความเป็นคนที่สมบูรณ์ ที่สำคัญยังทำให้เกิดผลดีต่อสังคมโดยส่วนรวมอีกด้วย
 
......................................................
 
น.ส.ทัศชล เทพกำปนาท ที่ปรึกษากรมส่งเสริมวัฒนธรรม
ลิขสิทธิ์ของ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม สำหรับใช้ประโยชน์เพื่อเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมและการศึกษา
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์ | การปฏิเสธความรับผิด (Disclaimer)