
ประเพณีผูกแขน (ผูกข้อมือ) ของภาคอีสานหรือภาคเหนือนั้น ไม่มีหลักฐานยืนยันชัดเจนว่ามีมาตั้งแต่เมื่อไหร่ ได้แต่คาดเดากันไปเท่านั้นว่าน่าจะมาจากความเชื่อของพราหมณ์ และผีที่เชื่อเรื่องเวทมนตร์ คาถาอาคมต่างๆ ที่สามารถเสกเป่าวัตถุต่างๆ ให้เกิดความเป็นสิริมงคลกับชีวิต อีกทั้งเมื่อคนไม่สบายหรือกลัวผี ผู้นำทางพิธีกรรม (พราหมณ์) ก็จะร่ายเวทมนตร์ใส่ลงในฝ้ายให้อาคมขลังอยู่ที่นั้น เมื่อนำไปผูกให้คนป่วยก็จะทำให้หาย หรือคนที่กลัวผีก็จะหายกลัวผี ส่วนคนที่สบายดีเมื่อผูกแล้วก็จะรู้สึกสบายใจขึ้นเหมือนมีสิ่งปกปักรักษา ดังนั้นจึงถือปฏิบัติสืบต่อกันมาจนเป็นประเพณีจนถึงปัจจุบัน
โดยฝ้ายผูกแขน จะใช้ด้ายดิบๆ นำมาจับเป็นวงยาวพอที่จะพันรอบข้อมือได้โบราณถือว่าคนธรรมดา ใช้วงละ ๓ เส้น ส่วนผู้ดีมีศักดิ์ตระกูลใช้ ๕ เส้น เมื่อวงแล้วให้เด็ดหรือดึงให้ขาดเป็นเส้นๆ ห้ามใช้มีดตัดจะใช้มีดตัดได้เฉพาะด้ายที่มัดศพเท่านั้น ปัจจุบันมีการทำฝ้ายหรือด้ายผูกแขนเป็นหลายสี เช่น สีส้ม สีเหลือง สีแดง เพื่อให้ดูมีความขลังหรือศักดิ์สิทธิ์ขึ้นตามความเชื่อ โดยเฉพาะพระสงฆ์ที่มีความชำนาญเกี่ยวกับอาคมต่างๆ มักจะทำฝ้ายหลายสีผูกแขนให้ประชนที่มาร่วมทำบุญที่วัดหรือนำไปบูชาที่บ้านในโอกาสต่างๆ แต่ตามประเพณีโบราณของชาวอีสานจริงๆ จะเป็นฝ้ายสีขาวอย่างเดียวเท่านั้น โดยผู้ที่ทำหน้าที่ผูกแขน ถ้าผูกเพื่อความเป็นสิริมงคลเพื่อให้หายเจ็บหายป่วย หายกลัว ให้อายุมั่นขวัญยืนจะเป็นพราหมณ์หรือผู้ที่ตั้งมั่นอยู่ในศีลในธรรมที่ชาวบ้านเคารพนับถือในคุณงามความดีเท่านั้น แต่ปัจจุบันการผูกแขนในงานอื่นๆ ทุกคนก็ผูกกันได้ทั้งนั้น แต่ทั้งนี้จะต้องให้พ่อพราหมณ์หรือคนเฒ่าคนแก่ผูกก่อนจึงค่อยผูกต่อๆ กันไปตามลำดับ เช่น พิธีแต่งงานของชาวอีสาน
ผู้รับการผูกแขน เดิมนั้นจะเป็นผู้ที่มีปัญหาต่างๆ อาทิ คนป่วย คนประสบอุบัติเหตุต่างๆ คนกลัวผี และคนที่ได้รับการสู่ขวัญในโอกาสงานมงคลต่างๆ ที่มีความเชื่อ ดังนี้
๑. ผูกแขนแม่มาน (หญิงตั้งครรภ์) เพื่อให้เกิดความเป็นสิริมงคลแก่หญิงมีครรภ์และลูกที่กำลังจะเกิดมา โดยญาติพี่น้องจะทำพิธีสู่ขวัญและผูกแขนให้
๒. ผูกแขนแม่ลูกอ่อน (หญิงคลอดบุตรใหม่ๆ) เพื่อให้เกิดความเป็นสิริมงคลแก่หญิงแม่ลูกอ่อนจะให้เลี้ยงลูกง่ายๆ มีน้ำนมให้ลูกดื่ม โดยญาติพี่น้องจะทำพิธีสู่ขวัญและผูกแขนให้
๓. ผูกแขนให้เด็กน้อย หมายถึงเด็กที่พึ่งคลอดใหม่ๆ ยังนอนแบเบาะ พ่อแม่ ญาติพี่น้องจะบอก พ่อพราหมณ์มาช่วยทำพิธีผูกแขนให้เพื่อความเป็นสิริมงคลกับชีวิต เพราะเชื่อว่าลูกน้อยจะได้เลี้ยงง่ายๆ โตไวๆ และมีสุขภาพแข็งแรง
๔. ผูกแขนคู่บ่าวสาว ในพิธีมงคลสมรส ซึ่งจะผูกหลังจากทำพิธีสู่ขวัญแต่งงานเสร็จแล้ว โดยพ่อ แม่ ญาติพี่น้องที่มาร่วมงานแต่ง จะผูกแขนด้วยฝ้ายสีขาวแล้วก็อำนวยอวยพรให้คู่บ่าวสาว ครองรักครองเรือน กันอย่างมีความสุข มีลูกเต็มบ้าน มีหลานเต็มเมือง ถือไม้เท้ายอดทองกระบองยอดเพชร
๕. ผูกแขนนาค จะผูกหลังจากทำพิธีสู่ขวัญเสร็จเพื่อให้เกิดความเป็นสิริมงคลกับชีวิต นอกจากนี้ การผูกแขนของชาวอีสานในโอกาสต่างๆ ยังมีให้เราได้พบเห็น เช่น เทศกาลปีใหม่ เทศกาลสงกรานต์ ที่ลูกหลานการกลับไปทำบุญเยี่ยมบ้านเวลาช่วงวันหยุดยาว ปู่ย่า ตายาย พ่อแม่ พี่ ป้า น้า อา เวลาลูกหลานไปเยี่ยมก็มักจะนำด้ายผูกแขน มาผูกแขนและอวยพรให้ลูกหลานถือเป็นการรับขวัญ และอวยพรให้มีความสุข ทำมาค้าขายเจริญรุ่งเรื่อง รับราชการก็ให้ได้เป็นใหญ่เป็นโตเป็นเจ้าคนนายคน เป็นความสุขทางใจทั้งผู้ให้และผู้รับ ฝ้ายผูกแขนเส้นเล็กๆ ที่ผูกไว้บนข้อมือด้านซ้ายเปรียบเหมือนสัญลักษณ์แทนความคิดถึง ความรัก ความห่วงใย จากคนทางบ้าน เป็นความสุขทางใจที่ประมาณค่าไม่ได้ ที่ส่งผ่านด้ายศักดิ์สิทธิ์ที่ผูกไว้บนข้อมือ
............................................
ที่มา : หนังสือ สืบสานตำนานงานบุญประเพณีอีสาน รวบรวมโดย สำลี รักสุทธี
ภาพ : www.weddinglist.co.th