
คนส่วนใหญ่คงเคยได้ยินคำด่า "ลูกทรพี” อันหมายถึง ลูกที่ไม่รู้คุณพ่อแม่หรือประทุษร้ายต่อพ่อแม่กันมาไม่น้อย หลายคนคงทราบว่าคำนี้มาจากไหน แต่ก็คงมีบางคนที่ไม่ทราบที่มาที่ไป จึงอยากจะนำมาเล่าสู่กันฟัง
คำว่า "ทรพี” นี้มาจากตอนหนึ่งของเรื่องรามเกียรติ์ เล่าถึงยักษ์ตนหนึ่งที่มีนามว่า "นนทกาล” มีหน้าที่เฝ้าประตูในอุทยานของพระอิศวร แอบหลงรักนางอัปสร "มาลี” ผู้มีหน้าที่เก็บดอกไม้ วันหนึ่งได้ไปล่วงเกินนางเข้า (บ้างแห่งก็ว่าเข้าไปปลุกปล้ำ บางแห่งก็ว่าแค่ปาดอกไม้ใส่นาง) ทำให้นางฟ้ามาลีไม่พอใจเลยไปฟ้องพระอิศวร พระองค์เลยสาปให้นนทกาลไปเกิดเป็นพญาควายเผือก ชื่อ "ทรพา” และจะพ้นคำสาปกลับมาทำหน้าที่เดิมได้ ก็เมื่อมีลูกชายชื่อ "ทรพี” ฆ่าตนตาย
ครั้น "ทรพา” ไปอาศัยอยู่ในป่า ก็มีเมียมากมาย เมื่อนางควายตัวใดมีลูกตัวผู้ก็จะถูกฆ่าทิ้งหมด จนมีนางควายตัวหนึ่งชื่อ "นิลา” แอบหนีไปคลอดลูกในถ้ำสุรกานต์เป็นตัวผู้ จึงเล่าเรื่องทรพาฆ่าลูก และฝากเทวดารักษาถ้ำให้ช่วยเลี้ยงดูลูกตน เทวดาได้ตั้งชื่อให้ลูกควายตัวนี้ว่า "ทรพี” และเมื่อ "ทรพี”เติบใหญ่ ก็พยายามจะวัดรอยตีนพ่อ จนเห็นว่าตีนตนโตเท่ากับพ่อแล้ว จึงมาท้าต่อสู้กับทรพาพ่อของตน และได้ฆ่าพ่อตนตายในที่สุด ด้วยเหตุนี้คำว่า "ทรพี” จึงใช้เป็นคำด่าว่าลูกที่ทำร้ายพ่อแม่
หลังจากฆ่าทรพาแล้ว ทรพีก็ได้เป็นหัวหน้าควบคุมฝูงควายแทนพ่อ ทำให้เกิดความเหิมเกริม คิดว่าตัวแน่กว่าใคร จึงเที่ยวท้าเจ้าป่าเจ้าเขา เทวดาทั้งหลายไปทั่ว และยังอาจหาญไปท้ารบกับพระอิศวรที่เขาไกรลาสอีกทำให้พระอิศวรทรงพิโรธ ตรัสบริภาษแล้วให้ไปท้าสู้กับพญาพาลีผู้ครองนครขีดขิน โดยสาปว่าให้ทรพีตายด้วยน้ำมือของพญาวานรผู้นั้น และเมื่อตายก็ให้ไปเกิดเป็นมังกรกัณฐ์ โอรสพญาขรผู้เป็นน้องทศกัณฐ์ และให้ตายด้วยศรพระรามในที่สุด ทรพีแม้ต้องคำสาปก็ยังไม่กลัวเกรง กลับบุกไปสู้กับพญาพาลีตั้งแต่เช้าจรดเย็น แต่ต่างก็ไม่สามารถเอาชนะกันได้ พญาพาลีเห็นว่าสู้กันในที่โล่งยากที่จะชนะ จึงออกอุบายให้ไปสู้กันในถ้ำสุรกานต์ สู้กันอยู่ ๗ วัน ๗ คืนก็ยังเอาชนะกันไม่ได้ เนื่องจากมีเทวดาอารักษ์ปกป้องทรพีไว้ตามที่แม่ควายเคยขอ พญาพาลีจึงคิดอุบายแกล้งถามทรพีว่าที่มันเก่งกาจปานนี้ คงเพราะมีผู้คอยช่วยเหลือคุ้มครองกระมัง ด้วยความหยิ่งยโส อวดดี ไม่รู้คุณเทวดาที่คอยปกปักรักษาตนดังบุพการี ทรพีจึงกล่าวอวดอ้างว่าตนเก่งด้วยตัวเอง หาได้มีใครหรือเทวดาหน้าไหนมาช่วยไม่ ได้ยินดังนั้น พญาพาลีจึงกล่าวต่อเหล่าเทวดาที่ปกป้องทรพีถึงความไม่รู้คุณของมัน เทวดาได้ฟังแล้วคงระอาในความยโสโอหังดังกล่าว จึงไม่ช่วยทรพีอีกต่อไป มันจึงถูกฆ่าตาย จากนั้นไปเกิดเป็นบุตรของพญาขรและถูกศรพระรามตายตามคำสาปของพระอิศวรในที่สุด
จะเห็นได้ว่า "ทรพี” นอกจากจะฆ่าพ่อแล้ว ก็ยังลืมตัวลืมพระคุณของเทวดาที่ทำหน้าที่เสมือนพ่อแม่ที่ช่วยดูแลตนจนเติบใหญ่ อีกทั้งยังปกป้องคุ้มครองตนให้พ้นภยันตรายต่างๆ ดังนั้น คำว่า "ทรพี” นอกจากจะมีความหมายถึงผู้ที่ทำร้ายพ่อแม่แล้ว ยังเป็นคำว่ากล่าวถึงผู้ที่เนรคุณต่อพ่อแม่ โดยอิงจากพฤติกรรมข้างต้นของทรพีในเรื่อง
อ่านมาถึงตรงนี้ บางคนอาจจะตั้งข้อสังเกตว่า พฤติกรรมของทรพาผู้เป็นพ่อก็ไม่ดีไปกว่าทรพีผู้เป็นลูก เพราะไล่ฆ่าลูกตัวผู้ทุกตัวมาก่อน แม้จะมีเหตุผลเนื่องมาจากคำสาปของพระอิศวร แต่การฆ่าลูกก็เป็นเรื่องไม่ถูกต้อง พอถูกลูกฆ่าบ้าง จะมาด่าว่าลูกฝ่ายเดียวก็ใช่ที่ แถมยังไม่เคยเลี้ยงดูทรพีมาด้วยซ้ำ จะเรียกว่ามีบุญคุณได้อย่างไร ซึ่งในแง่การเลี้ยงดูอุ้มชูลูกตามหน้าที่ของพ่อแม่ ก็คงถือได้ว่าไม่มีพระคุณ แต่กระนั้น เราก็ต้องยอมรับว่าการเป็น "ผู้ให้กำเนิดหรือผู้ให้ชีวิต” และความเป็น "พ่อ” ของทรพาอย่างไรก็ยังคงอยู่ ซึ่งการที่พ่อแม่ "ให้ชีวิต” จนเกิดมาเป็นตัวตนของเราได้นั้น ถือเป็นพระคุณอย่างหนึ่ง พระพุทธเจ้าได้เคยตรัสไว้ว่า การฆ่านั้นไม่ว่าจะฆ่าสัตว์เล็กสัตว์น้อย หรือฆ่าใครก็ล้วนเป็นบาปทั้งสิ้น แต่จะหนักหรือเบา ก็ขึ้นกับว่าเราทำบาปนั้นกับใคร ซึ่งการฆ่าพ่อแม่นั้นถือเป็นหนึ่งในอนันตริยกรรม หรือกรรมที่หนักที่สุด (ครุกรรม) ฝ่ายบาปอกุศลที่มีผลทันที ๕ อย่าง (คือ ฆ่าพ่อ ฆ่าแม่ ฆ่าพระอรหันต์ ทำร้ายพระพุทธเจ้าถึงกับพระโลหิตห้อ และสังฆเภท คือทำให้สงฆ์แตกแยกกัน) ส่วนพฤติกรรมความผิด-บาปของทรพา ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่ง ที่ใครจะวิพากษ์วิจารณ์ คิดเห็นอย่างไรก็อยู่ที่มุมมองของแต่ละคน เพราะเรื่องราวในวรรณคดีหรือวรรณกรรมก็ล้วนเป็นเรื่องที่แต่งขึ้นในแต่ละยุคแต่ละสมัย และมีในทุกชาติทุกภาษา ซึ่งอาจจะมีแนวคิดที่เหมือนหรือแตกต่างไปจากคนในยุคปัจจุบัน การอ่านเรื่องเหล่านี้ จะอ่านเพื่อความสนุกสนานบันเทิง หรือเพื่อเรียนรู้พินิจพิเคราะห์หาเหตุผล ข้อคิดเห็น ฯลฯ ก็แล้วแต่วัตถุประสงค์ของผู้อ่าน
........................................................
น.ส.ทัศชล เทพกำปนาท ที่ปรึกษากรมส่งเสริมวัฒนธรรม
ภาพ : www.classpublishing.com