กรมส่งเสริมวัฒนธรรม
เว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้
font size small font size normal font size big
หน้าแรก
Search


ข่าวสาร >> บทความ >> เล่าสู่กันฟัง
เล่าสู่กันฟัง...เรื่อง "เรื่องน่ารู้ของ ส้วม”

วันที่ 16 พ.ย. 2563
 

     คงไม่มีใครปฏิเสธว่า "ส้วม” เป็นสิ่งจำเป็นอย่างมากในชีวิตประจำวันของทุกคน ไม่ว่าจะปวดหนัก ปวดเบา เมื่อเข้าไปในส้วมแล้ว ล้วน "ปลดทุกข์” ให้เราได้ทั้งสิ้น เพราะว่าสถานที่ปลดทุกข์แห่งนี้มีความสำคัญต่อเราไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าปัจจัยสี่ ดังนั้น จึงอยากจะเล่าสู่กันฟังถึงเรื่องราวที่น่าสนใจของ "ส้วม” ดังนี้
 
     - ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานได้ให้ความหมายของ "ส้วม” ว่า สถานที่ที่สร้างไว้สำหรับถ่ายอุจจาระปัสสาวะโดยเฉพาะ มักทำเป็นห้อง นอกจากนี้คำว่า "ส้วม” ในภาษาอีสานยังหมายถึง ห้องนอน หรือถ้าเป็นกิริยายังหมายถึงการเอามือทั้งสองข้างโอบรัดเข้าไว้ในวงแขน เรียกว่า ส้วมกอด หรือ สวมกอด ก็ว่า
 
     -จากหนังสือ "ส้วมและเครื่องสุขภัณฑ์ในประเทศไทย” ของมนฤทัย ไชยวิเศษ ได้แจกแจงความหมายของคำว่า "ส้วม” ไว้อีกว่า ในภาษาล้านนา มีความหมายว่า "หิ้งบูชา” หรือที่นอนของพระ โดยเฉพาะของเจ้าอาวาส ส่วนทางอีสานหรือลาว "ส้วม”จะหมายถึง ห้องนอนของลูกสาวหรือเจ้าบ่าว-เจ้าสาวด้วย ส่วนคำอื่นที่หมายถึงส้วม ได้แก่ ห้องสุขา เวจ (เว็จ) ถาน (ส้วมของพระ) สีสำราญ และอุโมงค์ (สองคำหลังนี้เป็นคำเรียกสถานที่ขับถ่ายของผู้หญิงที่อยู่ในวังหรือผู้หญิงชาววังที่มิใช่เจ้านาย) สำหรับเจ้านายชั้นสูงหรือพระมหากษัตริย์จะใช้คำว่า "ห้องบังคน” อันเป็นคำมาจากภาษาเขมร
 
     -"ส้วมสาธารณะ” หรือที่สมัยก่อนเรียกว่า "เวจสาธารณะ” สร้างขึ้นครั้งแรก โดยกรมสุขาภิบาล อีกทั้งได้มีการออกพระราชกำหนดสุขาภิบาลกรุงเทพฯ พ.ศ.๒๔๔๐ เพื่อบังคับให้คนต้องขับถ่ายในส้วม (เพราะสมัยก่อนประชาชนทั่วไปยังไม่นิยมสร้างส้วมในบ้าน แต่จะขับถ่ายตามตรอกซอกซอย ถนนหนทาง ริมกำแพง ฯลฯ หรือเทลงน้ำ เป็นเหตุให้ส่งกลิ่นเหม็น สัตว์มาคุ้ยเขี่ย แมลงวันมาไต่ตอม และเกิดโรคระบาดตามมา) ซึ่งส้วมสาธารณะที่กรมสุขาภิบาลสร้างนี้จะกั้นเป็นห้องๆ เป็นห้องแถวไม้ยาว ประมาณ ๕-๖ ห้อง มักตั้งอยู่บนถนนสายสำคัญๆที่เป็นย่านการค้า หรือที่ๆมีผู้คนอยู่หนาแน่น เช่น ถนนเจริญกรุง ถนนบำรุงเมือง บริเวณวัด โรงพัก โรงพยาบาล เป็นต้น
 
     -"ห้องส้วม” หรือที่เรียกกันว่า "ห้องสุขา” ในปัจจุบัน นั้น คำว่า "สุขา” สันนิษฐานว่าน่าจะมาจาก ชื่อของ "กรมศุขาภิบาล” ที่ก่อตั้งขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๕ ซึ่งสมัยก่อนเรียกกันสั้นๆว่า "กรมศุขา” (ที่แปลว่าการบำรุงรักษาความสุข) โดยต่อมาเขียนเป็น "สุขาภิบาล” ดังนั้น ห้องสุขา ที่ย่อมาจากห้องสุขาภิบาล จึงหมายถึง ห้องที่สร้างโดยสุขาภิบาลสำหรับถ่ายอุจจาระและปัสสาวะ ทั้งนี้ การตั้งกรมดังกล่าวขึ้นก็เพื่อทำหน้าที่ในการรักษาความสะอาดของพระนครและป้องกันโรคระบาดในสมัยนั้น
 
     -ในวิกิพีเดีย ได้แบ่งประเภทส้วมในประเทศไทย เป็น ส้วมหลุม ถือเป็นส้วมแบบแรกที่คนไทยใช้ เป็นหลุมดินที่มีทั้งแบบหลุมแห้งและหลุมเปียก ขุดเป็นหลุมกลมหรือสี่เหลี่ยม แล้วปลูกตัวเรือนครอบหลุมไว้ ส้วมถังเท มีลักษณะคล้ายส้วมหลุม แต่ใช้ถังวางไว้ในหลุมใต้ฐานไม้สำหรับรองรับอุจจาระผู้ขับถ่าย แล้วค่อยนำไปเททิ้ง ซึ่งมักจะนำถังไปเททิ้งวันละครั้ง ส้วมบุญสะอาด ประดิษฐ์โดยนายอินทร์ บุญสะอาด ผู้ตรวจการสุขาภิบาลประจำอำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ลักษณะพิเศษคือมีกลไกป้องกันปัญหาการลืมปิดฝาหลุมถ่าย ส้วมคอห่าน ผู้ประดิษฐ์คือ พระยานครพระราม (สวัสดิ์ มหากายี) ผู้สำเร็จราชการมณฑลพิษณุโลก ได้คิดค้นการใช้หัวส้วมแบบคอห่านร่วมกับระบบบ่อเกรอะบ่อซึม ซึ่งคนทั่วไปมักเรียกว่า "ส้วมซึม” ทำให้การขับถ่ายในส้วมมีความสะดวกสบายและปลอดภัยยิ่งขึ้น ส้วมชักโครก เป็นส้วมที่มีส่วนประกอบค่อนข้างสลับซับซ้อน ที่เรียกว่าชักโครก คงเพราะเมื่อถ่ายเสร็จต้องชักคันโยกปล่อยน้ำลงมา และมีเสียงดังโครก จึงเรียกตามนั้น ผู้ประดิษฐ์ส้วมชักโครกรุ่นแรกขึ้นคือ เซอร์จอห์น แฮริงตัน ขุนนางชาวอังกฤษ เมื่อปี พ.ศ.๒๑๓๙ ต่อมาในปีพ.ศ.๒๓๑๘ อเล็กซานเดอร์ คัมมิงส์ ก็ได้พัฒนาส้วมชักโครกแบบใหม่ ให้ทำงานได้ดียิ่งขึ้น และเป็นต้นแบบของส้วมชักโครกที่ใช้งานในปัจจุบัน ในประเทศไทยส้วมชักโครกเป็นที่นิยมแพร่หลายหลังช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ เนื่องจากมีการสร้างบ้านแบบสมัยใหม่มากขึ้น จากนั้นก็นิยมต่อๆมาจนปัจจุบัน เพราะมีการออกแบบให้ทันสมัยและน่าใช้ยิ่งขึ้น
 
      -ห้องส้วมหรือห้องสุขาในต่างประเทศ จะมีคำเรียกต่างๆกัน เช่น Toilet , Rest Room, Lavatory, W.C (ย่อมาจาก Water Closet) และ Bathroom เป็นต้น ซึ่งเรามักจะคุ้นชินอยู่แล้ว แต่ที่แปลกกว่าที่อื่น คือ ประเทศเยอรมัน ที่เขาใช้คำว่า "Damen” (ดาเมน) กับห้องส้วมหญิง และคำว่า "Heren” (เฮอร์เร่น) กับห้องส้วมชาย ซึ่งหากเราไปจำภาษาอังกฤษที่ว่า Men แปลว่า ชาย และ Her ที่หมายถึงผู้หญิง แล้วเข้าตามนั้นละก้อ อาจจะมีการหน้าแตก เพราะเข้าผิดห้องได้ อย่างไรก็ดี ส่วนใหญ่ห้องส้วมทุกแห่ง มักจะมีสัญลักษณ์สากลเป็นรูปชาย-หญิงในแบบต่างๆติดไว้ เพื่อให้แยกออก ในหลายๆประเทศ นอกเหนือไปจากส้วมชักโครกแล้ว เรายังอาจพบ "โถอนามัย” ที่ฝรั่งเรียกว่า "Bidet” (อ่านว่า บิ-เด) ตั้งอยู่ข้างๆ ซึ่งจะมีหัวก๊อกน้ำติดอยู่ ก๊อกนี้บางแห่งจะมีทั้งน้ำร้อน-น้ำเย็นให้เลือก ประโยชน์ของมันมีหลายอย่าง เช่น ใช้ล้างชำระของสงวนหรือก้นหลังจากเสร็จภารกิจ ใช้ล้างเท้า ใช้ซักผ้า และใช้อาบน้ำเด็ก เป็นต้น
 
     -อาจเพราะว่าส้วมเป็นพื้นฐานที่สำคัญหนึ่งของสุขอนามัย อันมีผลต่อสุขภาพของคนทุกชาติทุกภาษา องค์การส้วมโลกจึงได้เสนอให้มี "วันส้วมโลก” (World Toilet Day –WTD) ขึ้นเมื่อปีพ.ศ.๒๕๔๔ เพื่อให้ประชาชนชาวโลกได้ตระหนักถึงปัญหาสุขาภิบาล ที่ยังมีคนทั่วโลกถึง ๔.๕ พันล้านที่มีส้วมไม่ได้มาตรฐานใช้ ซึ่งองค์การสหประชาชาติก็ได้มีมติอนุมัติอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ ๑๙ พฤศจิกายนตามข้อเสนอ วันดังกล่าวของทุกปีจึงถือเป็นวันส้วมโลก และถูกบรรจุให้เป็นหนึ่งในวันของสหประชาชาติ (วันอื่นๆ เช่น ๘ มี.ค.วันสตรีสากล , ๗ เม.ย. วันอนามัยโลก และ ๘ มิ.ย.วันมหาสมุทรโลก) ทั้งนี้ องค์การน้ำแห่งสหประชาชาติ เป็นผู้ดูแลหลักของวันส้วมโลก ซึ่งจะมีทั้งการให้ความรู้ การวางแผนจัดกิจกรรมต่างๆ การจัดทำเว็บไซต์ และการจัดทำหัวข้อพิเศษในแต่ละปี เช่น ในปี ค.ศ.๒๐๑๖ เป็นหัวข้อ Toilets and jobs ปีค.ศ.๒๐๑๙ เป็น Leaving No One Behind เป็นต้น สำหรับประเทศไทยเคยเป็นเจ้าภาพจัด "งานประชุมส้วมโลก” มาแล้ว เมื่อวันที่ ๑๖-๑๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๙ ซึ่งถือเป็นจุดสำคัญในการพัฒนาส้วมสาธารณะของบ้านเรา รวมถึงโครงการอื่นๆที่เกี่ยวข้อง
 
.................................................................
 
น.ส.ทัศชล เทพกำปนาท ที่ปรึกษากรมส่งเสริมวัฒนธรรม
ลิขสิทธิ์ของ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม สำหรับใช้ประโยชน์เพื่อเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมและการศึกษา
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์ | การปฏิเสธความรับผิด (Disclaimer)