กรมส่งเสริมวัฒนธรรม
เว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้
font size small font size normal font size big
หน้าแรก
Search


ข่าวสาร >> บทความ >> วัฒนธรรมประเพณี
ที่มาของบุหงาซีเระในประเพณีการแห่นก

วันที่ 26 ต.ค. 2563
 

     บุหงาซีเระ หรือบุหงาซือรี หมายถึง บายศรีประดิษฐ์แบบชาวไทยมุสลิมลักษณะหนึ่งโดยการนำดอกไม้สด ใบพลู มาประดิษฐ์ในลักษณะต่างๆให้สวยงามหลายรูปแบบ มีทั้งแบบดั้งเดิมและแบบสมัยใหม่ บุหงา แปลตาม ภาษามาลายู หมายถึง ดอกไม้ ส่วน ซีเระ แปลตามภามาลายู หมายถึง พลู
 
     เรื่องเล่าเกี่ยวกับการจัดพานบายศรี (บุหงาซีเระ ) ที่ใช้ร่วมในประเพณีการแห่นก มีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่า บรรพบุรุษของชาวไทยมุสลิมนั้นมีชื่อเสียงในงานศิลปะและงานประดิษฐ์อย่างมาก โดยเฉพาะการประดิษฐ์บุหงาซีเระเป็นที่ขึ้นชื่อมาแต่โบราณและเป็นที่นิยมจัดทำกันสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน แต่ไม่มีหลักฐานใดๆยืนยันว่าให้คนรุ่นหลังได้รับรู้ถึงประวัติความเป็นมาแต่อย่างใด มีเพียงคำบอกเล่าของบรรพบุรุษว่าชาวไทยมุสลิมส่วนใหญ่เมื่อจะจัดงานแทบทุกงานไม่ว่าจะเป็นงานแต่งงาน พิธีขลิบหนังหุ้มอวัยวะเพศชาย (เข้าสุหนัต) พิธีสู่ขอ พิธีรับขวัญเด็ก พิธีการจัดงานมหกรรมต่างๆ หรือขบวนแห่ตามประเพณีของชาวไทยมุสลิม มักจะใช้บายศรบุหงาซีเระมาประกอบในพิธีเหล่านี้ เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่เจ้าภาพ ถือเป็นสิ่งนำโชคและเพื่อความสวยงาม บางหมู่บ้านหรือบางตำบลก็จัดแข่งขัน การประดิษฐ์บุหงาซีเระขึ้น เพื่อเป็นการอนุรักษ์ศิลปะแห่งภูมิปัญญาของบรรพบุรุษไว้ไม่ให้สูญหายและเป็นประเพณีสืบต่อกันมาช้านานของจังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา และ จังหวัดนราธิวาส ที่มีความเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง
 
     ในงานประเพณีการแห่นก ขบวนบุหงาซีเระ (ขบวนบายศรี) มักเป็นขบวนหนึ่งที่ดึงดูดสายตาผู้ชมและนักท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี เนื่องจากเป็นขบวนที่มีการตกแต่งอย่างสวยงามโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ โดยผู้ทูนพานบายศรีต้องเป็นสตรีที่ได้รับการคัดเลือกว่าเป็นผู้ที่มีรูปร่างงดงาม สมส่วน แต่งกายด้วยเสื้อผ้าที่สวยงามหลากหลาย สีสันสดใสตามประเพณีท้องถิ่น พานที่ใส่บายศรี หรือที่เรียกว่า อาเนาะกาซอจะใช้พานทองเหลือง และนิยมใช้พานจำนวนคี่ คือ ๓, ๕, ๗ และ ๙ พาน ซึ่งใช้ในโอกาสแตกต่างกัน ดังนี้
 
     บุหงาซีเระ ๓ ชั้น ใช้ในโอกาสไม่สำคัญมาก เช่น พิธีเข้าสุหนัต พิธีแต่งงาน พิธีสูขอ พิธีขึ้นเปลรับขวัญเด็ก พิธีที่ต้องใช้ถือเดินร่วมในขบวนแห่ต่างๆ
 
     บุหงาซีเระ ๕ ชั้น ใช้ในพิธีต้องตั้งอยู่กับที่ เช่น บนขบวนรถแห่ เพราะมีขนาดใหญ่ ตั้งประดับขบวนรถ ใช้ตอนรับแขกบ้านแขกเมือง ใช้ในพีการต่างๆ เพื่อเป็นเกียรติ เช่น มหกรรมกินปลากะพง อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี ประเพณีการแห่นก
 
     บุหงาซีเระ ๗ ชั้น ใช้ในพิธีที่จัดยิ่งใหญ่งานมหกรรมต่างๆ เช่น ประเพณีการแห่นก
 
     บุหงาซีเระ ๙ ชั้น จัดทำขึ้นเพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี
 
     ประเพณีการแห่นก เป็นประเพณีพื้นเมืองของจังหวัดชายแดนภาคใต้ เช่น จังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลาและจังหวัดนราธิวาส ที่ได้มีการอนุรักษ์ สืบสาน ศิลปวัฒนธรรมอันงดงามนี้สืบเนื่องกันมาเป็นเวลานาน และเป็นสัญลักษณ์บ่งบอกถึงจิตใจชาวเมืองที่มีต่อแขกบ้านแขกเมืองผู้มาเยือนเป็นอย่างดี อีกทั้งยังช่วยส่งเสริมและอนุรักษ์ศิลปะพื้นบ้าน ได้แก่ ดนตรีท้องถิ่น ศิลปะการช่างแกะสลัก ศิลปะการประดิษฐ์ดอกไม้ ศิลปะการจัดพานบายศรี (บุหงาซีเระ) และศิลปะการร่ายรำสิละ รำกริช ไว้ให้ดำรงอยู่กับลูกหลานสืบไป
 
..........................................
 
ที่มา : ประเพณีและพิธีกรรม ๔ ภาคของไทย โดย พิมุต รุจิรากูล ,http://www.prapayneethai.com, https://sites.google.com/site/wathnthrmcanghwadpattani/ ,https://clib.psu.ac.th/southerninfo/
ภาพ : ภาพสแกนจากฟิล์มเก่า สงวนลิขสิทธิ์ ©ชมรมอนุรักษ์ฟิล์มเก่า (Facebook : ชมรมอนุรักษ์ฟิล์มเก่า ฟิล์มกระจก ภาพถ่ายขาวดำ)
ลิขสิทธิ์ของ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม สำหรับใช้ประโยชน์เพื่อเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมและการศึกษา
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์ | การปฏิเสธความรับผิด (Disclaimer)