
ประเพณีการแห่นก เป็นประเพณีพื้นเมืองอันเก่าแก่ของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา และจังหวัดนราธิวาส ที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาเป็นเวลาช้านาน โดยจัดขึ้นเป็นครั้งคราวเพื่อรับแขกบ้านแขกเมืองคนสำคัญ และบางครั้งก็มีจัดขึ้นเพื่อความรื่นเริงในพิธีการเข้าสุหนัต หรือที่เรียกว่า "มาโซยาวี” หรือจัดขึ้นเพื่อการประกวดเป็นครั้งคราว ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับทางศาสนาหรือประเพณีตามนักขัตฤกษ์แต่อย่างใด
โดยมีตำนานที่เล่าถึงที่มาของประเพณีการแห่นกว่า เริ่มขึ้นที่ยาวอ (ชวา) รายอองค์หนึ่งมีโอรสธิดาหลายพระองค์ พระธิดาองค์สุดท้ายเป็นที่รักใคร่ของพระบิดาอย่างยิ่ง พระบิดาและข้าราชบริพารรักใคร่เอาใจ สรรหาสรรพสิ่งมาบำเรอเอาใจ รวมทั้งมีการจัดทำนกประดิษฐ์ตกแต่งสวยงาม แล้วมีการจัดขบวนแห่นกวนรอบพระที่นั่งทำให้พระธิดาพอพระทัยมาก จึงโปรดให้มีการแห่นกทุก ๗ วัน แต่ยังมีบางตำนานเล่าว่ารายอมีโอรสธิดาสี่พระองค์ องค์สุดท้องเป็นชาย มีพระสิริโฉมงดงาม ทั้งยังทรงปฏิภาณไหวพริบ ฉลาดเฉียบแหลมกว่าพระเชษฐาและพระเชษฐภคินีทั้งหมด พระบิดาและพระมารดาจึงรักใคร่มากเป็นพิเศษ ทุกสิ่งทุกอย่างที่พระโอรสประสงค์ รายอ จะทรงเสาะแสวงหามาให้เสมอ วันหนึ่งรายอเสด็จประพาสทรงเบ็ด พบชาวประมงกลุ่มหนึ่งและได้สดับฟังเรื่องนกประหลาดจากทะเล ซึ่งหัวหน้าชาวประมงเล่าถวายว่า นกนั้นผุดจากท้องทะเลมีขนาดใหญ่ ดวงตาโตแดงก่ำ มีงวง มีงา และเขี้ยว ประหลาดน่ากลัว แต่เมื่อนกนั้นบินขึ้นสู่อากาศกลับมีรูปร่างสีสันทั้งปีกและหางสวยงามกว่านกทั้งปวง ชาวประมงเหล่านั้นเชื่อว่า คงเป็นนกแห่งสวรรค์เป็นแน่ เมื่อรายอเสด็จกลับคืนสู่อิสตานา ได้ทรงเล่าเรื่องราวนี้แก่ปะไหมสุหรี และโอรสธิดาฟัง พระโอรสสุดท้องพอใจเรื่องนกมหัศจรรย์มาก จนรบเร้าให้รายอสร้างรูปนกจำลองขึ้น พระองค์จึงสั่งให้อำมาตย์ป่าวประกาศรับสมัครช่างผู้มีฝีมือมารับอาสาประดิษฐ์นก โดยจะปูนบำเหน็จรางวัลความดีความชอบให้ ต่อมามีช่างมารับอาสาประดิษฐ์นกตามคำบอกเล่าของชาวประมง จำนวน ๔ คน โดยใช้เวลาในการประดิษฐ์นกประมาณ ๑ เดือนก็แล้วเสร็จ ซึ่งนกทั้ง ๔ ตัวนั้นล้วนมีความสวยงามแตกต่างกัน โดยช่างคนที่ ๑ ประดิษฐ์ออกมาเป็นรูปนกกาเฆาะซูรอหรือกากะสุระ ช่างคนที่ ๒ ประดิษฐ์ออกมาเป็นรูปนกกรุดาหรือนกครุฑ (มีลักษณะคล้ายกับครุฑ) ช่างคนที่ ๓ ประดิษฐ์ออกมาเป็นรูปนกบือเฆาะมาศหรือนกยูงทอง ส่วนช่างคนที่ ๔ ประดิษฐ์ออกมาเป็นรูปบุหรงซีงอหรือนกสิงห์ (มีรูปร่างคล้ายราชสีห์) ซึ่งแต่ละตัวมีความงดงามเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งเป็นที่พอใจของรายอยิ่งนัก ต่อมาข่าวก็ลืออกไปยังต่างถิ่นต่างเมือง ชาวบ้านต่างพากันมาชมความงามของนกทั้ง๔ ตัวด้วยความตื่นเต้น จากนั้นรายอก็จัดให้มีขบวนแห่นกทั้ง ๔ ตัวอย่างยิ่งใหญ่มโหฬาร ซึ่งในขบวนแห่ประกอบด้วย ดนตรีพื้นเมืองบรรเลงและมีสตรีสาวสวยถือพานดอกไม้นานาชนิดและหลากหลายสีเข้าริ้วขบวน ซึ่งเรียกว่า บุหราซีเระ (เป็นบายศรีภาคใต้) แห่ไปรอบๆ เมืองเป็นที่ชื่นชมของชาวเมืองเป็นอย่างยิ่ง จากตำนานที่กล่าวมานี้ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของประเพณีการแห่นกของจังหวัดปัตตานีและจังหวัดอื่นๆ ในภาคใต้
สำหรับการจัดขบวนประเพณีการแห่นกต้องอาศัยกำลังคนและอุปกรณ์มากมาย ผู้มีฐานะมีบริวารเท่านั้นจึงจะจัดขบวนแห่ได้โดยสมบูรณ์ โดยจะมีองค์ประกอบของขบวนแห่ดังนี้
๑. เครื่องประโคมสำหรับประโคมดนตรีนำหน้าขบวนนก ประกอบด้วยคนเป่าปี่ชวา ๑ คน กลองแขก ๑ คู่ ใช้คนตีสองคน ฆ้องใหญ่ ๑ ใบ ใช้คนหามและคนตีฆ้องรวมสองคน ดนตรีจะบรรเลงนำหน้าขบวนนกไปจนถึงจุดหมายและบรรเลงในเวลาเเสดงสิละ รำกริช
๒. ขบวนบุหงาซีเระ (บายศรี) จัดเป็นขบวนที่สวยงามระรื่นตาผู้ชมขบวนหนึ่ง ผู้ทูนพานบายศรีต้องเป็นสตรีที่ได้รับการคัดเลือก เเต่งกายด้วยเสื้อผ้าหลากสีสันตามประเพณีท้องถิ่น
๓. ผู้ดูแลนก "ทวิรักขบาท" ใช้คน ๒ คน แต่งกายแบบนักรบมือถือกริชเดินนำหน้านกซึ่งคัดเลือกจากผู้ชำนาญการร่ายรำสิละ รำกริช รำหอก อันเป็นศิลปะการต่อสู้อย่างหนึ่งของชาวปัตตานีเมื่อขบวนแห่ไปถึงจุดหมาย
๔. ขบวนนก นกประดิษฐ์แต่ละตัวมีรูปร่างแปลกประหลาดมหัศจรรย์ วิจิตรตระการตา โน้มน้าวให้ระลึกถึงพญาครุฑในวรรณคดี นกหัสดีลิงค์ในนิยายปรัมปรา กำลังเลื่อนลอยลงมายืนอยู่บนคาน จำนวนคนหามมากน้อยแล้วแต่ขนาดน้ำหนักของนก แต่ละคนแต่งเครื่องแบบพลทหารถือหอกเป็นอาวุธ
๕. ขบวนพลกริช ขบวนพลหอก ผู้คนในขบวนแต่งกายอย่างนักรบสมัยโบราณถือหอก ถือกริช เดินตามหลังขบวน จำนวนทหารกริช ทหารหอกมีมากน้อยเพียงใดก็จัดให้ขบวนแห่นกดูแลน่าเกรงขามมากยิ่งขึ้น
ประเพณีการแห่นก นับเป็นประเพณีท้องถิ่นที่สำคัญของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีส่วนช่วยให้เกิดความรักความสามัคคีของคนในชุมชน และเป็นประเพณีที่ช่วยส่งเสริมในการอนุรักษ์ศิลปะดนตรีและวัฒนธรรมท้องถิ่นให้คงอยู่ อันแสดงให้เห็นถึงภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมอันงดงามและเป็นเอกลักษณ์ที่สืบทอดมาเป็นเวลาช้านาน ซึ่งปัจจุบันประเพณีการแห่นกยังคงมีให้พบเห็นทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ เช่น มาเลเซีย และอินโดนีเซีย
.........................................
ที่มา : ประเพณีและพิธีกรรม ๔ ภาคของไทย โดย พิมุต รุจิรากู, www.prapayneethai.com, sites.google.com/site/wathnthrmcanghwadpattani/