"สำเนียงส่อภาษา กิริยาส่อสกุล” เป็นสำนวนไทย หรือคำพังเพยที่ถูกนำมาใช้เปรียบเปรยถึง พฤติกรรมการแสดงออกเกี่ยวกับ การพูด การเจรจา การกระทำ หรือกิริยาต่างๆ ที่สามารถแสดงให้เห็นถึงอุปนิสัยใจคอ ว่า คนที่พูดมีนิสัยอย่างไร มีบุคลิกภาพอย่างไร เป็นคนสุภาพ อ้อนน้อม มองโลกในแง่ดี ถ้าพูดจาด้วยถ้อยคำที่ไพเราะเสนาะหู ในทางกลับกัน ถ้าพูดถ้อยคำที่รุนแรง ก้าวร้าว ใช้น้ำเสียงที่ดุดัน รวมถึงกิริยา การแสดงออกทางกาย ท่าทางต่างๆ และการแสดงออกทางความคิด ที่สื่อออกมา นี้ ล้วนสามารถเผยให้เห็นถึง ชาติกำเนิด เผ่าพันธุ์ สกุล หรือครอบครัว ว่าเป็นอย่างไร ผ่านการอบรมเลี้ยงดูมาแบบไหน ถึงได้แสดงออกมาเช่นนั้น
ถ้ามาวิเคราะห์ความหมายของคำที่ประกอบเป็นสำนวน "สำเนียงส่อภาษา กิริยาส่อสกุล” จะทำให้เกิดความเข้าใจและกระจ่างชัดมากขึ้น สำนวนนี้ ประกอบด้วย คำนาม ประกอบกับคำกริยา ดังนี้
"สำเนียง” น. คือ เสียง , น้ำเสียง , หางเสียง , วิธีออกเสียง
"ส่อ” ก. แสดงออกมาให้เห็นเค้า ให้รู้เป็นนัยๆ
"ภาษา” น. เสียงสัญลักษณ์หรือกิริยาอาการที่ใช้สื่อความต่อกัน เป็นคำพูด และถ้อยคำที่ใช้พูด
"กิริยา” น. การกระทำ ; อาการที่แสดงออกทางกายตามความหมายเรื่องมารยาท
"สกุล” น. ตระกูล , วงศ์ , เชื้อสาย , เผ่าพันธุ์
สำนวนนี้ จึงมักนำมาใช้เปรียบเปรย สอนหรือตักเตือนให้ระมัดระวังคำพูดและกิริยามารยาทการเข้าสังคม ด้วยคนสมัยก่อนเชื่อว่า สำเนียงการพูดและกิริยาท่าทางคือ สิ่งที่แสดงความเป็นอารยชนของคนๆ นั้น ว่าเป็นอย่างไร สื่อให้เห็นว่าผ่านการอบรมเลี้ยงดูมาอย่างไร พื้นฐานครอบครัวเป็นเช่นไร และยังแสดงให้เห็นถึงสภาพแวดล้อมหรือสภาพสังคมของแต่บุคคล รสนิยมการใช้ชีวิต ทั้งยังสื่อให้เห็นถึงทัศนคติของคนผู้นั้นว่า มองโลกในแง่ดีหรือแง่ร้าย มีความฉลาดทางอารมณ์หรือไม่
ปัจจุบันมีโคลงสี่สุภาพบทหนึ่งที่ได้รับความนิยม ถูกนำมาใช้เปรียบเปรยถึงพฤติกรรมของคน ด้วยมีความหมายที่ลึกซึ้ง มีเจตนาสอนให้คนได้คิด รู้จักกาลเทศะ มารยาทการเข้าสังคม ซึ่งสามารถนำมาใช้พิจารณาคนและรู้จักการเลือกคบคน รวมถึงการคัดสรรคนเข้าทำงานของหน่วยงานต่างๆ อีกด้วย จากหนังสือประชุมโคลงโลกนิติ โดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร ที่ว่า
"ก้านบัวบอกลึกตื้น ชลธาร
มารยาทส่อสันดาน ชาติเชื้อ
โฉดฉลาดเพราะคำขาน ควรทราบ
หย่อมหญ้าเหี่ยวแห้งเรื้อ บอกร้ายแสลงดิน”
โคลงบทนี้ แปลความหมายได้ว่า ก้านบัวสามารถบอกความตื้นลึกของน้ำได้ฉันใด กิริยามารยาทของคนก็ใช้บ่งบอกถึงการอบรมเลี้ยงดูได้ฉันนั้น คำพูดก็สามารถบ่งบอกให้รู้ถึงระดับสติปัญญาได้ เช่นเดียวกับหย่อมหญ้าที่เหี่ยวแห้งย่อมบอกให้รู้ว่าดินในบริเวณนั้นไม่สมบูรณ์มีความแห้งแล้ง ซึ่งมีความหมายที่เหมือนและใกล้เคียงกับสำนวน "สำเนียงส่อภาษา กิริยาส่อสกุล” ที่ใช้ได้ในทุกยุคทุกสมัย...
ที่มา : พจนานุกรมแปล ไทย-ไทย ราชบัณฑิตยสถาน / สำนวนไทย-อังกฤษ : สำเนียงส่อภาษา กิริยาส่อสกุล ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุภา พูลทรัพย์ อักษรดิษฐ์ / หนังสือประชุมโคลงโลกนิติ โดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร