
ถ้าถามว่า "ผี...มีจริงหรือไม่” คงต้องถกเถียงกันไม่รู้จบ แต่แปลกที่ว่า ไม่ว่าจะเชื่อหรือไม่เชื่อ คนส่วนใหญ่ก็ยังชอบฟัง ชอบดูเรื่องผีๆ แม้จะดูไป กลัวไปก็ตาม ดังนั้น ผี คือ อะไร เป็นอย่างไร เรามาเล่าสู่กันฟัง พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถาน ได้ให้คำจำกัดความของ "ผี” ว่าคือ สิ่งที่มนุษย์เชื่อว่าเป็นสภาพลึกลับ มองไม่เห็นตัว แต่อาจจะปรากฏเหมือนมีตัวตนได้ อาจให้คุณหรือโทษได้ มีทั้งดีและเลว หรืออาจหมายถึง คนที่ตายไปแล้ว หรือเทวดาก็ได้ ส่วน "วิญญาณ” หมายถึง สิ่งที่เชื่อกันว่ามีอยู่ในกายเมื่อมีชีวิต เมื่อตายจะออกจากกายล่องลอยไปหาที่เกิดใหม่
ด้วยเหตุที่ "ผี” เป็นสิ่งที่ยากจะบอกได้ถึงรูปพรรณสัณฐานที่แน่นอน มีความลึกลับ ขึ้นกับความเชื่อ และจินตนาการ จึงถูกหยิบยกมาขู่เด็กอยู่เสมอ จนทำให้บางคนแม้โตเป็นผู้ใหญ่แล้ว ความรู้สึกกลัวผีก็ยังมีอยู่ หนัง/ละครหลายเรื่องไม่ว่าจะเป็นของไทย หรือต่างประเทศ ต่างก็สร้างสรรค์ "ผี” ออกมาในรูปแบบต่างๆมีทั้งแนวตลกขบขัน แนวสยองขวัญ น่ากลัว หรือแม้แต่แนวรักโรแมนติก ที่ฮิตๆสร้างซ้ำหรือทำเป็นเวอร์ชั่นต่างๆ ก็ได้แก่ พวกแดร็กคิวร่า แฟรงเก็นสไตน์ แวมไพร์ม ส่วนไทยก็มี ผีปอบ ผีกระสือ และแม่นากพระโขนง เป็นต้น รายการทีวีหลายรายการตั้งแต่อดีตจนปัจจุบันก็มีการพาไปเจอกับ "วิญญาณ” ต่างๆนานา โดยผ่านผู้มีจิตสัมผัสพิเศษ ส่วนจะเชื่อมากน้อยแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของแต่ละคน
ในทางวิทยาศาสตร์แม้จะยังไม่สามารถพิสูจน์ได้แน่ชัด แต่ก็มีนักวิทยาศาสตร์คนหนึ่ง คือ ดร. โดนัลด์ จี คาร์เพนเตอร์ ที่ได้ศึกษาวิเคราะห์ทางฟิสิกส์ อีกทั้งได้รวบรวมข้อมูลจากรายงานทั่วโลก จนเขียนเรื่อง "ฟิสิกส์แห่งการหลอกหลอน” (The Physics of Hauting) ขึ้น โดยได้ตั้งสมมติฐานการเห็นผีเป็น "Standard Night time Ghost” (SNG) ว่าแบ่งเป็น ๒ กรณี
กรณีแรก เกิดขึ้นโดยตรงกับสมองของผู้ประสบเหตุ อาจเกิดจากการรบกวนกระบวนการไฟฟ้าชีวเคมี ในสมอง ทำให้ประสาทและระบบรับความรู้สึกผิดเพี้ยน โดยเฉพาะในส่วนของมันสมองและไขสันหลังจนเกิด อาการ "ประสานหลอน” หรือไม่ก็เกิดจากการกระตุ้นให้สมองเกิดภาพหลอนขึ้นเอง โดยสิ่งเร้าภายนอก เช่น คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรือการควบคุมสภาวะแวดล้อมบางอย่างที่มีผลกระทบต่อจิตใจและอารมณ์ความรู้สึก ซึ่งข้อนี้หมายความว่า "ผีไม่มีอยู่ในโลก แต่ปรากฎการณ์ผีมีอยู่จริง” แต่เป็นจริง เพราะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในสมองผู้ประสบเหตุ
กรณีที่สอง ตรงกันข้ามกับข้อแรก คือ "ผีเป็นปรากฏการณ์ที่มีอยู่จริง” และมิใช่เกิดจาก "ประสาทหลอน” หรือการควบคุมให้ประสาทหลอน ทั้งนี้ เพราะมีกรณีที่มีผู้เห็นผีพร้อมๆกันในมุมมองที่แตกต่างกัน และปรากฏตัวด้วยการเปล่งแสงออกมาให้เห็น มิใช่เห็นเป็นภาพหลอน
อย่างไรก็ดี จากกรณีที่สอง การเห็นผี ยังต้องมีลักษณะมาตรฐานตาม SNG อีก ๗ ข้อ คือ
๑.ต้องปรากฏตัวในตอนกลางคืน การปรากฏตัวแต่ละครั้งกินเวลาประมาณ ๒ วินาทีถึง ๑๐ นาที ก่อนจะหายตัวไปแล้ว ค่อยปรากฏตัวใหม่อีก
๒.ผีสามารถเปล่งแสงสว่าง เรืองแสงในตัวเองได้ โดยมีกำลังส่องสว่างอยู่ในช่วงความเข้มของแสงประมาณ ๑-๒๐ แรงเทียน จึงจะทำให้สายตามนุษย์สามารถมองเห็นได้
๓.การปรากฏกายของผีต้องมีเครื่องนุ่งห่มด้วย และมักจะปรากฏในลักษณะเป็นภาพรางๆ โปร่งแสงมองทะลุ ได้บ้าง มีขนาดเล็กกว่าคนธรรมดาทั่วไป
๔.ผีจะปรากฏในสภาพที่หันหน้าเข้าหาผู้พบเห็นเสมอ
๕.ผีมักจะปรากฏในร่างมนุษย์ มีน้อยมากที่ปรากฏในร่างสัตว์
๖.การปรากฏตัวของผี มักทำให้บรรยากาศโดยรอบมีอุณหภูมิลดลงอย่างเฉียบพลัน เพราะต้องดึงพลังงานไปใช้
๗.ผีมักปรากฏตัวพร้อมเสียงหรือกลิ่น
ข้างต้น คือสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์ฝรั่งได้วิเคราะห์จากเอกสารและสรุปไว้ว่า ผีทั้งหลายที่เราจะเจอะเจอไม่ว่าจะเป็นผีชาติไหน น่าจะอยู่ในข่าย ๗ ข้อที่ว่า
จะว่าไปแล้ว คนไทยเราค่อนข้างคุ้นชินกับเรื่องผีๆไม่น้อย แถมบางคนแม้จะกลัวผี แต่ก็ยังนิยมไปขอเลขเด็ดจากผีทุกงวด โดยทั่วไป
"ผี” ที่เราพูดถึง จะแบ่งออกเป็นประเภทใหญ่ๆได้ ดังนี้
๑.ผีฟ้า ได้แก่ผีที่อยู่บนฟ้า ซึ่งต่อมาเมื่อเรารับความเชื่อเรื่องนรกสวรรค์มาจากพุทธศาสนา คนไทยภาคกลางจึงเรียกผีที่อยู่บนฟ้าว่า "เทวดา”หรือ "เทพ” และถือว่าเทวดามีหลายองค์ ส่วนคนทางภาคอีสานจะเรียกว่า "แถน”
๒.ผีคนตาย ได้แก่ผีที่เชื่อกันว่าเป็นวิญญาณของคนที่ตายไปแล้ว ผีชนิดนี้มีทั้งผีดีและผีไม่ดี ซึ่งผีดีที่คนนับถือยังแบ่งย่อยเป็นอีก ๓ ระดับ คือ ผีเรือน เป็นผีประจำครอบครัว คนไทยโบราณและชนชาติไทบางกลุ่มเรียกว่า "ผีด้ำ” หมายถึง ผีบรรพบุรุษ หรือผีปู่ย่าตายายพ่อแม่ที่ล่วงลับไปแล้ว แต่ยังสถิตอยู่ในบ้านเรือน เพื่อคอยคุ้มครองและดูแลช่วยเหลือลูกหลาน และลูกหลานจะต้องเซ่นสรวงตามโอกาสอันสมควร ถ้าเป็น ผีมดและผีเมง จะหมายถึง ผีบรรพบุรุษตามความเชื่อของชาวล้านนา ผีบ้าน คือ ผีประจำหมู่บ้าน บางแห่งเรียก ”เสื้อบ้าน” ได้แก่ ผีที่คอยคุ้มครองและให้ความอนุเคราะห์แก่คนในหมู่บ้าน ซึ่งแต่ละหมู่บ้านมักจะมีสถานที่สำหรับทำพิธีบูชาบวงสรวง ผีเมือง หรือบางแห่งเรียก ”เสื้อเมือง” ได้แก่ วิญญาณของเจ้าเมืององค์ก่อนๆหรือวีรบุรุษของกลุ่มชน คอยคุ้มครองและให้ความอนุเคราะห์ดูแลคนทั้งเมืองหรือรัฐ บางแห่งก็เรียก "เทพารักษ์” และมักมีการสร้างศาลให้เป็นที่สถิต
๓.ผีไม่ปรากฎรายละเอียดในด้านความเป็นมา ได้แก่ ผีที่ประจำอยู่กับสิ่งต่างๆที่มีในธรรมชาติ เช่น ผีป่า ผีเขา ผีน้ำ ผีประจำต้นไม้ เป็นต้น ผีดังกล่าวให้คุณและโทษได้ จึงต้องเซ่นสรวงให้ถูกวิธี โดยเฉพาะเมื่อต้องการความช่วยเหลือหรือขออนุญาตใช้ประโยชน์
นอกเหนือจากนี้แล้ว ยังมีผีอีกหลายชนิดที่อยากจะแนะนำให้รู้จักกัน บางชื่อก็อาจจะเคยได้ยินได้ฟังมาบ้างแล้ว บางชื่อหลายคนก็อาจจะเพิ่งเคยได้ยิน ผีเหล่านี้ได้แก่
ผีกระสือ คือผีที่เข้าสิงในตัวผู้หญิง และชอบกินของโสโครก คู่กับผีกระหัง ที่ชอบเข้าสิงผู้ชาย เชื่อกันว่าผีกระหังเป็นผู้ชายที่เรียนวิชาอาคม เมื่อแก่กล้าก็มีปีกมีหาง จะไปไหนก็ใช้กระด้งต่างปีก สากตำข้าวต่างขา สากกะเบือ ต่างหาง ชอบกินของโสโครกเช่นเดียวกับกระสือ ผีปอบ คือ ผีที่สิงอยู่ในตัวคน พอกินตับไต้ไส้พุงหมดแล้วก็จะออกไปและคนๆนั้นก็จะตาย ผีดิบ คือ ผีที่ยังไม่ได้เผา หรือผีดูดเลือด ผีตายทั้งกลม คือ หญิงที่ตายในขณะที่ลูกอยู่ในท้อง ผีตายโหง คือ คนที่ตายผิดธรรมดา เช่น ถูกฆ่าตาย ตกน้ำตายหรือตายด้วยอุบัติเหตุ ผีพราย หมายถึงหญิงที่ตายอันเนื่องมาจากคลอดลูกหรือตายในขณะที่ลูกเกิดมาได้ไม่นาน เชื่อกันว่าวิญญาณหญิงดังกล่าวจะมีความร้ายกาจมาก นอกจากนี้ ผีพราย ยังอาจหมายถึง คนแก่ที่ป่วยไข้ออดแอดจนไม่มีกำลังต้องนอนซมอยู่เสมอ แต่พอคนอื่นไม่อยู่หรือเผลอ คนแก่นั้นก็เปลี่ยนไป ดวงตากลับวาวโรจน์และมีเรี่ยวแรงลุกไปหาของกินที่เป็นของสดหรือมีกลิ่นคาว หากมีใครมาพบก็จะทำท่าหมดแรงต้องนอนซมเหมือนเดิม บางแห่งก็ว่าผีพรายสามารถจำแลงกายเป็นสัตว์ต่างๆได้ ผีพรายอีกแบบคือ ผีน้ำชนิดหนึ่ง เชื่อว่าเป็นวิญญาณของคนตกน้ำตาย
ส่วนผีที่มีลักษณะคล้ายกับกลุ่มข้างต้นแต่ชื่ออาจจะไม่ค่อยคุ้นหูสักเท่าไรก็ได้แก่ ผีโพง และ ผีเป้า คือผีที่ชอบกินของสด ของคาว เช่น เลือดสด และสิงในคนได้ บ้างก็ว่าผีโพงสิงคนแล้ว จะทำให้มีแสงสว่างออกมาทางจมูกเวลาหายใจและชอบหากินเวลากลางคืน ผีกละ คือ ผีที่เข้าสิงคนเพื่อเรียกร้องขออาหาร เป็นลักษณะของความตะกละ จึงเรียก ผีกละ ผีโขมด เป็นพวกเดียวกับผีกระสือหรือผีโพง เห็นเป็นแสงเรืองวาวในเวลากลางคืน ทำให้เข้าใจผิดคิดว่าคนถือไฟอยู่ข้างหน้า ผีกองกอย คือ ผีชนิดหนึ่งที่มีตีนเดียว ไม่มีสะบ้าหัวเข่า จึงต้องเดินเขย่งเกงกอย ชอบออกมาดูดเลือดที่หัวแม่เท้าของคนที่นอนหลับพักแรมในป่า
สำหรับผีผู้หญิงที่ส่วนใหญ่รู้จักกันดี และมักจะไปขอโชคขอลาภกัน คือ ผีสาวสวยที่สิงอยู่ตามต้นไม้ต่างๆ อันได้แก่ ผีนางตะเคียน ผีนางตานี ผีนางประดู่ ผีนางไม้ ส่วนผีแม่ย่านาง จะหมายถึง ผีที่สิงสถิตประจำเรือ
นอกเหนือจากผีในความหมายดังกล่าวแล้ว เรายังมีทั้งการละเล่น สำนวน ช่วงเวลา กิริยาอาการและคำหลายคำที่เกี่ยวกับผี เช่น ผีด้งหรือผีนางด้ง เป็นผีที่หนุ่มสาวในท้องที่จะเชิญมาเล่นตามลานบ้านช่วงสงกรานต์ ผีถ้วยแก้ว เป็นการเล่นทรงเจ้าเข้าผีโดยผู้เล่นเอานิ้วแตะก้นแก้วให้เคลื่อนไปตามตัวอักษรเพื่อสื่อความหมาย ผีถึงป่าช้า หมายถึงจำใจทำเพราะไม่มีทางเลือก ผีบุญ คือ ผู้อวดคุณวิเศษว่ามีฤทธิ์ทำได้ต่างๆนานา ผีซ้ำด้ำพลอย คือ ถูกซ้ำเติมเมื่อพลาดพลั้งหรือเมื่อคราวเคราะห์ร้าย ผีอำ คือ อาการที่ปรากฏเมื่อเวลานอนเคลิ้มไปว่ามีคนมาปลุกปล้ำหรือยึดคร่า ทำให้มีอาการเหนื่อยหอบจนตื่นขึ้น บางคนก็เรียก ผีทับ จะมีอาการอึดอัด พูดจาไม่ได้ ลุกไม่ได้ ผีเจาะปาก หมายถึงมีปากก็สักแต่พูดเรื่อยเปื่อย พูดไม่มีสาระ ผีพุ่งไต้ หมายถึงดาวตก ผีตากผ้าอ้อม หมายถึง แสงแดดที่สะท้อนกลับมาสว่างในเวลาเย็นจวนค่ำ มีสีส้มอมเหลือง
ทั้งหมดข้างต้น คงจะทำให้เราได้รู้จักคำว่า "ผี” ในลักษณะต่างๆเป็นความรู้เพิ่มขึ้นนะคะ
............................................................
น.ส. ทัศชล เทพกำปนาท ที่ปรึกษากรมส่งเสริมวัฒนธรรม
(ภาพ) สิทธิพร พวงสุข, จากหนังสือ "ผีไทยไม่มีวันตาย”, โดย ณิชา พีชวณิชย์, 2560, กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ห้องเรียน.