กรมส่งเสริมวัฒนธรรม
เว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้
font size small font size normal font size big
หน้าแรก
Search


ข่าวสาร >> บทความ >> เล่าสู่กันฟัง
เล่าสู่กันฟัง...เรื่อง “เจ กับ มังสวิรัติ ต่างและเหมือนกันอย่างไร”

วันที่ 12 ต.ค. 2563
 

      แม้นว่าการกิน "เจ” และ "มังสวิรัต” จะเป็นการงดรับประทานเนื้อสัตว์คล้ายๆกัน แต่ต่างก็มีรายละเอียดที่แตกต่างกันบ้าง จึงอยากนำมาเล่าสู่กันฟัง ดังนี้
 
     การกินเจ จะมีการกำหนดวันที่ที่แน่นอน คือ ระหว่างวันขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๙ ถึงวันขึ้น ๙ ค่ำ เดือน ๙ ตามจันทรคติของปฏิทินจีน เป็นเวลา ๙ วัน คำว่า "เจ” เป็นภาษาจีนแต้จิ๋ว ภาษาจีนกลางออกเสียง "ไจ” หมายถึง การรักษาอุโบสถศีล หรือรักษาศีล ๘ ที่ไม่รับประทานอาหารหลังเที่ยงวันไปแล้ว ซึ่งสำหรับชาวพุทธนิกายมหายาน การรักษาอุโบสถศีลจะรวมถึงการไม่รับประทานเนื้อสัตว์ด้วย การที่ต้องกินเจหรือถือศีลเป็นเวลา ๙ วันนั้น เขาว่ามาจากการหล่อหลอมพุทธศาสนานิกายมหายานกับลัทธิขงจื้อ โดยถือเป็นการประกอบพิธีกรรมถวายสักการะแด่พระราชาธิราชทั้ง ๙ พระองค์ (เป็นพระพุทธเจ้าในอดีต ๗ องค์และพระโพธิสัตว์ ๒ องค์) ซึ่งได้แบ่งภาคมาเป็นดาวพระเคราะห์ทั้ง ๙ และทรงเครื่องอย่างกษัตริย์ พุทธบริษัทจีนจึงเรียกกันว่า "เก๋าอ๊วง” หมายถึง นพราชา ก็คือพระราชาทั้ง ๙ พระองค์นั่นเอง และเมื่อถึงวันขึ้น ๑ ค่ำเดือน ๙ เทพเจ้าทั้ง ๙ ก็จะผลัดเปลี่ยนกันมาสอดส่องดูแลความทุกข์สุขของสัตว์โลก จึงได้มีการถือศีลกินเจถวายเป็นพุทธบูชา ปฏิบัติตนอยู่ในศีลบริสุทธิ์ด้วยกาย วาจา และใจ
 
     สำหรับผู้ที่ถืออย่างเคร่งครัด ภาชนะที่ใช้ในการกินหรือปรุงอาหารเจจะไม่ใช้ปะปนกับอาหารคาว และนอกจากจะต้องงดรับประทานเนื้อสัตว์ และไม่ทำอันตรายต่อสัตว์แล้ว ยังต้องงดนม เนย น้ำมันจากสัตว์ งดอาหารรสจัดไม่ว่าจะเป็นเปรี้ยว หวาน เค็ม หรือเผ็ด งดผักที่มีกลิ่นแรง ได้แก่ กระเทียม หัวหอม หลักเกียว (คล้ายกระเทียมแต่เล็กกว่า) กุ้ยช่าย ใบยาสูบและของมึนเมาต่างๆ เพราะผักเหล่านี้มีฤทธิ์ทำลายธาตุทั้ง ๕ ในร่างกายและทำให้อวัยวะหลักทำงานไม่ปกติ
 
     อย่างไรก็ดี เป็นเรื่องแปลกที่ว่า แม้กินเจจะงดเนื้อสัตว์ทุกชนิด แต่กลับกิน "หอยนางรม” ได้ ซึ่งเรื่องนี้เขาก็มีตำนานเล่าอยู่ ๒ เรื่อง โดยเรื่องแรกเล่าว่าองค์หญิงเมี่ยวซ่าน (ก่อนจะบรรลุธรรมเป็นเจ้าแม่กวนอิม) ได้พาประชาชนที่นับถือพุทธศาสนาหนีการเข่นฆ่าจากพระเจ้าเมี่ยวจวงพระบิดา ลงเรือออกทะเล (บ้างก็ว่าเป็นสาวกของเจ้าแม่กวนอิมที่ออกเดินทางไปแสวงบุญ) แล้วเสบียงหมด ด้วยความที่กินเจ ไม่สามารถจับสัตว์น้ำมาเป็นอาหารได้ ท่านจึงได้อธิษฐานว่า ถ้าสัตว์ใดถึงฆาต เมื่อจุ่มไม้เท้าลงไปก็ขอให้ติดไม้เท้าขึ้นมา ก็ปรากฏว่าหลังจุ่มลงไปก็มีหอยนางรมติดขึ้นมา อีกตำนานก็เล่าว่า สมัยพระถังซำจั๋งเดินทางไปอัญเชิญพระไตรปิฎก ระหว่างทางลงเรือข้ามมหาสมุทร เสบียงอาหารหมด ไม่สามารถหาสิ่งใดมาฉันได้ จึงอธิษฐานว่า สิ่งใดฉันได้ โดยไม่ผิดบาปหรือสัตว์ใดได้รับการยกเว้นว่าฉันได้ เมื่อจุ่มไม้เท้าลงไป ก็ขอให้ติดไม้ขึ้นมา ก็มีหอยนางรมติดขึ้นมาคล้ายเรื่องแรก หอยนางรมจึงกลายเป็นเนื้อสัตว์ที่ได้ยกเว้นให้กินเป็นอาหารเจได้
 
      ส่วน "มังสวิรัติ” มาจากคำว่า "มังส” หรือ "มังสา” ที่แปลว่า เนื้อ กับคำว่า "วิรัติ” ที่แปลว่า "การยกเว้น หรือการปราศจาก” เมื่อรวมสองคำเข้าด้วยกัน "มังสวิรัติ” จึงมีความหมายว่า "การงดเว้นเนื้อสัตว์ หรือ การปราศจากเนื้อสัตว์” ในภาษาอังกฤษใช้คำว่า "Vegetarian” ที่มีรากศัพท์มาจากภาษาลาตินคือ Vegetare , Vegetus ซึ่งแปลว่า สมบูรณ์ ดีพร้อม สดชื่นเบิกบาน อันเป็นการอธิบายถึงคุณสมบัติของ พืชผักนั่นเอง
 
     การกินมังสวิรัติ เป็นแนวทางปฏิบัติที่มีมาช้านาน และปรากฏในหลายศาสนา เช่น ศาสนาเซน ฮินดูบางนิกาย ศาสนาพุทธ และโซโรแอสเตอร์ เป็นต้น มีบันทึกว่าชาวกรีกโบราณไม่กินเนื้อสัตว์ เพราะเชื่อว่าหลังการตาย วิญญาณมนุษย์อาจเกิดไปเป็นสัตว์ ขณะเดียวกันวิญญาณของสัตว์ก็อาจเกิดไปเป็นมนุษย์ได้ ส่วนชาวฮินดูก็เชื่อในหลัก "อหิงสา” คือ การไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน และเชื่อว่าเนื้อสัตว์ทำให้คนมีอารมณ์ก้าวร้าว รุนแรง และจิตใจวุ่นวาย ในทางตรงกันข้ามอาหารมังสวิรัติทำให้มีความบริสุทธิ์ ส่งเสริมจิตใจให้เกิดความเมตตา สงบ เยือกเย็น ช่วยยกระดับจิตวิญญาณของคน ขณะเดียวกันเขาก็เชื่อว่า สัตว์ทั้งหลายมีวิญญาณ ดังนั้น ชาวฮินดูจึงปฏิบัติตนเป็นนักมังสวิรัติมาอย่างต่อเนื่องยาวนานจนปัจจุบัน
 
     อย่างไรก็ตาม แม้ว่านักมังสวิรัติจะงดกินเนื้อสัตว์ และบริโภคพืช ผักเป็นหลัก แต่การกินดังกล่าวก็ยังมีรายละเอียดที่แตกต่างกันออกไปอีก โดยทั่วไปอาจจะแบ่งเป็น ๓ ประเภทได้ ดังนี้
 
     ๑.มังสวิรัติประเภทเคร่งครัด จะกินเฉพาะพืช ผักผลไม้เพียงอย่างเดียว และจะไม่กินไข่ นม หรือผลิตภัณฑ์ที่มีไข่และนมเป็นส่วนประกอบของอาหารนั้นๆเลย
 
     ๒.มังสวิรัติประเภทที่มีการดื่มนม จะกินอาหารที่มีนมหรือผลิตภัณฑ์ของนม นอกเหนือไปจากพืชผักผลไม้ แต่จะไม่กินเนื้อสัตว์ และไข่เป็นส่วนประกอบของอาหาร
 
     ๓.มังสวิรัติประเภทดื่มนมและกินไข่ จะกินอาหารที่มีไข่ นม และผลิตภัณฑ์ของนม นอกเหนือไปจากพืช ผักผลไม้ แต่ไม่มีเนื้อสัตว์เลย
 
     นอกจากนี้ยังมีพวก "มังสวิรัติปลา” คือ คนที่ยังบริโภคปลา และอาหารทะเล แต่งดเนื้อสัตว์อื่น ส่วนพวก "กึ่งมังสวิรัติ” คือ คนที่ต้องการหลีกเลี่ยงเนื้อสัตว์สีแดง พวกสัตว์ใหญ่อย่าง วัว หมู แต่ไปกินเนื้อปลา ไก่ ผลิตภัณฑ์จากนม และไข่ต่างๆแทน ยิ่งกว่านั้นยังมีพวกที่เรียกกันว่า "มังสวิรัติบริสุทธิ์" คือ นอกเหนือไปจาก การงดกินเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ทุกชนิดแล้ว ยังไม่ใช้ผลิตภัณฑ์ที่ได้มาจากสัตว์ทั้งทางตรงและทางอ้อมอีกด้วย เช่น เสื้อผ้า รองเท้า กระเป๋า และเครื่องสำอาง ทั้งนี้ เพื่อมิให้เบียดเบียนสัตว์
 
     จากข้อมูลข้างต้นจะเห็นได้ว่าสิ่งที่ "เจ” กับ"มังสวิรัติ” เหมือนกัน คือ การงดกินเนื้อสัตว์เป็นหลักใหญ่ แต่กระนั้น "เจ” ก็ยังกิน "หอยนางรม” ได้ และงดกินผักที่มีกลิ่นแรง ๕ ชนิด ส่วนมังสวิรัตินั้น การงดเนื้อสัตว์ขึ้นอยู่กับความเคร่งครัดของผู้ถือปฏิบัติ เพราะบางคนก็ยังกินนม กินไข่ หรือเลือกกินปลา ไก่ แทนสัตว์ใหญ่ นอกจากนี้ ภาชนะในการกินหรือปรุง "อาหารเจ” จะเข้มงวดกว่า และยังมีกำหนดเวลาถือปฏิบัติแน่นอนในแต่ละปี แม้ว่าปัจจุบันจะมีผู้ถือศีลกินเจนอกเหนือจากเวลาดังกล่าว แต่ส่วนใหญ่จะเป็นกรณีพิเศษ เช่น อธิษฐานสิ่งใดสิ่งหนึ่ง แล้วได้ตามที่ขอ จึงกินเจเพื่อถวายเป็นสักการะบูชา เป็นต้น
 
     แต่ที่สำคัญ ไม่ว่าผู้ใดจะ"กินเจ” หรือ "กินมังสวิรัติ” ต่างก็ถือได้ว่าเป็นผู้ไม่เบียดเบียนสัตว์ เป็นการสร้างบุญกุศลทางหนึ่ง อีกทั้งยังได้ "สุขภาพที่ดี” ตามมาเป็นของแถม
 
...........................................................
 
น.ส.ทัศชล เทพกำปนาท ที่ปรึกษากรมส่งเสริมวัฒนธรรม
ลิขสิทธิ์ของ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม สำหรับใช้ประโยชน์เพื่อเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมและการศึกษา
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์ | การปฏิเสธความรับผิด (Disclaimer)