กรมส่งเสริมวัฒนธรรม
เว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้
font size small font size normal font size big
หน้าแรก
Search


ข่าวสาร >> บทความ >> เล่าสู่กันฟัง
เล่าสู่กันฟัง...เรื่อง ท้าวอิลราช : ชายหญิงในร่างเดียวกัน

วันที่ 19 ต.ค. 2563
 

     ท้าวอิลราช เป็นชื่อตัวเอกในวรรณคดีเรื่อง "อิลราชคำฉันท์” ซึ่งมีความพิเศษไปกว่าเรื่องอื่นๆ ตรงที่ไม่มีพระเอก-นางเอก มีแต่ตัวเอกที่เป็นชายและหญิงในร่างเดียวกัน อีกทั้งมิใช่กระเทยหรือเกย์ในความหมายในปัจจุบัน เพราะเมื่ออยู่ในเพศไหน ก็ปฏิบัติตนตามเพศสภาพนั้นๆเป็นปกติ แล้วทำไมต้องกลายร่างเป็นทั้งชายและหญิง เรามาเล่าสู่กันฟัง
 
     เรื่องมีอยู่ว่า มีกษัตริย์พระองค์หนึ่งนามว่า "ท้าวอิลราช” ครองเมืองพลหิกา วันหนึ่งพระองค์ได้พาข้าราชบริพารเสด็จออกไปล่าสัตว์ในป่าแล้วก็ถึงคราวเคราะห์ เพราะดันหลงไปยังเขตที่พระอิศวรและพระแม่อุมากำลังทรงพระสำราญอยู่ในที่รโหฐาน ณ เชิงเขาไกรลาส ซึ่งขณะนั้นพระอิศวรได้ทรงจำแลงเป็นสตรีเพื่อล้อพระแม่อุมาเล่น อีกทั้งยังทำให้บรรดาสัตว์และต้นไม้ในบริเวณนั้นกลายเป็นเพศหญิงไปทั้งหมด ครั้นท้าวอิลราชและบริวารหลุดเข้าไปในพื้นที่ดังกล่าว จึงได้กลายเป็นหญิงไปหมดเช่นกัน ท้าวเธอตกพระทัยมาก รีบเข้าไปขออภัยโทษต่อพระอิศวรเพื่อขอให้เป็นชายดังเดิม แต่พระองค์ยังทรงกริ้วอยู่เลยไม่ยอมให้อภัย ก็แหม ! กำลังหยอกพระชายาเพลินๆ อยู่ในที่ส่วนตัว และอยู่ในลักษณะที่ไม่ควรให้ใครมาเห็น ยังมีคนหลงเข้ามาเห็นจนได้ ท่านก็คงมีน้ำโหไม่น้อย แต่พระแม่อุมาเป็นหญิงคงใจอ่อนกว่า จึงทรงลดโทษให้ท้าวอิลราช โดยให้ดำรงร่างเป็นเพศชาย ๑ เดือน และกลายร่างเป็นหญิงอีก ๑ เดือน สลับกันไป เมื่อใดเป็นชายก็ให้ลืมเหตุการณ์ทั้งปวงตอนเป็นหญิง เมื่อใดเป็นหญิงก็ให้ลืมเหตุการณ์ที่เป็นชายทั้งหมด โดยตอนเป็นหญิงจะมีนามว่า "นางอิลา” ส่วนข้าราชบริพารที่กลายเป็นหญิงนั้นก็ยังต้องเป็นหญิงต่อไป ไม่ได้พรให้กลับเป็นชาย
 
     วันหนึ่งท้าวอิลราชที่อยู่ช่วงในเป็นนางอิลาได้พาบริวารไปท่องเที่ยวในป่า บังเอิญไปเจอกับ "พระพุธ” พระฤษีที่กำลังหลับตาบำเพ็ญพรตอยู่บริเวณสระน้ำ พอได้ยินเสียงเจี๊ยวจ๊าวของสาวๆจึงลืมตาขึ้น ครั้นได้เห็นนางอิลาที่เป็นสตรีรูปงาม ก็ตบะแตก ตกหลุมรักนางทันที จึงชวนนางไปอาศรมและซักถามความเป็นมา นางก็ตอบไม่ได้เพราะลืมเรื่องราวตอนเป็นชายไปหมดแล้ว พระพุธเล็งดูด้วยญาณก็ทราบเหตุทั้งปวง จึงรับนางมาอยู่กินเป็นภรรยา ส่วนข้าราชบริพารทั้งหลายก็ให้กลายเป็นกินรีอาศัยอยู่ในป่าเขานั้น ครั้นครบเดือนนางอิลากลายเป็นท้าวอิลราช ก็ลืมตอนเป็นสตรีไป พอเห็นพระพุธก็ถามถึงข้าราชบริพารของพระองค์ พระพุธไม่อยากให้พระองค์เสียพระทัยที่พระองค์ยังได้กลับเป็นชายเดือนเว้นเดือน แต่ลูกน้องต้องเป็นหญิงไปตลอดกาล จึงหลอกว่าเกิดเหตุร้าย หินทลายลงมาทับข้าราชบริพารของพระองค์จนตายหมด ที่พระองค์รอดเพราะบังเอิญอยู่ในอาศรมกับพระพุธ ได้ยินดังนั้นท้าวอิลราชก็ทรงรู้สึกเศร้าโศก จึงตรัสกับพระพุธว่าจะยกราชสมบัติให้พระโอรส และตนจะขอบวชเป็นโยคี พระพุธจึงชวนให้อยู่ด้วยกัน ท้าวอิลราชที่เป็นชายจึงอยู่กับพระพุธ ครั้นครบเดือนเมื่อกลายร่างเป็นนางอิลาก็อยู่ปรนนิบัติเป็นภรรยาพระพุธ อยู่กลับไปกลับมาเช่นนี้ จนเกิดโอรสองค์หนึ่งกับพระพุธนามว่า "ปุรุรพ”
 
     ต่อมาพระพุธคงรู้สึกเห็นใจท้าวอิลราชที่ต้องกลายร่างสลับไปสลับมาเช่นนี้ อยากช่วยให้พระองค์ได้คงรูปเป็นชายตลอดไป จึงได้เชิญพระมหาฤาษีที่มีชื่อเสียงทั้งหลายมาปรึกษาหารือเพื่อแก้ไขคำสาป ครานั้นพระมหามุนีกรรทมพรหมบุตร ผู้เป็นพระบิดาของท้าวอิลราชก็มายังอาศรมพระพุธพร้อมด้วยพระมุนีอื่นๆ และเสนอให้แก้ไขด้วยการทำพิธีอัศวเมธ (การบูชายัญด้วยม้า) ต่อพระอิศวร ปรากฏว่าเมื่อกระทำแล้ว พระอิศวรทรงพอพระทัยจึงเสด็จมาประทานพรให้ท้าวอิลราชได้กลับเป็นบุรุษตลอดไป ไม่ต้องกลับไปเป็นสตรีอีก เมื่อกลับนครพลหิกา ท้าวอิลราชจึงอภิเษกให้พระสสพินทุ์ โอรสองค์โตครองราชย์ในนครนั้น แล้วไปสร้างนครใหม่นามว่า "ประดิษฐาน”ให้พระปุรุรพโอรสที่เกิดกับพระพุธครองสืบไป
 
     อ่านแล้วบางคนอาจสงสัยว่า ทำไมท้าวอิลราชไม่รู้จักไปปรึกษาพระบิดาที่เป็นพระมหามุนีทำพิธีอัศวเมธเพื่อแก้คำสาปแต่แรก ก็ต้องบอกว่าเพราะตอนเป็นชาย พระองค์ก็ลืมเรื่องตอนเป็นหญิง พอเป็นหญิงก็ลืมเหตุการณ์ตอนเป็นชาย ดังนั้น จึงไม่รู้ตัวว่าตนเองต้องกลายร่างเป็นชายและหญิงสลับกันไปคนละเดือน หากพระพุธที่รู้เรื่องราวทั้งหมด ไม่คิดเปลี่ยนใจช่วยเหลือ พระองค์ก็คงต้องเป็นอย่างนี้ไปตลอดจนสิ้นอายุขัย อีกอย่างการที่พระอิศวรทรงพอพระทัยในพิธีนี้ก็คงเป็นเพราะเวลานั้น มันห่างจากช่วงเกิดเหตุนานจนหายกริ้วแล้วก็ได้
 
     สำหรับวรรณคดี "อิลราชคำฉันท์” นี้ เป็นคำฉันท์ที่ได้รับการยกย่องว่าแต่งดี มีความไพเราะ และนิยมใช้เป็นแบบอย่างในการแต่งคำฉันท์ต่อๆมา (เพราะบทประพันธ์นี้ประกอบด้วยฉันท์ต่างๆถึง ๑๕ ชนิด เช่น กมลฉันท์ มาณวกฉันท์ วสันตดิลกฉันท์ ) เป็นผลงานของพระยาศรีสุนทรโวหาร (ผัน สาลักษณ) เมื่อยังดำรงตำแหน่งเป็น "หลวงสารประเสริฐ” โดยแต่งขึ้นตามคำแนะนำของในหลวงรัชกาลที่ ๖ ด้วยขณะนั้นทรงเป็นห่วงว่า ธรรมเนียมการแต่งคำประพันธ์อันงดงามแบบเดิมๆ จะเลือนหายไปเพราะผู้คนจำนวนไม่น้อยคิดว่าล้าสมัย คร่ำครึ จึงอยากให้หลวงสารประเสริฐ (ตำแหน่งตอนนั้น) ได้แต่งหนังสือที่คงธรรมเนียมเดิมไว้บ้างเพื่อผดุงรักษาวรรณศิลป์ที่งดงามเอาไว้ แต่ท่านก็ยังหาเรื่องแต่งไม่ได้ จนต่อมาเมื่อรัชกาลที่ ๖ ทรงพระราชนิพินธ์เรื่อง "บ่อเกิดรามเกียรติ์” ที่มีนิทานเรื่องอิลราช อยู่ในอุตตรกัณฑ์แห่งรามายณะ(ภาคสุดท้ายของเรื่องรามายณะ) ท่านก็ติดใจและนำเนื้อหานั้นมาแต่งเป็นหนังสือตามพระสงค์ดังกล่าว ซึ่งในเนื้อเรื่องจะเป็นตอนที่พระลักษณ์ทูลให้พระรามทำพิธีอัศวเมธ แทนที่จะให้ทำพิธีราชสูยะเพื่อแผ่พระบรมเดชานุภาพ พระรามเลยเล่าเรื่อง อิลราชที่ประกอบพิธีอัศวเมธบูชาพระอิศวรให้ฟัง เรียกว่า เป็นนิทานที่ซ้อนอยู่ในเรื่องรามเกียรติ์ และเป็นเรื่องที่น่าสนใจที่ต่างไปจากวรรณคดีเรื่องอื่นๆ
 
................................................
 
น.ส.ทัศชล เทพกำปนาท ที่ปรึกษากรมส่งเสริมวัฒนธรรม
ภาพ : สมบัติ คิ้วฮก
ลิขสิทธิ์ของ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม สำหรับใช้ประโยชน์เพื่อเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมและการศึกษา
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์ | การปฏิเสธความรับผิด (Disclaimer)