
ประเพณีให้ทานไฟ หมายถึง การทำบุญเพื่อให้พระภิกษุสงฆ์เกิดความอบอุ่น ด้วยไฟในช่วงฤดูหนาว เป็นการทำบุญอย่างหนึ่งที่มีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาลและนิยมประกอบพิธีกันในเดือนอ้ายหรือเดือนยี่ของทุกๆ ปี แต่ไม่กำหนดวันที่แน่นอน สุดแท้แต่ความสะดวกของชาวบ้านในละแวกใกล้วัดจะกำหนดกันขึ้นเอง โดยใช้ลานวัดเป็นที่ก่อกองไฟแล้วทำขนมถวายพระ ซึ่งเป็นการสืบสานประเพณีให้ทานไฟของพุทธศาสนิกชนที่มีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา โดยมีสาระสำคัญดังนี้
๑.พุทธศาสนิกชนได้ปรารภความเพียรมีความขยัน โดยการตื่นนอนแต่เช้าตรู่เพื่อเตรียมอุปกรณ์ปรุงอาหารขนมถวายพระ
๒.ได้ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา โดยการถวายความอุปถัมภ์ให้กำลังแก่พระภิกษุสามเณร ซึ่งเป็นผู้รักษาสืบอายุพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองวัฒนาสืบไป
๓.เป็นการสร้างความสามัคคีในหมู่คณะ ร่วมทำบุญเลี้ยงพระ รวมทั้งร่วมรับประทานอาหารร่วมกันและสร้างความเป็นปึกแผ่นให้เกิดขึ้นในสังคม
๔.การได้ปฏิบัติตามประเพณี ย่อมทำให้เกิดความสุขใจ เบิกบานใจในผลบุญที่ตนได้กระทำ อีกทั้งยังเป็นแบบอย่างแก่ลูกหลานของตนด้วย
๕.ทำให้มีสุขภาพพลานามัยดีแข็งแรง เพราะการตื่นนอนตอนเช้าตรู่ได้รับอากาศบริสุทธิ์ ทำให้มีความสดชื่นเบิกบาน
๖.ได้เปิดโอกาสให้ชาวบ้านมาพบกัน ได้พูดคุยกันและร่วมมือกันประกอบพิธีกรรมภายในวัด พร้อมกันนี้ชาวบ้านกับพระสงฆ์ได้วิสาสะสร้างความคุ้นเคยตามหลักสาราณียธรรม โดยอาศัยประเพณีการให้ทานไฟนี้
๗ .ได้บำเพ็ญบุญบารมีด้วยการถวายทานเป็นการสั่งสมความสุขและความดีไว้กับตน อันเป็นเกาะคือที่พึ่งในปรโลกเบื้องหน้า ตามหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา
๘.ได้อนุรักษ์และสืบสานประเพณีการให้ทานไฟ เป็นการรักษามรดกทางวัฒนธรรมของพุทธศาสนิกชนชาวนครศรีธรรมราชให้เป็นแบบอย่างแก่อนุชนรุ่นหลังต่อไป
๙.ได้ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เป็นการตอบสนองนโยบายของรัฐบาล โดยอาศัยประเพณีนี้ย่อมทำให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจและคุณค่าทางสังคมมากมาย
................................................
ที่มา: หนังสือประเพณีท้องถิ่นภาคใต้ โดยรองศาสตราจารย์สมปราชญ์ อัมมะพันธุ์ และhttps://www.mcu.ac.th/article/detail/14307 มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย ภาพ : Facebook พระอธิการอดิศร คมฺภีรธมฺโม