กรมส่งเสริมวัฒนธรรม
เว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้
font size small font size normal font size big
หน้าแรก
Search


ข่าวสาร >> บทความ >> เล่าสู่กันฟัง
เล่าสู่กันฟัง...เรื่อง “กาลามสูตร : หลักความเชื่อทางพุทธศาสนา”

วันที่ 5 ต.ค. 2563
 

     ท่ามกลางข้อมูลข่าวสารมากมายในปัจจุบัน แค่โทรศัพท์มือถือเครื่องเดียว เราก็สามารถรับรู้เรื่องราวอันหลากหลายได้จากทั่วทุกมุมโลก เรื่องต่างๆ เหล่านี้มีทั้งเรื่องที่น่าเชื่อ ชวนเชื่อ หลายเรื่องก็เหลือเชื่อ และมีไม่น้อยที่ทำให้เรา "หลงเชื่อ” กลายเป็นเหยื่อช่วยเขาแชร์กันสนั่นลั่นโลกโซเซียลมาแล้ว กว่าจะรู้ว่าบางเรื่องไม่จริงข่าวก็แพร่กระจายไปไกล ซึ่งการกระทำจากความเชื่อไม่ว่าเรื่องใด ล้วนส่งผลต่อชีวิตเราทั้งสิ้น หากไม่สร้างความเดือดร้อนเสียหาย ก็ไม่มีปัญหา แต่หากตรงกันข้าม คงไม่ดีแน่ ดังนั้น จึงขอนำ "กาลามสูตร” อันเป็นหลักความเชื่อทางพุทธศาสนาที่พระพุทธองค์ได้ตรัสไว้ตั้งแต่สมัยพุทธกาล และยังใช้ได้เสมอมา มาเล่าสู่กันฟัง เพื่อเป็นแนวทางในการช่วยคิดพิจารณาก่อนจะปลงใจเชื่อเรื่องใดๆ
 
     "กาลามสูตร” (กา-ลา-มะ-สูด) เป็นพระสูตรที่พระพุทธเจ้าได้สอนชาวกาลามะ ซึ่งอยู่อาศัยอยู่ที่เกสปุตตนิคม (เก-สะ-ปุด-ตะ-นิ-คม) ในพระไตรปิฎกจึงเรียกว่า "เกสปุตตสูตร” ตามตำบลที่อยู่ที่พระองค์ทรงสอน แต่คนทั่วไปมักเรียก "กาลามสูตร” ตามสกุลของผู้อาศัยที่นั่นคือ "ชาวสกุลกาลามะ” เพราะจำได้ง่ายกว่า พระสูตรนี้แม้จะตรัสสอนไว้ตั้งสองพันกว่าปีก่อน แต่เนื้อหาก็มีความลึกซึ้ง ชวนให้คิดตาม เพราะประกอบด้วยเหตุและผลที่สอดคล้องกับหลักวิทยาศาสตร์ที่พิสูจน์ได้ว่าเป็นจริงตามที่กล่าวไว้
 
     ความเป็นมาโดยย่อของพระสูตร กล่าวว่า เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จไปประทับที่เกสปุตตนิคมนั้น มีประชาชนมาเฝ้าเป็นจำนวนมาก ซึ่งคนที่มาเฝ้านี้ ก็มีสารพัดแบบ บางคนก็มาด้วยความเลื่อมใสศรัทธา บางคนก็มาเพราะได้ยินชื่อเสียง จึงอยากเห็นตัวจริง คงคล้ายๆ กับเราที่อยากเห็นคนดังอย่างสมัยนี้ หลายคนที่มาเฝ้าก็เป็นนักบวชจากลัทธิอื่น บางคนก็เป็นพวกที่ไม่นับถือศาสนาใด
 
     เมื่อเสด็จมาถึงก็มีชาวบ้านทูลถามว่า ในเกสปุตตนิคมนี้ มีนักบวชในศาสนาต่างๆ หลายลัทธิ ต่างก็ว่าคำสอนของตนดีกว่าคนนั้นคนนี้ และเป็นแบบนี้มาตลอด ทำให้ชาวกาลามะรู้สึกสับสน และสงสัยว่าใครพูดจริง ใครพูดเท็จ หรือใครผิด ใครถูกกันแน่ ครั้นชาวบ้านทูลถามแล้ว แทนที่จะพระพุทธเจ้าจะทรงสรรเสริญคำสอนของพระองค์ว่าดีอย่างไร แล้วกล่าวติเตียนคำสอนของศาสนาอื่น แต่กลับทรงตรัสกับชาวกาลามะ ถึงหลักปฏิบัติต่อเรื่องที่สงสัย โดยให้ใช้ปัญญาพิจารณาก่อนจะเชื่อ-ไม่เชื่อ ๑๐ ประการ ดังนี้
 
     ๑.อย่าเพิ่งเชื่อเพราะฟังตามๆ กันมา
     ๒.อย่าเพิ่งเชื่อเพราะถือว่าเป็นของเก่าเล่าสืบๆ กันมา
     ๓.อย่าเพิ่งเชื่อเพราะข่าวเล่าลือ
     ๔.อย่าเพิ่งเชื่อเพราะอ้างคัมภีร์หรือตำรา
     ๕.อย่าเพิ่งเชื่อเพราะตรรก หรือเห็นว่าเป็นเหตุเป็นผลกัน
     ๖.อย่าเพิ่งเชื่อเพราะคิดคาดคะเนอนุมานเอา
     ๗.อย่าเพิ่งเชื่อเพราะคิดเอาตามอาการที่ปรากฏ
     ๘.อย่าเพิ่งเชื่อเพราะเห็นว่าต้องกับความเห็นของตนหรือเข้ากับทฤษฎีที่มีอยู่
    ๙.อย่าเพิ่งเชื่อเพราะว่าผู้พูดควรเชื่อได้
    ๑๐.อย่าเพิ่งเชื่อเพราะว่าผู้พูดนั้นเป็นครูของเรา
 
     จาก ๑๐ ข้อข้างต้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นฐานความเชื่อปกติของเรา เมื่อถูกห้ามไปหมดเช่นนี้ หลายคนคงกังขาว่า เช่นนั้นจะเหลืออะไรให้เชื่อได้อีก ก็ต้องบอกว่า การที่พระพุทธองค์ตรัสว่าอย่าเพิ่งผลีผลามเชื่อสิ่งที่ได้ยินได้ฟังมา ไม่ว่าความเชื่อจะตรงกับข้อใดข้อหนึ่งหรือหลายข้อใน ๑๐ ข้อที่ว่านี้ อันที่จริงแล้ว คำสอนของพระองค์กลับไปพ้องกับกฎทางวิทยาศาสตร์ที่ว่า ไม่ให้เชื่ออะไรง่ายๆ จนกว่าจะได้พิสูจน์หรือทดสอบจนความจริงปรากฏ ดังที่ทรงสอนว่า เมื่อใดก็ตามที่เราได้ยินใครเขาเล่าหรือพูดเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ก็ให้รับฟังไว้ก่อน ไม่ต้องไปคัดค้าน ต่อล้อต่อเถียงว่าไม่เห็นด้วย ในทางกลับกัน ก็มิใช่ไปเออออห่อหมก เห็นดีเห็นงามกับเขาในทันที ต้องฟังหูไว้หู แล้วนำมาคิดพิจารณาว่า ข้อมูลที่เราได้รับมานั้น มันผิดหรือถูก เป็นบุญหรือบาป เป็นประโยชน์หรือไม่ และเป็นประโยชน์ต่อใคร หากคิดถี่ถ้วนรอบด้านแล้ว จึงค่อยตัดสินว่า เราจะเชื่อมากน้อยแค่ไหน หรือจะไม่เชื่อเลยก็ได้ ทั้งนี้ เพื่อให้แต่ละคนได้คิดให้รอบคอบ รู้จักใช้ปัญญาใคร่ครวญข้อมูลนั้นๆ อย่างรอบด้าน ก่อนจะตัดสินใจ พูดง่ายๆ ว่า ทรงมิให้เชื่ออะไรอย่างงมงายหรือไร้สาระ
 
     เพื่อให้เห็นชัดยิ่งขึ้น มาดูแต่ละหัวข้อ ว่าเรา "อย่าเพิ่งเชื่อ” เพราะเหตุใด
 
     ๑.อย่าเพิ่งเชื่อ เพราะการฟังตามกันมา ความเชื่อประเภทนี้ ได้แก่ พวก"บอกต่อ” หรือ "เขาเล่าว่า” แล้วก็เชื่อตามเขา เช่น ได้ยินมาว่าอาจารย์ดังให้เลขเด็ดมา หรือมีหวยล็อค ก็เลยซื้อตามๆ กัน ผลคือ หวยไม่ออกตามนั้น ต้องหมดเนื้อหมดตัว แถมเป็นหนี้สิน เพราะทุ่มเงินไปหมด แล้วยังไปยืมเงินทองเขามาอีก
 
     ๒.อย่าเพิ่งเชื่อเพราะถือว่าเป็นของเก่าเล่าสืบๆ กันมา เรื่องความเชื่อข้อนี้ คงมิใช่ให้ดูถูกของเก่าหรือของโบราณ แต่ทรงสอนให้พินิจพิเคราะห์เสียก่อน ไม่ใช่เชื่อโดยไม่รู้เหตุรู้ผล เพราะคำสอนคนรุ่นเก่าบางอย่างก็เป็นโบราณอุบาย ที่เป็นการสอนทางอ้อม จึงต้องสืบหาเหตุผลให้กระจ่างด้วย มิใช่เชื่อเพราะเขาเล่ากันมาอย่างนี้ เช่น สมัยก่อนจะห้ามกวาดบ้านตอนกลางคืน ด้วยเชื่อว่าจะเป็นอัปมงคล เจตนาที่แท้จริงที่ห้าม ก็เพราะสมัยโน้นยังไม่มีไฟฟ้าใช้ การกวาดบ้านเวลานั้น มันมืดมองอะไรก็ไม่ชัด ทำให้กวาดได้ไม่สะอาด และอาจกวาดเอาข้าวของที่มีขนาดเล็กหรือของมีค่าให้หล่นหายไปได้
 
     ๓.อย่าเพิ่งเชื่อเพราะข่าวเล่าลือ ข้อนี้คงชัดเจนในตัวอยู่แล้ว ที่เราต้องระมัดระวังและพิจารณาให้ดีเพราะเทคโนโลยีสมัยใหม่ สามารถตกแต่งภาพหรือบิดเบือนข้อมูลได้สมจริงยิ่งขึ้น ทำให้ข่าวลือ ข่าวลวงแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็ว
๔.อย่าเพิ่งเชื่อเพราะอ้างคัมภีร์หรือตำรา ยิ่งสมัยนี้ต้องระวัง เพราะหลายๆ เรื่องก็เป็นการโฆษณาชวนเชื่อหรือหลอกลวง เช่น อ้างว่ายาตำรับนี้ รักษาโรคร้ายได้ เพราะได้สูตรลับโบราณมา แต่แท้จริงแล้วเป็นการหลอกเอาเงินจากผู้หลงเชื่อ หรือบางครั้งก็อ้างผลงานวิจัยต่างๆ ทั้งๆ ที่เป็นผลวิจัยเพื่อการค้า โดยบอกความจริงไม่ครบถ้วน ทำให้ผู้บริโภคตกเป็นเหยื่อ หลงไปซื้อสินค้านั้นๆ ในราคาแพง
 
     ๕.อย่าเพิ่งเชื่อเพราะตรรก หรือเห็นว่าเป็นเหตุเป็นผลกัน เพราะเหตุผลบางอย่างก็ใช่ว่าจะถูกหรือเป็นไปตามข้อสันนิษฐานเสมอไป เช่น เชื่อว่าที่เขาสอบตก เพราะมัวแต่เที่ยว ไม่อ่านหนังสือ แต่จริงๆ แล้วเขาอาจจะอ่าน แต่ไม่ตรงกับข้อสอบ หรืออาจป่วย เลยไม่ได้ไปสอบก็ได้
 
     ๖.อย่าเพิ่งเชื่อเพราะคิดคาดคะเนอนุมานเอา เช่น เห็นข่าววัยรุ่นขับรถชนคนแก่ตาย แต่ยังไม่รู้สาเหตุ เราก็เดาไปล่วงหน้าว่า น่าจะเป็นเพราะเมาสุราแล้วขับ หรือไม่ก็ขับเร็วเกินกำหนด เลยรุมด่าเขา แต่ความจริงกลับเป็นว่ารถของเขาเบรคแตก ทำให้ไม่สามารถควบคุมรถได้
 
     ๗.อย่าเพิ่งเชื่อเพราะคิดเอาตามอาการที่ปรากฏ ซึ่งอาจจะเกิดความเข้าใจผิดขึ้นได้ เช่น เห็นเพื่อนกลุ่มที่ไม่ถูกกับเราคุยกันอยู่ แล้วหัวเราะคิกคักตอนเราเดินผ่าน ก็คิดว่าเขากำลังนินทาเรา ก็เลยยิ่งโกรธเกลียดเขา แต่จริงๆ แล้วเขากำลังเล่าเรื่องขำขันและหัวเราะตอนเราผ่านไปพอดี
 
     ๘.อย่าเพิ่งเชื่อเพราะเห็นว่าต้องกับความเห็นของตนหรือเข้ากับทฤษฎีที่มีอยู่ เพราะสิ่งนั้นเราเชื่อเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว พอสอดคล้องกับความคิดเรา จึงยิ่งเชื่อเข้าไปใหญ่ เช่น เราเชื่อว่าเพื่อนคนหนึ่งเป็นคนขี้ขโมย พอของหาย และมีคนบอกว่าน่าจะเป็นคนๆ นี้ขโมยไป เราก็เชื่อทันทีว่าใช่ กว่าจะรู้ความจริงว่าเป็นคนอื่น เราก็เลือกเชื่อตามที่คิดไปแต่ต้นแล้ว
 
     ๙.อย่าเพิ่งเชื่อเพราะว่าผู้พูดควรเชื่อได้ โดยเฉพาะยุคนี้เราจะเห็นนักร้อง นักแสดงผู้มีชื่อเสียงหลายคนออกมาขายสินค้าตามรายการต่างๆ ว่าดีอย่างนั้น อย่างนี้ เราก็มักจะเชื่อตาม เพราะคิดว่าคนดังขนาดนี้ไม่น่าโกหก แต่จริงๆ แล้ว เราควรพิสูจน์ด้วยการดูคุณภาพของสินค้า มิใช่เชื่อเพราะเป็นคนดังพูด
 
     ๑๐.อย่าเพิ่งเชื่อเพราะว่าผู้พูดนั้นเป็นครูของเรา ข้อนี้ฟังดูเหมือนอกตัญญูที่สอนให้ไม่เชื่อครูของเรา แต่โดยความเป็นจริง ก็คือให้เชื่ออย่างมีวิจารณญาณ มีเหตุมีผล ขณะเดียวกันก็มิใช่โต้เถียงอย่างต้องการเอาชนะคะคานหรือด้วยความก้าวร้าว เพราะการกระทำเช่นนั้นจะไม่เกิดประโยชน์กับผู้ใด
 
     การสอนให้อย่าเพิ่งเชื่ออะไรอย่างง่ายดาย หรืออย่างไม่งมงายทั้ง ๑๐ ประการข้างต้นนี้ พระพุทธเจ้ามิได้สอนโดยการบอกเล่าเฉยๆ แต่ยังได้ตรัสถามให้ชาวกาลามะได้ตรึกตรองและคิดพิจารณาตาม เช่น ถามว่าถ้าความโลภเกิดขึ้น จะเป็นประโยชน์ไหม และถ้าทำให้ฆ่าคน ลักทรัพย์ จะเป็นไปเพื่อประโยชน์หรือไม่ มีโทษหรือไม่ วิญญูชนจะติเตียนหรือสรรเสริญ และเป็นไปเพื่อความสุขหรือทุกข์ เป็นกุศลหรืออกุศล ซึ่งเมื่อถามแล้วชาวกาลามะก็สามารถคิดเอง ตอบเองและเห็นจริงได้เองว่า สิ่งที่พระพุทธองค์ตรัสสอนนั้น สิ่งใดมีประโยชน์ ไม่มีโทษ ไม่มีทุกข์ และเป็นไปเพื่อประโยชน์ และเป็นกุศลแก่ตัวผู้ทำ หรือสิ่งใดเป็นสิ่งตรงกันข้าม เมื่อวิเคราะห์ถึงเหตุและผลโดยรอบแล้ว ทุกคนต่างก็มีอิสระทางความคิดที่จะเลือกทำ หรือไม่ทำ
 
     หวังว่า "กามาลสูตร” ข้างต้น จะเป็นหลักคิดช่วยให้เราเลือกเชื่อ หรือไม่เชื่อข้อมูลข่าวสารต่างๆ ได้อย่างมีสติ รู้ทัน และไม่ตกเป็น "เหยื่อ” ของใครง่ายๆ
 
..............................................
 
น.ส.ทัศชล เทพกำปนาท ที่ปรึกษากรมส่งเสริมวัฒนธรรม
ลิขสิทธิ์ของ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม สำหรับใช้ประโยชน์เพื่อเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมและการศึกษา
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์ | การปฏิเสธความรับผิด (Disclaimer)