กรมส่งเสริมวัฒนธรรม
เว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้
font size small font size normal font size big
หน้าแรก
Search


ข่าวสาร >> บทความ >> รู้ไว้ใช่ว่า
รู้ไว้ใช่ว่า…ตอน รู้เท่าทัน - ไม่ตกเป็นเหยื่อ

วันที่ 2 ต.ค. 2563
 

รู้เท่าทัน - ไม่ตกเป็นเหยื่อ
"ข่าวลวง ข่าวปลอม ข่าวบิดเบือน”
 
     รูปแบบการสื่อสารสมัยใหม่ มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมการบริโภคข่าวสารของคนทุกรุ่นทุกวัย ด้วยความทันสมัยของอุปกรณ์การสื่อสารที่อยู่ในมือของทุกคน ทำให้ข่าวสารหรือเรื่องราวต่างๆ จำนวนมากมายมหาศาล เข้าถึงการรับรู้ของเราได้อย่างรวดเร็วแทบจะเรียลไทม์ สื่อสังคมออนไลน์ เฟสบุ๊ก ทวิตเตอร์ ไลน์ Tik Tok นิยมใช้สื่อสารกันอย่างกว้างขวาง ด้วยรวดเร็ว ทันใจ หวือหวา และเร้าอารมณ์ ชวนให้ติดตาม
 
     กลับพบว่า ข่าวสารออนไลน์ต่างๆ ขาดการกลั่นกรอง มีสัดส่วนของข่าวปลอม ข่าวบิดเบือน มากถึง ๗ ต่อ ๑๐ หรือร้อยละ ๗๐ (ข้อมูลจากศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม Anti-Fake News Center กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม) ล้วนวนเวียนสร้างความเข้าใจผิดและสร้างผลกระทบให้คนที่รู้ไม่เท่าทันหลงเชื่อและตกเป็นเหยื่อ สังคมเกิดความสับสน วุ่นวาย ผู้คนตื่นตระหนก ที่สำคัญคือ แยกไม่ออก ไม่รู้เรื่องอะไรคือจริง เรื่องอะไรคือเท็จ
 
     และเพื่อให้ไม่ตกเป็นเหยื่อ !!! ทุกคนจึงควรสร้างทักษะในการรู้เท่าทันข่าว มีวิจารณญาณในการแยกแยะได้ว่า ข่าวใดคือ ข่าวปลอม สามารถวิเคราะห์และตรวจสอบข้อเท็จจริงที่พบเจอได้ รู้จักประเมินและเลือกใช้ข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้คุณ และคนที่คุณรักปลอดภัย สังคมน่าอยู่

     การรู้เท่าทันข่าว คือ ทักษะในการคิดวิเคราะห์ข่าวสารในการตรวจสอบและประเมินความน่าเชื่อถือของข้อมูลและข่าวสาร รู้ว่าข่าวนั้นมีความน่าเชื่อถือหรือไม่ ข่าวนั้นเผยแพร่ด้วยมีวัตถุประสงค์ใด ไม่ใช้อคติในการรับข้อมูลข่าวสาร รู้จักตรวจสอบข้อเท็จจริงของข่าวที่ได้รับ เพื่อจะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อ ข่าวสารที่ไม่มีความจริงหรือที่เรียกว่า ข่าวปลอม (Fake news) ที่เผยแพร่ในสื่อสังคมออนไลน์ สามารถส่งผลกระทบต่อสังคมโดยรวม เพราะข่าวปลอมมีการบิดเบือน ใส่ร้าย และชี้นำ ทำให้ประชาชนเกิดความสับสน ตื่นตระหนก ไม่พอใจ เกิดความขัดแย้ง อันจะส่งผลให้เกิดความวุ่นวายในสังคมได้
 
     ข่าวปลอมคืออะไร ? Fake news คือ "ข่าวที่ไม่จริง” ในเนื้อหาของข่าวอาจมีข้อเท็จเพียงเล็กน้อยหรือเพียงบางส่วนแต่ขาดรายละเอียด หรืออาจไม่มีมูลความจริงเลย เป็นเนื้อหาที่กุหรือปั้นขึ้นมาโดยไม่มีข้อเท็จจริง ไม่มีแหล่งข่าว ไม่มีที่มาของข่าวหรือคำพูดที่สามารถตรวจสอบได้ มีลักษณะเขียนด้วยอคติ จงใจให้ร้าย ไม่มีรายละเอียดที่สำคัญในเนื้อข่าว นำเสนอจากมุมมองด้านเดียว บางครั้งเป็นการโฆษณาชวนเชื่อจงใจเขียนขึ้นมาเพื่อชี้นำคนอ่าน อาจมีแรงจูงใจทางการเงินอยู่เบื้องหลัง เช่น พาดหัว ยั่วให้คลิก เขียนล่อให้คนเข้ามาอ่านเพื่อเพิ่มยอดวิว ข่าวปลอมมีลักษณะกว้างๆ ๓ ข้อ ๑.มีข้อมูลเท็จ แม้ว่าจะมีข้อมูลจริงเพียงบางส่วนไม่มีเลยก็ตาม ๒.กระตุ้นให้เกิดการแชร์ออกไป ๓.เจตนาบิดเบือนปิดบังความจริง ด้วยการใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผล กระตุ้นอคติของคนอ่าน
 

     The European Association for Viewers Interests (EAVI) องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่สนับสนุนการรู้เท่าทันสื่อ ได้แบ่งประเภทข่าวปลอมและข่าวที่สร้างความเข้าใจที่ผิด ๑๐ ประเภท ประกอบด้วย
    
     ๑.ข่าวพาดหัว ยั่วให้คลิก หรือ คลิกเบท (Clickbait) ที่ทำให้ดูชวนสงสัยใคร่รู้ หรือดึงดูดใจให้เข้าไปคลิกอ่าน
 
     ๒.โฆษณาชวนเชื่อ (Propaganda) เสนอข่าวสารเพียงด้านเดียวให้คนเชื่อและคล้อยตาม
 
     ๓.ข่าวแฝงการโฆษณา (Sponsored content,Native Advertising) มีเนื้อหาแนบเนียนแอบโฆษณาทำให้ผู้อ่านได้รับสารไม่รู้ตัว
 
     ๔.ข่าวล้อเลียนและเสียดสี (Satire and Hoax) มักใช้เนื้อหาที่ตลกขบขัน ใช้การล้อเลียนหรือเสียดสี
 
     ๕.ข่าวที่ผิดพลาด (Error) การเขียนข้อความที่ผิด ชื่อบุคคลหรือรูปภาพผิดจากเนื้อข่าวจริง ๆ ทำให้เข้าใจผิดหรือไม่เข้าใจในข่าวนั้น
 
     ๖.ข่าวเอนเอียงเลือกข้าง (Partisan) ข่าวที่วิพากษ์วิจารณ์ในทางลบต่อฝ่ายที่ตนเองไม่ชอบ ในขณะที่ฝ่ายที่ตนเองสนับสนุน จะเสนอข่าวชื่นชมเกินจริง โดยเฉพาะด้านการเมือง
 
     ๗.ทฤษฎีสมคบคิด (Conspiracy theory) อธิบายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยอาศัยข้อมูลที่ไม่มีความเชื่อมโยงกัน อาจมีวัตถุประสงค์ซ่อนเร้นอื่น ๆ เพื่อให้ประโยชน์ ให้โทษต่อบุคคลหรือกลุ่มบุคคลหนึ่งใด
 
     ๘.วิทยาศาสตร์ลวงโลก (Pseudoscience) ไม่มีหลักฐานหรือความเป็นไปได้ใด ๆ มาสนับสนุน มีเนื้อหาแอบอ้างการวิจัยและสร้างภาพผู้เชี่ยวชาญรับรองให้ดูน่าเชื่อถือ ส่วนมากเป็นบทความทางสุขภาพที่แฝงโฆษณายาหรืออุปกรณ์ทางการแพทย์
 
     ๙.ข่าวที่ให้ข้อมูลผิดๆ (Misinformation) ข่าวที่ไม่ผ่านการตรวจสอบความถูกต้องก่อน เช่น ข่าวลือ
 
     ๑๐.ข่าวหลอกลวง (Bogus) สร้างขึ้นเพื่อหลอกลวง อาจมีเนื้อหา ภาพ ข้อมูลที่เป็นเท็จมาประกอบกัน และแอบอ้างแหล่งข่าวหรือบุคคลที่อยู่ในเหตุการณ์เพื่อให้ดูน่าเชื่อถือ
 

     เมื่อเข้าใจถึงลัษณะของข่าวปลอม ๑๐ ประเภทแล้ว ท้ายนี้ ขอฝาก ๑๐ เคล็ดลับ สังเกตข่าวปลอม โดยศูนย์ช่วยเหลือ Facebook มาฝาก เพื่อให้ทุกท่านได้รู้เท่าทันสื่อ ดังนี้
 
     ๑. สงสัยข้อความพาดหัว ข่าวปลอมมักมีข้อความพาดหัวที่ดึงดูดความสนใจโดยใช้ตัวพิมพ์ใหญ่ทั้งหมด และเครื่องหมายอัศเจรีย์
 
     ๒. สังเกตที่ URL หาก URL หลอกลวงหรือดูคล้าย อาจเป็นสัญญาณของข่าวปลอมได้ เว็บไซด์ข่าวปลอมจำนวนมากมักเปลี่ยนแปลง URL เพียงเล็กน้อยเพื่อเลียนแบบแหล่งข่าวจริง
 
     ๓. สังเกตแหล่งที่มา ตรวจดูให้แน่ใจว่าเรื่องราวเขียนขึ้นโดยแหล่งที่มาที่น่าเชื่อถือ และมีชื่อเสียงด้านความถูกต้อง หากมีเรื่องราวมาจากองค์กรที่ชื่อไม่คุ้นเคย ให้ตรวจสอบที่ส่วน "เกี่ยวกับ" เพื่อเรียนรู้เพิ่มเติม
 
     ๔. มองหาการจัดรูปแบบที่ไม่ปกติ เว็บไซด์ข่าวปลอมจำนวนมากมักมีการสะกดผิดหรือวางเลย์เอาต์ไม่ปกติ โปรดอ่านอย่างระมัดระวังหากคุณเห็นสัญญาณเหล่านี้
 
     ๕. พิจารณารูปภาพ ข่าวปลอมมักมีรูปภาพหรือวิดีโอที่ไม่เป็นความจริง บางครั้งรูปภาพอาจเป็นรูปจริงแต่ไม่เกี่ยวกับบริบทของเรื่องราว คุณสามารถค้นหาเพื่อตรวจสอบได้ว่ารูปภาพเหล่านั้นมาจากไหน
 
     ๖. ตรวจสอบวันที่ ข่าวปลอมอาจมีลำดับเหตุการณ์ที่ไม่สมเหตุสมผล หรือมีการเปลี่ยนแปลงวันที่ของเหตุการณ์
 
     ๗. ตรวจสอบหลักฐาน ตรวจสอบแหล่งข้อมูลของผู้เขียนเพื่อยืนยันว่าถูกต้อง หากไม่มีหลักฐานหรือความน่าเชื่อถือของผู้เชี่ยวชาญที่ไม่มีชื่อเสียง อาจจะระบุได้ว่าข่าวดังกล่าวเป็นข่าวปลอม
 
     ๘. ดูรายงานอื่นๆ หากไม่มีแหล่งที่มาอื่นๆ ที่รายงานเรื่องราวเดียวกัน อาจระบุได้ว่าข่าวดังกล่าวเป็นข่าวปลอม หากมีรายงานข่าวโดยหลายแหล่งข่าวที่เชื่อถือได้มีแนวโน้มว่าข่าวดังกล่าวจะเป็นข่าวจริง
 
     ๙. เรื่องราวนี้เป็นเรื่องตลกหรือไม่ บางครั้งอาจแยกข่าวปลอมจากเรื่องตลกหรือการล้อเลียนได้ยาก ตรวจสอบดูว่าแหล่งที่มาของข่าวขึ้นชื่อเรื่องการล้อเลียนหรือไม่ และรายละเอียดตลอดจนน้ำเสียงของข่าวฟังดูเป็นเรื่องตลกหรือไม่
 
     ๑๐. ตั้งใจให้เป็นข่าวปลอม ใช้วิจารณญาณเพื่อคิดวิเคราะห์เรื่องราวที่คุณอ่าน และแชร์เฉพาะข่าวที่คุณแน่ใจว่าเชื่อถือได้เท่านั้น
 
"อย่าเพิ่งเชื่อ อย่าเพิ่งแชร์ จนกว่าคุณจะตรวจสอบแล้วอย่างมั่นใจ”
 
 
ภาพประกอบ : Anti-Fake News Center Thailand / เอกสาร รู้เท่าทันข่าว (News Literacy) มิถุนายน 2562 มูลนิธิส่งเสริมสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.) / เว็บไซต์ thaihealth.or.th
ที่มา : เอกสาร รู้เท่าทันข่าว (News Literacy) มิถุนายน 2562 มูลนิธิส่งเสริมสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.) / หนังสือจับตาทิศทางสุขภาพคนไทยปี 2563 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
ลิขสิทธิ์ของ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม สำหรับใช้ประโยชน์เพื่อเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมและการศึกษา
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์ | การปฏิเสธความรับผิด (Disclaimer)