
ประเพณีให้ทานไฟ เป็นประเพณีที่ยึดถือปฏิบัติสืบต่อกันมาเป็นระยะเวลายาวนาน ของพุทธศาสนิกชน ในหลายจังหวัดภาคใต้ แต่ที่เห็นเด่นชัดคือพุทธศาสนิกชนชาวจังหวัดนครศรีธรรมราช ที่ยังคงมีการสืบสานประเพณีให้ทานไฟมาจนถึงปัจจุบัน แต่ก็มีจำนวนลดน้อยลงด้วยเหตุผลหลายประการ ซึ่งในปัจจุบันยังคงมีให้เห็นในวัดเขตอำเภอเมืองนครศรีธรรมราชเท่านั้น เช่น วัดหัวอิฐ วัดมุมป้อม วัดศรีทวี วัดสระเรียง วัดน่าพรระบรมธาตุ วัดธาราวดี หรือ บางจังหวัดที่มีชาวนครศรีธรรมราชย้ายถิ่นฐานไปทำมาหากิน ได้แก่ จังหวัดพังงา จังหวัดสุราษฏร์ธานี ที่ยังมีการจัดประเพณีให้ทานไฟในช่วงปลายเดือนธันวาคมถึงต้นเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี
ความเป็นมาของประเพณีให้ทานไฟ กล่าวถึงในขุนทกนิกายชาดก เรื่อง ความตระหนี่ถี่เหนียวของโกลิยะเศรษฐีแห่งเมืองราชคฤห์ ที่มีทรัพย์สิน ๘๐ โกฏิ แต่เป็นคนตระหนี่ไม่ให้ทานไม่บริจาคไม่อำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ใดเลยแม้แต่ภรรยาและบุตร เมื่อโกสิยะเศรษฐีอยากกินขนมเบื้อง (ขนมกุมมาส) แต่เสียดายเงินไม่ยอมซื้อและไม่อยากให้ลูกเมียได้กินด้วย จึงให้ภรรยาแอบไปทำขนมเบื้องที่คฤหาสน์ชั้นเจ็ดให้ตนเองรับประทาน เพราะเกรงว่าผู้อื่นจะเห็นแล้วมาขอแบ่งขนมเบื้องกินด้วย ขณะที่สองสามีภรรยากำลังปรุงขนมเบื้องนั้น พระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่เชตวันมหาวิหารทรงทราบด้วยญาณ จึงต้องการจะโปรดเศรษฐีให้มีใจน้อมไปในการบริจาคทาน จึงโปรดให้พระโมคคัลลานะไปแก้นิสัยของโกลิยะเศรษฐี พระโมคคัคลานะตรงไปบนตึกชั้นเจ็ดของคฤหาสน์เศรษฐี เศรษฐีเข้าใจว่าจะมาขอขนมจึงแสดงอาการรังเกียจและออกวาจาขับไล่ แต่พระโมคคัคลานะพยายามทรมานเศรษฐีอยู่นานจนยอมละนิสัยตระหนี่ พระโมคคัลลานะได้แสดงธรรมเรื่องประโยชน์ของการให้จนโกลิยะเศรษฐีและภรรยาเกิดความเลื่อมใส ได้นิมนต์มารับถวายอาหารที่บ้านตน พระโมคคัลลานะแจ้งให้นำไปถวายพระพุทธเจ้าและพระสาวก ๕๐๐ รูป ณ เชตวันมหาวิหาร ด้วยพุทธานุภาพขนมเบื้องและวัตถุทานอื่นๆ ที่นำมาถวายแก่พระมีเหลือมากมาย แม้ว่าจะแจกจ่ายแก่ชาวบ้าน คนยากจน ขนมก็ยังคงเหลืออีกมากมายจนถึงกับต้องนำไปทิ้งที่ใกล้ซุ้มประตูวัดเชตวัน ปัจจุบันสถานที่เทขนมเบื้องนี้เรียกว่า เงื้อมขนมเบื้อง กาลต่อมาโกสิยะเศรษฐี กลายเป็นเศรษฐีใจบุญชอบให้ทานและได้บริจาคทรัพย์เป็นจำนวนมากเพื่อทำนุบำรุงพุทธศาสนา ด้วยมูลเหตุดังกล่าวจึงเป็นที่มาของประเพณีการให้ทานไฟในปัจจุบัน
ประเพณีการให้ทานไฟ คือ การก่อกองไฟให้เกิดความอบอุ่นแก่พระสงฆ์สำหรับผิงในฤดูหนาวและให้พระสงฆ์ได้ฉันอาหารร้อนๆ พร้อมกัน เพื่อให้เกิดความอบอุ่นในเวลาตอนเช้ามืดช่วงฤดูหนาว โดยใช้ลานวัดเป็นที่ก่อกองไฟแล้วทำขนมถวายพระ นิยมประกอบพิธีกันในเดือนอ้ายหรือเดือนยี่ของทุกๆ ปี แต่ไม่กำหนดวันที่แน่นอน สุดแท้แต่ความสะดวกของชาวบ้านในละแวกใกล้วัดจะกำหนดกันขึ้นเอง โดยชาวบ้านจะมารวมกันที่ลานวัดช่วยกันเตรียมไม้ฟืน ถ่าน หรือเตาไฟ สำหรับก่อให้เกิดความร้อนและความอบอุ่นแก่พระสงฆ์ บางแห่งนิยมใช้ไม้ฟืนหลายอันซ้อนกันเป็นเพิงก่อไฟแล้วนิมนต์พระสงฆ์มานั่งผิงไฟ เพื่อให้เกิด ความอบอุ่นทั้งพระสงฆ์และชาวบ้านที่อยู่ละแวกใกล้กับวัด สำหรับขนมที่ชาวบ้านจะทำถวายพระ ส่วนใหญ่นิยมทำขนมที่สามารถปรุงเสร็จในเวลาอันรวดเร็ว ขนมส่วนมากจะปรุงโดยใช้ไฟแรงและเป็นขนมพื้นบ้าน เช่น ขนมเบื้อง ขนมครก ขนมครกข้าวเหนียว ข้าวเกรียบปากหม้อ ขนมโค ขนมพิมพ์ ขนมจาก ขนมจู่จุน ข้าวเหนียวกวนทอด แต่ปัจจุบันมีขนมและอาหารเพิ่มขึ้นอีกมากมายที่นำมาถวายพระสงฆ์และสามเณร อาทิ น้ำชา กาแฟ หมี่ผัด ข้าวต้ม ข้าวเหนียวหลาม ขนมปังปิ้ง ซึ่งชาวบ้านจะปรุงขนมตามที่เตรียมเครื่องปรุงมาแล้วนำขนมที่ปรุงขึ้นมาร้อนๆ ไปถวายพระสงฆ์จะหยุดปรุงขนมก็ต่อเมื่อเครื่องปรุงที่เตรียมมาหมด เมื่อพระสงฆ์ฉันอิ่มแล้ว ชาวบ้านจึงร่วมกันรับประทานกันอย่างสนุกสนาน หลังจากพระสงฆ์ฉันเสร็จแล้ว ก็สวดให้ศีลให้พรแก่ผู้ที่มาทำบุญเป็นอันเสร็จพิธีประเพณีการให้ทานไฟ
ประเพณีให้ทานไฟเป็นประเพณีเก่าแก่ที่พุทธศาสนิกชนถือปฏิบัติสืบทอดกันมา ที่แสดงออกถึงความเชื่อ ความเหลื่อมใสในพระพุทธศาสนาของพุทธศาสนิกชนชาวภาคใต้ โดยเฉพาะจังหวัดนครศรีธรรมราชที่มีความปรารถนาให้พระภิกษุและสามเณรได้คลายหนาวในช่วงฤดูหนาว และเป็นโอกาสหนึ่งที่คนในชุมชนได้ร่วมทำบุญเลี้ยงพระ รับศีลรับพรเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต รวมทั้งร่วมรับประทานอาหารกันเป็นการสร้างความสามัคคีในหมู่คณะได้ได้ยิ่ง
.........................................................
ที่มา: หนังสือประเพณีท้องถิ่นภาคใต้ โดยรองศาสตราจารย์สมปราชญ์ อัมมะพันธุ์ และwww.mcu.ac.th/article/detail/14307 มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย
ภาพ : Facebook วัดเจดีย์ (ไอ้ไข่)