ประเพณีชักพระ (ลากพระ) เป็นประเพณีท้องถิ่นของชาวภาคใต้ ซึ่งเป็นประเพณีทำบุญในวันออกพรรษา ตรงกับวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ด้วยวิธีการลากพระหรือชักพระพุทธรูป ซึ่งประดิษฐานอยู่บนบุษบกที่ประดิษฐ์ขึ้นอย่างสวยงามแล้วแห่ไปทั่วเมือง เพื่อให้พุทธศาสนิกชนได้ร่วมกันสักการะบูชาและถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์
โดยมีเรื่องเล่ากันสืบต่อมาเป็นเชิงพุทธตำนานว่า หลังจากพระพุทธองค์ทรงกระทำยมกปาฎิหารย์ปราบเดียรถีย์ ณ ป่ามะม่วง กรุงสาวัตถี แล้วได้เสด็จไปจำพรรษา ณ ดาวดึงส์เพื่อทรงโปรดพุทธมารดา ซึ่งขณะนั้นทรงจุติเป็นมหามายาเทพสถิตอยู่ ณ ดุสิตเทพพิภพตลอดพรรษา พระพุทธองค์ทรงประกาศพระคุณของมารดาแก่เทวสมาคมและแสดงพระอภิธรรมโปรดพุทธมารดา ๗ คัมภีร์ จนพระมหามายาเทพและเทพยดาในเทวมหาสมาคมบรรลุโสดาบันหมด ถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ อันเป็นวันสุดท้ายของพรรษา พระพุทธองค์ได้เสด็จกลับมายังโลกมนุษย์ทางบันไดทิพย์ที่พระอินทร์นิมิตถวาย บันไดนี้ทอดจากภูเขาสิเนนุราชที่ตั้งสวรรค์ชั้นดุสิตมายังประตูนครสังกัสสะ ประกอบด้วย บันไดทอง บันไดเงินและบันไดแก้ว บันไดทองนั้น สำหรับเทพยดามาส่งเสด็จอยู่เบื้องขวาพระพุทธองค์ บันไดเงินสำหรับพรหมมาส่งเสด็จอยู่เบื้องซ้ายของพระพุทธองค์และบันไดแก้วสำหรับพระพุทธองค์อยู่ตรงกลาง เมื่อพระพุทธองค์เสด็จมาถึง ประตูนครสังกัสสะตอนเช้าของวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ซึ่งเป็นวันออกพรรษาพุทธศาสนิกชนที่ทราบกำหนดการเสด็จกลับของพระพุทธองค์จากพระโมคคัลลานะ ได้มารอรับเสด็จอย่างเนืองแน่นพร้อมกับเตรียมภัตตาหารไปถวายด้วย แต่เนื่องจากพุทธศาสนิกชนที่มารอรับเสด็จมีเป็นจำนวนมากจึงไม่สามารถจะเข้าไปถวายภัตตาหารถึงพระพุทธองค์ได้ทั่วทุกคน จึงจำเป็นที่ต้องเอาภัตตาหารห่อใบไม้ส่งต่อ ๆ กันเข้าไปถวายส่วนคนที่อยู่ไกลออกไปมาก ๆ จะส่งต่อ ๆ กันก็ไม่ทันใจ จึงใช้วิธีห่อภัตตาหารด้วยใบไม้โยนไปบ้าง ปาบ้างเข้าไปถวายเป็นที่โกลาหลมาก แต่ก็ถือว่าเป็นการถวายที่ตั้งใจด้วยความบริสุทธิ์ ด้วยแรงอธิษฐานและอภินิหารแห่งพระพุทธองค์ภัตตาหารเหล่านั้นไปตกในบาตรของพระพุทธองค์ทั้งสิ้น เพื่อเป็นการแสดงถึงความปิติยินดีที่พระพุทธองค์เสด็จกลับจากดาวดึงส์ พุทธศาสนิกชนได้อัญเชิญพระพุทธองค์ขึ้นประทับบนบุษบกที่เตรียมไว้แล้วแห่แหนกันไปยังที่ประทับของพระพุทธองค์ครั้นเลยพุทธกาลมาแล้วและเมื่อมีพระพุทธรูปซึ่งเป็นตัวแทนของพระพุทธองค์ขึ้น พุทธศาสนิกชนจึงนำเอาพระพุทธรูปยกแห่แหนสมมติแทนพระพุทธองค์ ซึ่งจะกระทำกันในวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ของทุกปี สืบมาจนเป็นประเพณีชักพระหรือลากพระในปัจจุบัน
ประเพณีชักพระ (ลากพระ) เป็นประเพณีที่เชื่อว่าการลากพระจะช่วยให้เกิดอานิสงส์ผลบุญทำให้ฝนตกตามฤดูกาล และการทำบุญจะช่วยส่งผลบุญกุศลให้ประสบความสำเร็จ นอกจากนี้ประเพณีชักพระ (ลากพระ) ยังเป็นการแสดงให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างวิถีชีวิตของคนประกอบอาชีพเกษตรกรรมกับประเพณีและแสดงถึงความพร้อมใจของคนในชุมชน ที่จะทำบุญทำกุศลรวมถึงความสนุกสนานครื้นเครงในกิจกรรมต่างๆ ที่ได้ร่วมกันปฏิบัติ โดยเฉพาะจังหวัดสุราษฏร์ธานี จัดงานอย่างยิ่งใหญ่เป็นประจำทุกปี สืบทอดยาวนานมากว่า ๑๐๐ ปี คืองานประเพณีชักพระ-ทอดผ้าป่า และแข่งเรือยาวซึ่งแต่ละปีมีขบวนเรือพนมพระทางบกมากถึง ๑๕๐ วัดตั้งแต่ ๘ โมงเช้าถึง ๔ ทุ่ม มีประชาชนร่วมขบวนแห่ปีละกว่า ๑๐๐,๐๐๐ คน แต่สำหรับปีนี้เกิดสถานการณ์โควิด –๑๙ ระบาด จึงต้องลดขบวนแห่เหลือเพียง ๒๕ วัด เท่านั้น ซึ่งกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ ๒๙ กันยายนถึง๗ ตุลาคม ๒๕๖๓ ณ บริเวณสะพานนริศ ริมแม่น้ำตาปี จังหวัดสุราษฏร์ธานี
ที่มา : หนังสือประเพณีท้องถิ่น ภาคใต้ โดยรองศาสตราจารย์สมปราชญ์ อัมมะพันธุ์ ,
สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ และ https://www.mculture.go.th/
(ภาพ) ผลงาน : อชิรยาห์ พร้อมเสภา