กรมส่งเสริมวัฒนธรรม
เว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้
font size small font size normal font size big
หน้าแรก
Search


ข่าวสาร >> บทความ >> อาเซียน
ดอกชบา ความงามหลากมิติ

วันที่ 23 ก.ค. 2563
 

     ดอกชบา เป็นดอกไม้ที่มีสีสันสวยงาม สดใส หลากหลายสายพันธุ์ ทั้งแบบกลีบดอกชั้นเดียวและแบบซ้อนกันหลายชั้น ถิ่นกำเนิดของดอกชบาเชื่อกันว่าอยู่ในประเทศจีน อินเดีย และหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก เช่น หมู่เกาะฮาวาย
 
     ความเชื่อของดอกชบามีปรากฎในหลายวัฒนธรรมต่างความหมายกันไปในหลากมิติ สำหรับประเทศไทยในอดีตดอกชบาถูกนำมาใช้ในทางที่ไม่เป็นมงคล ในกฎหมายตราสามดวง ปรากฎการใช้ดอกชบาใน พระไอยการ ลักษณะผัวเมีย ใช้ดอกชบาในการประจาน "ผู้หญิงอันร้าย" หรือ "ผู้หญิงแพศยา" เช่นใน มาตรา ๖..." ส่วนหญิงอันร้ายให้เอาเฉลวประหน้า ทัดดอกชบาแดงทั้ง ๒ หู ร้อยดอกชบาแดงเป็นมาลัยใส่ศีรษะใส่คอ แล้วให้เอาหญิงนั้นเข้าเทียมแอกข้างหนึ่งชายชู้เทียมแอกข้างหนึ่ง ประจานด้วย ไถนา ๓ วัน..." นอกจากนั้นแล้วยังมีการนำดอกชบามาทัดหูให้นักโทษประหาร คติการใช้ดอกชบามาเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงความไม่ดี ไม่งามของไทย น่าจะรับมาจากทางอินเดียที่ใช้พวงมาลัยดอกชบาสวมคอนักโทษประหารเช่นกัน
 
     จากไทยเดินทางลงใต้ไปสำรวจความหมายของดอกชบาในประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย ดอกชบานี้ทางมลายูเรียกว่า บุหงา รายอ มีความหมายในทางมงคล โดยได้รับการยกย่องให้เป็นดอกไม้ประจำชาติมาเลเซีย เพราะลักษณะของดอกไม้ที่มีสีแดงสื่อถึงความอิสระ และยามที่ดอกชบาบานมีเพียงดอกเดียวจึงหมายถึงเอกภาพ นอกจากนั้นแล้วหญิงสาวมาเลเซียและชาวอินโดนีเซีย ยังนิยมนำดอกชบามาทัดหูหรือแซมผมเพื่อความงดงามอีกด้วย
 
     แล้วดอกชบาในประเทศถิ่นกำเนิดอย่างดินเดีย มีความเชื่ออย่างไร ในแง่มุมทางศาสนาพราหมณ์ฮินดูดอกชบาแดงถูกนำมาร้อยเป็นมาลัยคู่กับหญ้าแพรกถวายให้กับองค์พระพิฆเนศ และชาวอินเดียยังบูชาเจ้าแม่กาลี ปางอวตารภาคหนึ่งของพระอุมาเทวี ด้วยดอกชบาแดง เช่นกัน
 
     ดอกไม้เพียงดอกเดียวแต่ปรากฎความหมายในแง่มุมที่แตกต่างกันไป ตามคติความเชื่อของแต่ละวัฒนธรรม
 
     ภาพ : sites.google.com
ลิขสิทธิ์ของ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม สำหรับใช้ประโยชน์เพื่อเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมและการศึกษา
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์ | การปฏิเสธความรับผิด (Disclaimer)