ประติมากรรมท้าวเวสสุวัณ รูปแบบต่างๆ แสดงถึงความศรัทธาของชาวพุทธ ณ วัดจุฬามณี จังหวัดสมุทรสงคราม
เรื่องราวความเชื่อเกี่ยวกับท้าวเวสสุวัณ หรือเวสสุวรรณ เทพในตำนานที่มีหน้าตาเป็นยักษ์ ถึงตอนที่ ๖ แล้ว เชื่อว่าท่านที่ได้ติดตามอ่านมาจนถึงตอนนี้ คงได้รู้เข้าใจแล้วว่าเทพองค์นี้มีที่มา เรื่องราวอันเป็นตำนานมากมายจากคติความเชื่อของประเทศที่นับถือศาสนาพราหมณ์ ฮินดู และศาสนาพุทธ ที่เหมือนกันและต่างกันไป ที่เหมือนกันเช่น เป็นเทวดาผู้ปกครองสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา ทำหน้าที่โลกบาล ประจำทิศเหนือ มีเรื่องราวในการช่วยเหลือพระพุทธองค์และพระสาวกในสมัยพุทธกาล คือ การเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ถวายพระสูตร "อาฏานาฏิยสูตร” หรือภาณยักษ์ เพื่อปกป้องคุ้มภัยเหล่าพระสาวก พุทธศาสนิกชน ทั้งยังมีจิตใจเมตตาช่วยเหลือมนุษย์ที่ประกอบคุณงามความดี และกำราบเหล่าอมนุษย์ เทวดา ภูตผี ปีศาจ อสุรกาย ไม่ให้เบียดเบียนกัน ถือเป็นการสร้างความสงบสุขให้อยู่ด้วยกันอย่างสันติ

ประติมากรรมท้าวเวสสุวัณ จะมีรูปลักษณ์ร่วมกันและแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับคติความเชื่อและจินตนาการของผู้สร้าง
บทบาทของยักษ์เทพในสถานะโลกบาล จึงเปรียบเสมือนกุศโลบายที่ทำให้มนุษย์รวมถึงอมนุษย์เกิดความยำเกรง เมื่อได้มีโอกาสได้พบรูปเคารพยักษ์ตัวสูงใหญ่ที่หน้าตาหน้าดุดันเขี้ยวยาวน่ากลัว แสดงท่าทางขึงขัง ในมือมีคฑาวุธหรือกระบองอาวุธตามตำนาน ซึ่งถือเป็นหนึ่งในสี่ของอาวุธที่ร้ายกาจที่สุดของเหล่าเทพ มีอานุภาพร้ายแรง สามารถประหารชีวิตยักษ์ได้ทันทีพร้อมกันเป็นร้อยตน ดังปรากฏใน ฎีกามาลัยเทวสูตร พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ ว่า "คฑาวุธของท้าวเวสสุวัณนั้นเป็นยอดแห่ง ศาสตราวุธที่มีอานุภาพสามารถทำลายล้างโลกมนุษย์ให้เป็นจุณในชั่วพริบตา” และความเชื่อที่ว่าท่านเป็นเทพผู้ปกครองควบคุมบรรดายักษ์ ภูตผีปีศาจต่างๆ คติความเชื่อนี้อาจมีผลทำให้คนเกิดความเกรงกลัวไม่กล้าทำสิ่งไม่ดีทั้งต่อหน้าและลับหลังก็เป็นได้

ท้าวเวสสุวัณ ภาคนั่งบัลลัง และภาคเทพบุตรสูติเทพ ณ วัดจุฬามณี จังหวัดสมุทรสงคราม
และบทบาทที่ส่งผลต่อพฤติกรรมของชาวพุทธ ให้ใช้ชีวิตด้วยความระมัดระวังและอยู่ในครรลองคลองธรรม ที่สำคัญคือ ทุกวันพระ ๑๕ ค่ำ ท้าวเวสสุวัณ หรือเวสสุวรรณ จะลงมาสำรวจโลกมนุษย์พร้อมจดบันทึกคุณงามความดีของมนุษย์ลงแผ่นทอง ผู้ใดได้กระทำกรรมดีเจริญในธรรมอย่างสม่ำเสมอ ท่านจะนำไปรายงานต่อสภาของเทพ เมื่อคนผู้นั้นหลุดพ้นจากภพมนุษย์แล้ว จึงอาจส่งผลให้เป็นเกิดเป็นเทวดาในชั้นต่างๆ แต่ในทางกลับกันถ้าพบมนุษย์ทำความชั่ว ชื่อของผู้ที่กรรมชั่วจะถูกจดบันทึกในบัญชีดำและนำส่งไปให้พญายมบาล พิจารณาตัดสินว่าควรจะไปชดใช้กรรมในนรกขุมไหน ในส่วนวันอื่น วันพระ ๘ ค่ำ จะมีเทพบริวารลงมาสำรวจความดีความชั่วของมนุษย์แทน ความเชื่อนี้จึงมีผลให้คนเกรงกลัวที่จะทำบาป มั่นทำความดี เพื่อมุ่งหวังจะไปเกิดในภพภูมิสวรรค์ นั่นเอง

วัตถุมงคล-รูปเคารพต่างๆ ที่สะท้อนถึงความศรัทธาใน ท้าวเวสสุวัณ เทพผู้พิทักษ์ศาสนา
คติความเชื่อในท้าวเวสสุวัณ ส่งผลให้ผู้คนแสดงออกถึงความศรัทธาในรูปแบบต่างๆ เช่น การสร้างรูปเคารพไว้ยังสถานที่สำคัญทางศาสนา เพื่อให้คนได้กราบไว้บูชา และเตือนสติไม่ให้พลั้งเผลอไปทำความชั่ว และยังพบการสร้างวัตถุมงคลในหลากหลายรูปแบบ เช่น ผ้ายันต์ป้องกันภัยเสริมมงคล มีดหมอใช้กันภูตผีสิ่งอัปมงคล รวมไปถึงวัตถุมงคลรูปแบบต่างๆ ที่ใช้บูชาติดตัวไม่ต่างจากพระเครื่องที่คนไทยให้ความนิยม นอกจากนี้ตามสถานที่ต่างๆ เช่น บริษัท ห้างร้าน ยังนิยมบูชารูปเคารพท้าวเวสสุวรรณ ด้วยมุ่งหวังให้ท่านได้ปกป้องคุ้มครอง และช่วยเหลือให้ธุรกิจการค้าเจริญรุ่งเรือง ร่ำรวยทรัพย์สินเงินทอง เฉกเช่นชื่อต่างๆ ที่ใช้เรียกขานนอกเหนือจากท้าวเวสสุวัณ คือ พระธนบดี (ผู้เป็นใหญ่ในทรัพย์) พระธเนศวร (เจ้าแห่งทรัพย์) พระอิจฉาวสุ (มั่งมีได้ตามใจ) เป็นต้น
การที่ชาวพุทธมีเชื่อถือศรัทธาและแสดงออกด้วยการสักการบูชาท้าวเวสสุวัณ และเทพต่างๆนี้ จึงเป็นการแสดงออกที่มีเหตุมีผล เป็นการให้เกียรติเทวดาที่มีคุณธรรม พุทธศาสนิกชนจึงควรปฏิบัติอย่างเหมาะสมต่อเทวดาโดยไม่ให้เสียหลักธรรมของพระพุทธศาสนา ซึ่งสามารถทำได้ ๔ แนวทาง คือ (๑) เทวตาพลี ทําบุญอุทิศส่วนกุศลให้เทวดา เช่น บริจาคทรัพย์เพื่อประโยชน์สาธารณะและอุทิศคุณความดีให้เทวดา (๒) เทวตานุสติ ระลึกถึงคุณธรรมที่ทำให้เป็นเทวดา โดยให้นำแบบอย่างที่ดีมาถือปฏิบัติตาม ได้แก่ การถือศีล ทำสมาธิ และการเจริญ ปัญญา(๓) เจริญเมตตาจิตต่อเทวดา เช่น การสวดบทเมตตาสูตร เพื่อแผ่เมตตาให้สัตว์ทั้งหลายรวมถึงเทวดาแสดงความปรารถนาดีต่อกันไม่เบียดเบียนกัน ให้มีความสุขกันถ้วนหน้า เทวดาได้ยินจึงเกิดความยินดีและให้การคุ้มครอง (๔) อัญเชิญเทวดามาเป็นสักขีพยานในการทำความดี ทำเมื่อเริ่มต้นจัดงานสำคัญหรืองานบุญ ที่ชาวพุทธถือปฏิบัติกันทั่วไป คือ การสวดชุมนุมเทวดาหรืออัญเชิญเทวดามาประชุมร่วมกันเพื่อทำความดี ร่วมอนุโมทนาบุญในการทำความดีของเรา นั่นเอง
๔ แนวทาง ที่กล่าวมานี้ จึงเป็นการแสดงออกที่เหมาะสม ไม่ขัดกับหลักการของพุทธศาสนา เป็นการกระทำที่ให้เกียรติซึ่งกันและกัน ในฐานะเพื่อนร่วมโลก แม้จะอยู่คนละมิติ แต่ยังต้องฝึกฝนและพัฒนาตนเองให้พ้นจากอำนาจกิเลศตัณหาทั้งปวง พบหนทางที่สะอาด สว่าง และสงบ เพื่อจะได้บรรลุมรรคผลนิพพาน อันเป็นเป้าหมายสูงสุดของศาสนาพุทธ
|
ท้าวเวสสุวัณ วัดจุฬามณี จังหวัดสมุทรสงคราม |
+++>>> การเชื่อถือศรัทธาอะไรก็ตาม เมื่อทำด้วยเหตุด้วยผล เข้าใจหลักของธรรมชาติว่า "สิ่งใดๆในโลกนี้ล้วนเกี่ยวข้องเชื่อมโยง เกื้อกูลซึ่งกันและกัน" การเคารพบูชาสิ่งที่มองไม่เห็นและจับต้องได้ยากนี้ จึงเป็นสิ่งที่สามารถทำได้ภายใต้ความพอดี ด้วยมุ่งหวังให้เป็นที่พึ่งทางจิตใจ ทำแล้วเกิดความสบายใจไม่ทำให้ผู้อื่นและตนเองต้องเดือดร้อน ที่สำคัญต้องไม่หย่อนยานในหลักธรรมของพระพุทธองค์ที่ว่า ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ไม่มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ใดๆในโลกจะสามารถบันดาลทุกอย่างให้ได้ตามที่ปรารถนา กรรมหรือการกระทำเท่านั้นที่จะส่งผลต่อตัวผู้นั้น ให้ยึดมั่นในการทำความดี #"ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว” คือ กฎแห่งกรรม ...เป็นเช่นนี้แล
#ขอขอบคุณภาพประกอบจากทุกเว็บไซต์ และจากแฟนเพจวัดจุฬามณี จังหวัดสมุทรสงคราม
#แหล่งข้อมูล : การศึกษาเชิงวิเคราะห์บทบาทและหน้าที่ท้าวมหาราชใน พุทธปรัชญาเถรวาทตามทรรศนะพระราชพรหมยาน (หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ) มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย วารสารสันติศึกษาปริทรรศน์ มจร ปีที่ ๕ ฉบับพิเศษ / พระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย ๒๕๕๒ / ท้าวเวสสุวัณคือใครในคัมภีร์ทางพุทธศาสนาและฮินดู บทความวิจัย วารสารมนุษยศาสตร์ ปีที่ ๑๔ ฉบับที่ ๓ ประจำเดือนกันยายน - ธันวาคม ๒๕๖๐ มหาวิทยาลัยนเรศวร / รายงานการวิจัยเรื่อง การศึกษาเชิงวิเคราะห์บทบาทของเทวดาที่ปรากฏในคัมภีร์พระสุตตันตปิฎก โดยพระมหาศิริวัฒน์ สิริวฑฺฒโน , ประยงค์ จันทร์แดง มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตอุบลราชธานี / ท้าวเวสสุวัณในสังคมและวัฒนธรรมไทย วารสารรามคำแหง ฉบับมนุษย์ศาสตร์ ปีที่ ๓๖ ฉบับที่ ๒ / พจนานุกรมพุทธศาสตร์ฉบับประมวลธรรม ของพระพรหมคุณาภรณ์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) ครั้งที่ ๓๔ เดือนมกราคม พ.ศ. ๒๕๕๙