"๑๓ เมษายน วันผู้สูงอายุแห่งชาติ” และเป็นวันเดียวกับวันมหาสงกรานต์ ซึ่งเป็นวันที่ทุกคนในครอบครัวไม่ว่าจะไปอยู่ที่ไหน ก็มักจะกลับมาเพื่อพบปะเจอะเจอกัน รับศีลรับพรจากผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้าน แต่สำหรับปีนี้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเมื่อวันที่ ๑๗ มีนาคม ๒๕๖๓ ให้เลื่อนวันหยุดราชการประจำปี ระหว่างวันที่ ๑๓-๑๕ เมษายน ๒๕๖๓ เพื่อเป็นการลดโอกาสการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (COVID-๑๙) และยับยั้งการแพร่ระบาดภายในประเทศ ทางรัฐบาลได้ประกาศยกเลิกวันหยุดสงกรานต์ ดังนั้นปีนี้เราต้องส่งความรักความคิดถึงกันผ่านสื่อออนไลน์แทนการเดินทางไปเจอกันที่บ้านและเว้นระยะห่างทางสังคม
ที่มาของวันผู้สูงอายุแห่งชาติ ในสมัยพล.เอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้ตระหนักถึงความสำคัญของผู้สูงอายุและปัญหาต่างๆที่อาจเกิดขึ้น คณะรัฐมนตรีในขณะนั้นจึงได้มีมติเมื่อวันที่ ๑๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๕ ให้วันที่ ๑๓ เมษายน ของทุกปี เป็น"วันผู้สูงอายุแห่งชาติ” และได้เลือก "ดอกลำดวน” เป็นสัญลักษณ์ของผู้สูงอายุ เนื่องจากลำดวนเป็นพืชยืนต้นที่มีอยู่มากในสวนสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี จังหวัดศรีสะเกษ เป็นต้นไม้ที่ให้ความร่มเย็น มีอายุยืน มีใบเขียวตลอดปี ให้ร่มเงาดีและดอกมีสีนวล กลิ่นหอม กลีบแข็งไม่ร่วงง่าย เหมือนกับผู้ทรงวัยวุฒิที่คงคุณธรรมความดีงามไว้ให้เป็นแบบอย่างแก่ลูกหลานสืบไป
ผู้สูงอายุ หรือ ผู้ที่อยู่ในวัยชรา หมายถึง มนุษย์ที่มีอายุอยู่ในช่วงปลายของชีวิต นิยามของผู้สูงอายุอาจแตกต่างกันไปเมื่อพิจารณาจากแง่มุมต่าง ๆ อาทิ ทางชีววิทยา ประชากรศาสตร์ การจ้างงาน และทางสังคมวิทยา ในทางสถิติมักถือว่าผู้ที่อยู่ในวัยสูงอายุ คือ บุคคลที่มีอายุ ๖๐-๖๕ ปีขึ้นไป
จากสถิติของประชากรผู้สูงอายุในประเทศไทย ที่ทางสำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้ดำเนินการสำรวจครั้งแรกในปี ๒๕๓๗ และได้ดำเนินการสำรวจต่อมาในปี ๒๕๔๕, ๒๕๕๐, ๒๕๕๔, ๒๕๕๗ และในปี ๒๕๖๐ นั้น ประเทศไทยเราได้ก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงวัย (Aged socaity) ตั้งแต่ปี ๒๕๔๘ คือ มีสัดส่วนประชากรอายุ ๖๐ ปี ขึ้นไปสูงถึงร้อยละ๑๐ และตามคาดประมาณประชากรของสำนักงานการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช) ในปี ๒๕๖๔ ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างสมบูรณ์ (Complete Aged socaity ) เมื่อแบ่งกลุ่มผู้สูงอายุออกเป็น ๓ ช่วงวัย คือ ผู้สูงอายุวัยต้น อายุ ๖๐-๖๙ ปี ผู้สูงอายุวัยกลาง อายุ ๗๐-๗๙ ปี และผู้สูงอายุวัยปลาย อายุ ๘๐ ปี ขึ้นไป จะพบว่าผู้สูงอายุของไทยส่วนใหญ่จะมีอายุอยู่ช่วงวัยต้น ร้อยละ ๕๗.๔ ของผู้มีอายุทั้งหมด
เมื่อพิจารณาถึงแนวโน้มอัตราของผู้สูงอายุ หมายถึง อัตราส่วนของผู้สูงอายุต่อประชากรทั้งสิ้น ๑๐๐ คน จะพบว่า เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จากร้อยละ ๖.๘ ในปี ๒๕๓๗ เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ ๙.๔ ในปี ๒๕๔๕ เป็นร้อยละ ๑๐.๗ ในปี ๒๕๕๐ ร้อยละ ๑๒.๒ ในปี ๒๕๕๔ ร้อยละ ๑๔.๙ ในปี ๒๕๕๗ และเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ๑๖.๗ ในปี ๒๕๖๐ เมื่อพิจารณาจากข้อมูลข้างตนแล้วเชื่อเหลือเกินว่าหลายครอบครัวในปัจจุบันยังคงมีผู้สูงอายุ ไม่ว่าจะเป็นคุณพ่อ คุณแม่ คุณปู่ คุณย่า และคุณตา คุณยาย อยู่เป็นมิ่งขวัญเป็นศูนย์รวมจิตใจของลูกหลานอยู่ไม่มากก็น้อย ซึ่งในภาวะปัจจุบันที่โลกทั้งใบของเรากำลังเผชิญกับการแพร่ระบาดอย่างหนักของไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (COVID-๑๙) หากครอบครัวไหนที่มีผู้สูงอายุที่ยังมีสุขภาพแข็งแรงอยู่เป็นสมาชิกในบ้าน ควรเตรียมยารักษาโรคประจำตัว อาหาร น้ำดื่มให้เพียงพอ หมั่นล้างมือด้วยสบู่ให้สะอาดอยู่เสมอ กินร้อน แยกจาน แยกช้อน ทำความสะอาดสิ่งของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันให้สะอาด เว้นระยะห่างจากคนอื่นๆ หลีกเลี่ยงการกอด การหอม การอุ้มหรือการสัมผัส หากมีสมาชิกในบ้านเจ็บป่วยให้แยกการกินอยู่และการนอน และเมื่อจำเป็นต้องออกนอกบ้าน เพราะบางบ้านอาจจะมีสมาชิกที่มีความจำเป็นต้องออกไปทำงานนอกบ้านบ้าง ก็ต้องใส่แมส พกเจลแอลกอฮอล์ติดตัว เพื่อใช้ทำความสะอาดมือทุกครั้งหลังจับสิ่งของต่างๆ และเมื่อกลับถึงบ้านให้รีบทำความสะอาดมือด้วยเจลหรือสบู่ทันที รีบอาบน้ำสระผมและซักเสื้อผ้าทันที หากมีไข้ หายใจขัด หอบ ไอ มีอาการคล้ายเป็นหวัดให้รีบไปพบแพทย์ด่วน
เนื่องในวันผู้สูงอายุนี้ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม ขอฝากให้ลูกหลานเพิ่มความใส่ใจดูแลผู้สูงอายุในบ้านและ สร้างขวัญกำลังใจให้แก่กันและกัน เพื่อให้ผ่านพ้นภาวะวิกฤติแห่งโรคร้ายนี้ไปได้อย่างปลอดภัย แต่ถ้าหากท่านไหนที่มาทำงานห่างไกลภูมิลำเนาก็ขอให้ส่งผ่านความรักความห่วงใย ความคิดถึงกันผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ แทนที่จะเดินทางไปเยี่ยมท่านเหล่านั้นจะดีกว่า เพราะจะได้ไม่ต้องนำเชื้อโรคไปติดคนที่เรารัก โปรดช่วยกันรักษาระยะทางสังคม ( Social Distancing) หมั่นออกกำลังกาย และผักผ่อนอย่างเพียงพอ เพื่อความปลอดภัยของเราทุกคน
...............................................
ขอขอบคุณข้อมูล จาก สำนักงานสถิติแห่งชาติ และ วิกิพีเดีย