
สงสัยกันหรือไม่ว่า เหตุใดพญาครุฑจากสัตว์อันมีสถานะเป็นพาหนะทรงของพระวิษณุ หรือพระนารายณ์ ไฉนเล่าพญาครุฑจึงได้กลายมาตราประทับอยู่บนหัวหนังสือราชการ มาดูกันว่าในเรื่องเล่าปรัมปราเกี่ยวกับพญาครุฑจะมีเนื้อหาชวนให้ตื่นตาตื่นใจ ไม่แพ้เทพปกรณัมเรื่องอื่น ๆ อย่างไร
ในศาสนาพราหมณ์ ฮินดู เล่าว่าครุฑเป็นพี่น้องกับนาค มีพ่อเป็นฤาษีองค์เดียวกันชื่อ พระกัศยปมุนีเทพบิดร แต่ต่างมารดากัน ครุฑใช้เวลาถึงพันปีถือกำเนิดอยู่ในไข่ เมื่อครบกำหนดจึงฟักตัวออกมา เมื่อแรกเกิดว่ากันว่ามีร่างกายใหญ่โตจรดท้องฟ้า ดวงตาเมื่อกระพริบเหมือนฟ้าแลบ เวลาขยับปีกทีใดขุนเขาจะตกใจหนีหายไปพร้อมพระพาย รัศมีที่พวยพุ่งออกจากกายมีลักษณะดั่งไฟไหม้ทั่วสี่ทิศ ทำให้เทวดาทั้งหลายเดือดร้อน จึงพากันไปขอร้องให้ลดขนาดตัวลงมา
ในกาลต่อมา นางวินตามารดาของครุฑต้องตกเป็นทาสของนางกัทรุน้องสาวแท้ ๆ ของตนและเป็นมารดาของนาคทั้งปวง ครุฑจึงต้องช่วยมารดาโดยการนำน้ำอมฤตมาให้นาคเพื่อให้มารดาเป็นไท ครุฑได้บินไปสวรรค์นำน้ำอมฤตลงมา ฝ่ายพระอินทร์และทวยเทพติดตามลงมาและเกิดการต่อสู้กันขึ้น แต่ไม่สามารถเอาชนะครุฑได้ พระนารายณ์จึงได้ออกมาขัดขวางแต่ต่างฝ่ายต่างไม่อาจเอาชนะกันได้ ทั้งสองฝ่ายจึงต้องตกลงยุติศึกต่อกัน โดยพระนารายณ์ให้พรแก่ครุฑว่าจะให้ครุฑเป็นอมตะและให้อยู่ในตำแหน่งสูงกว่าพระองค์ ส่วนครุฑได้ถวายสัญญาว่าจะเป็นพาหนะทรงของพระนารายณ์ และเป็นธงครุฑพ่าห์ปักอยู่บนรถศึกของพระนารายณ์อันเป็นที่สูงกว่า
สังคมไทยแต่อดีตรับคติความเชื่อในลัทธิเทวราชาจากอินเดีย โดยเชื่อว่าพระมหากษัตริย์ทรงเป็นองค์ "นารายณ์อวตาร” จึงมีแบบแผนประเพณีการสร้างรูป "ครุฑพ่าห์” หรือพระครุฑพ่าห์หมายถึงครุฑซึ่งเป็นพาหนะในท่วงท่ากางปีก ใช้เป็นสัญลักษณ์แห่งพระราชบัลลังก์และตราประจำแผ่นดิน ตั้งแต่ยุคกรุงศรีอยุธยา โดยจะเห็นตราพระครุฑพ่าห์พิมพ์เป็นตราบนหัวหนังสือราชการต่าง ๆ
ในบางประเทศที่เคยนับถือศาสนาพราหมณ์-ฮินดูมาก่อนที่จะหันมานับถือศาสนาอิสลามอย่างอินโดนีเซีย ก็ใช้ "ครุฑ” เป็นเครื่องหมายประจำชาติ โดยออกเสียงว่า "การูด้า” ต่างกันตรงที่ครุฑของชาวชวามีรูปร่างเป็นนกทั้งร่าง ส่วนของไทยเป็นครึ่งคนครึ่งนก