กรมส่งเสริมวัฒนธรรม
เว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้
font size small font size normal font size big
หน้าแรก
Search


ข่าวสาร >> บทความ >> วัฒนธรรมประเพณี
‘ซ่าหริ่ม ขนมโบราณ หวานดี มีประโยชน์’

วันที่ 6 มี.ค. 2563
 
ซ่าหริ่มลิ้มหวานล้ำ แทรกใส่น้ำกะทิเจือ
วิตกอกแห้งเครือ ได้เสพหริ่มพิมเสนโรย...
(จากกาพย์เห่ชมเครื่องคาวหวานบทพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๒)
 
     ซ่าหริ่ม หรือ ซาหริ่ม เป็นของหวานนิยมทานในฤดูร้อน ประกอบด้วย เส้นทำจากแป้งถั่วเขียวผสมสีสันจากธรรมชาติหรือสีผสมอาหารให้มีหลากสี เช่น เขียว ชมพู ขาว และมีส่วนผสมหลักคือ น้ำลอยดอกมะลิ น้ำใบเตยให้ความหอม กะทิให้ความมัน และความหวานจากน้ำตาลทราย รับประทานได้ง่าย โดยการตักเส้นซ่าหริ่มใส่ถ้วย เติมน้ำแข็ง และราดด้วยน้ำกะทิ หรือน้ำเชื่อม
 
     ขนมหวานชนิดนี้ เชื่อว่ามีมาตั้งแต่กรุงศรีอยุธยาตอนปลาย คำว่า ซ่าหริ่ม มาจากคำของชาวชวา นักภาษาศาสตร์ ชวาอธิบายว่า Sa-Rim เป็นคำที่เคยใช้ในอดีตมานานแล้ว เป็นคำยืมจากอินเดียใช้เรียกขนมวุ้นใสเป็นเส้นๆ ที่ใส่กะทิ แต่ปัจจุบันชาวชวา-มลายูเรียกขนมนั้นว่า Dawet ดาเวต เรียกตัวแป้งวุ้นว่าเชนดอล Cendol ในยุคสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ มีข้าหลวงชาวมลายูที่เป็นเชลยจากปัตตานีหลายนางเข้ามาถวายงานรับใช้ในราชสำนัก อยู่ภายใต้การดูแลของพระราชธิดาสองพระองค์ คือเจ้าฟ้ากุณฑลและเจ้าฟ้ามงกุฎ ทั้งสองพระองค์โปรดปรานวัฒนธรรมของชวามาก จึงเป็นไปได้ว่า ซ่าหริ่ม เป็นขนมที่มาจากชวาสู่ กรุงศรีอยุธยาตอนปลายตั้งแต่ตอนนั้นเอง แต่ตัวขนมถูกดัดแปลงไม่เป็นขนมแบบวุ้นๆ ทำเลียนแบบคล้ายลอดช่อง โดยทำตัวซาหริ่มให้เส้นมีขนาดเล็กลงไม่ใหญ่เท่าลอดช่องและมีหลายสี ตัวเส้นเหนียวกว่า นิยมทานเป็นของหวานเพื่อคลายร้อน
 
     >>> อากาศร้อนเยี่ยงนี้ ได้ทานซาหริ่ม ซักถ้วย รับรองเย็นชื่นใจ คลายร้อนได้ ..ดีนักแล
 
ที่มา : พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๕๔ / เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ 25 ก.พ. ๖๓ / มติชนสุดสับดาห์ ๓ มี.ค. ๖๓ / วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ภาพ : www.shutterstock.com
ลิขสิทธิ์ของ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม สำหรับใช้ประโยชน์เพื่อเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมและการศึกษา
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์ | การปฏิเสธความรับผิด (Disclaimer)