กรมส่งเสริมวัฒนธรรม
เว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้
font size small font size normal font size big
หน้าแรก
Search


ข่าวสาร >> บทความ >> รู้ไว้ใช่ว่า
รู้ไว้ใช่ว่า…ตอน ตำนานยักษ์ “เทพผู้พิทักษ์ศาสนา” ตอน ๕

วันที่ 4 ก.ย. 2563
 
         
     ได้โอกาสสืบสาวราวเรื่องราวคติความเชื่อเกี่ยวกับ #ท้าวเวสสุวรรณ ทำให้เข้าใจและได้รู้ถึงวิธีปฏิบัติที่ถูกต้องต่อเทวดาหรือเทพ ที่จัดให้เป็นเทวดาในด้านบวก ด้วยเทพองค์นี้มีความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธเจ้า และคอยอาสาช่วยเหลือสงเคราะห์งานที่เป็นบุญกุศลทางพระพุทธศาสนา ทั้งยังคุ้มครองคนที่ปฏิบัติธรรม จึงเท่ากับว่าเทพองค์นี้ได้แสดงบทบาทช่วยเหลือคนทำความดี ถือเป็นวิธีการบำเพ็ญบุญกุศลไปในตัว ด้วยมุ่งหวังพัฒนาตนให้พ้นจากกิเลสตัณหา เพื่อให้บรรลุมรรคผลนิพพาน อันเป็นเป้าหมายสูงสุดของพุทธศาสนา เชื่อว่าเหล่าท้าวมหาราชและเทวดาบางองค์ บรรลุธรรมถึงขั้นโสดาบัน ซึ่งมีสถานะเป็นถึงพระอริยเจ้า การแสดงออกด้วยการบูชาเทวดาจึงเป็นเรื่องสมควรทำ เพราะไม่ขัดต่อพระรัตนตรัย โดยพระพุทธองค์ทรงสอนให้สาวกมีความเคารพเทวดาด้วย "การเจริญเทวตานุสสติกรรมฐาน”
 
 
         
 
 
จิตรกรรมขาพระสุเมรุ แสดงภาพสวรรค์ชั้นต้น (กามาวจรสวรรค์)
 
 
     เรื่อง #การเจริญเทวตานุสสติกรรมฐาน หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี วัดหินหมากเป้ง จังหวัดหนองคาย ท่านได้ให้ความกระจ่างชัดว่า "เทวตานุสติ” หมายถึง "การระลึกถึงธรรมอันทำบุคคลให้เป็นเทวดา คนเราทุกคนย่อมอยากเป็นคนดี อยากเป็นเทวดา เป็นอินทร์ เป็นพรหม หรืออยากบริสุทธิ์ พ้นจากทุกข์ มีความปรารถนาด้วยกันทุกคน แต่เมื่อมาได้เพียงมนุษยสมบัติ ก็นับว่าดีอักโขแล้ว เพราะถือเป็นพื้นฐานที่จะตกแต่งให้มนุษย์ไปเป็นเทวดา อินทร์ พรหม ต่อไป มนุษย์ที่มีสมบัติ คือมีอวัยวะครบครันบริบูรณ์ ไม่บ้าใบ้เสียจริตผิดมนุษย์ นับว่าดีอยู่แล้ว ขอให้ตั้งหลักฐานการเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์นี้ให้มั่นคงเถิด”
 
     หลวงปู่เทสก์ ท่านได้ให้แง่คิดไว้ในเบื้องต้นการจะเป็นเทวดาได้ จะต้องเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ด้วยมนุษยธรรมเสียก่อน เหตุนั้นท่านจึงเรียกว่า "มนุสฺโส” เกิดขึ้นมาเป็น มนุสฺโส แล้วจึงค่อยพัฒนาไปเป็น "มนุสฺสเทโว” ต่อไป การที่จะเป็นมนุสฺสเทโวได้ ก็ต้องมีธรรมะเป็นเครื่องมืออยู่ เปรียบเหมือนกับพ่อค้าแม่ค้า ถ้าทำการค้าขาย ก็เรียกพ่อค้าแม่ค้า ทำไร่ทำนา ก็เรียกว่าชาวไร่ ชาวนา ถ้าทำราชการ ก็เรียกว่าข้าราชการ ฉะนั้น การที่เป็นเทวดาได้ ก็เพราะมีธรรมอันทำให้เป็นเทวดาธรรม นั้นคือ "หิริ” ความละอายแก่ใจ และ "โอตฺตปฺป” ความเกรงกลัวต่อบาป หิริ โอตฺตปฺป นี้เป็นธรรมที่สำคัญ เพราะเป็นพื้นฐานของศีล เป็นต้นตอของการรักษาศีลต่างๆได้ ธรรม ๒ ข้อนี้จึงเป็นพื้นฐานที่พัฒนามนุษย์ให้เป็นเทวดา ดังนั้นมนุษย์จึงควรที่จะสร้างคุณธรรมให้มีขึ้นในตน เมื่อมีขึ้นแล้วจึงเพิ่มพูนให้เจริญงอกงามยิ่งขึ้นต่อๆไป
 
 
         

         
ท้าวสหัมบดีพรหม พร้อมเหล่าเทวดาเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ เพื่ออาราธนาให้ทรงแสดงธรรมโปรดเหล่าสรรพสัตว์ทั้งหลาย
 
       
     คำสอนของพระพุทธองค์ ทำให้เข้าใจและมองเห็นได้กระจ่างชัดเกี่ยวกับ กรรมหรือการกระทำที่ส่งผลให้ไปเกิดเป็นเทวดาในภาพรวม ไม่แบ่งว่าจะไปเกิดในสวรรค์ชั้นไหน นั่นคือ การประพฤติสุจริตทางกาย ทางวาจา และทางใจ ดังพระพุทธพจน์ ที่ว่า
 
        
 
     "อานนท์ กายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ที่เรากล่าวว่าควรทำโดยส่วนเดี๋ยวนี้ เมื่อผู้ใดกระทำก็พึงหวังอานิสงส์ต่อไปนี้ คือ ตนเองก็กล่าวโทษตนเองไม่ได้ วิญญูชนทั้งหลายใคร่ครวญแล้วย่อมสรรเสริญ กิตติศัพท์อันดีงามย่อยขจรไป ตายไปก็ไม่หลงฟั่นเฟือน เมื่อกายแตกทำลาย ภายหลังมรณะ ย่อมเข้าถึงสุขคติโลกสวรรค์”
 
     โดยทั่วไปกายสุจริต หมายถึง การไม่ฆ่าไม่เบียดเบียนชีวิตผู้อื่น การไม่ลักขโมย หรือยึดสิ่งของของผู้อื่นมาเป็นของตน และการไม่ประพฤติผิดทางเพศ วจีสุจริต หมายถึง การไม่พูดเท็จ ไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดจาไร้สาระ และไม่พูดส่อเสียด มโนสุจริต หมายถึง ไม่ละโมบ อยากได้ของผู้อื่น ไม่คิดปองร้ายผู้อื่น และมีความคิดเห็นที่ถูกต้องในครรลองครองธรรม
 
 
 
     และคำสอนของพระพุทธองค์ ยังระบุว่า บุคคลทำความดีเหมือนกัน (เช่น ประพฤติสุจริต หรือรักษาศีล ๘) แต่ตายแล้วเหตุใดจึงไปเกิดเป็นเทวดาในสวรรค์ชั้นต่างกัน ที่เป็นเช่นนี้เพราะ #ความตั้งใจของแต่ละบุคคลต่างกัน กล่าวคือ บุคคลบางคนอาจมีความชื่นชมในสวรรค์ชั้นใด ชั้นหนึ่งเป็นพิเศษ ก็สามารถตั้งความปรารถนา ที่จะไปเกิดในสวรรค์ชั้นนั้นได้ตั้งแต่สมัยยังชีวิตอยู่ โดยหมั่นบำเพ็ญคุณความดีและตั้งจิตอธิษฐานขอให้ได้ไปเกิดเป็นเทวดาในสวรรค์ชั้นที่ตนปรารถนา
 
 

พระพุทธเจ้าเทศนาธรรมโปรดเหล่าพระสาวกทั้งหลาย
 
 
 
         
     ดังพุทธดำรัส ที่ว่า "ดูกรสารีบุตร บุคคลบางคนในโลกนี้ มีความมุ่งหวัง (ในผลบุญ) จึงให้ทาน มีจิตผูกพัน (ในผลทาน) จึงให้ทาน มีจิตมุ่งสะสมบุญจงให้ ทาน เขาย่อมให้ทานด้วยคิดว่า เราละโลกนี้ไปแล้วจะเสวย (ผลแห่งทานนั้น) เขาจึงให้ ข้าว นํ้า ผ้า ยานพาหนะ ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่อยู่ และประทีป เป็นทานแก่สมณะ พราหมณ์... ดูกรสารีบุตร เขาครั้นให้ทานนั้นแล้วตายไป ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายของเหล่าเทวดาชั้นจาตุมหาราชิกา”
         

 

               ถึงแม้ว่า การไปเกิดเป็นเทวดาดูเหมือนว่าจะสูงส่งและดีกว่าการเกิดเป็นมนุษย์ เพราะเทวดาอยู่ในภาวะเป็นทิพย์ มีอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ และไม่ต้องต่อสู้ดิ้นรนทำมาหากินเหมือนมนุษย์ แต่ตามหลักในพระคัมภีร์ ถือว่าการเกิดเป็นมนุษย์หรือเทวดาอยู่ในฐานะเดียวกัน คือ เป็นการเกิดใน สุคติภูมิ พระพุทธเจ้ายังทรงตรัสถึง ข้อได้เปรียบของมนุษย์ที่เหนือกว่าเทวดาไว้ ๓ ประการ คือ (๑) เป็นผู้ที่กล้าหาญกว่า (๒) เป็นผู้มีสติดีกว่า และ (๓) มีโอกาสที่จะรักษาพรรมจรรย์ได้ดีกว่า ที่เป็นเช่นนี้เนื่องจากการเกิดเป็นเทวดาแม้จะมีข้อดีหลายประการที่มนุษย์ไม่มี โดยเฉพาะความสุขความสบาย อยากได้สิ่งใดก็เพียงนึกหรือเนรมิตเอา แต่ข้อดีเหล่านี้อาจทำให้เทวดาหลงระเริงขาดสติได้ง่าย และไม่มีโอกาสที่จะเห็นความทุกข์ยาก อันเป็นความความจริงของสิ่งมีชีวิตประจำโลกมนุษย์…          
 
 
>>>เรื่องราวของยักษ์ "เทพผู้พิทักษ์ศาสนาพุทธ” ยังมีให้ค้นหา ติดตามอ่านกันได้ใน ตอนที่ ๖
 
 
 
#ขอขอบคุณภาพประกอบจากทุกเว็บไซต์ และจากแฟนเพจวัดจุฬามณี จังหวัดสมุทรสงคราม
#แหล่งข้อมูล : การศึกษาเชิงวิเคราะห์บทบาทและหน้าที่ท้าวมหาราชใน พุทธปรัชญาเถรวาทตามทรรศนะพระราชพรหมยาน (หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ) มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย วารสารสันติศึกษาปริทรรศน์ มจร ปีที่ ๕ ฉบับพิเศษ / พระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย ๒๕๕๒ / ท้าวเวสสุวัณคือใครในคัมภีร์ทางพุทธศาสนาและฮินดู บทความวิจัย วารสารมนุษยศาสตร์ ปีที่ ๑๔ ฉบับที่ ๓ ประจำเดือนกันยายน - ธันวาคม ๒๕๖๐ มหาวิทยาลัยนเรศวร / ท้าวเวสสุวัณในสังคมและวัฒนธรรมไทย วารสารรามคำแหง ฉบับมนุษย์ศาสตร์ ปีที่ ๓๖ ฉบับที่ ๒ / พจนานุกรมพุทธศาสตร์ฉบับประมวลธรรม ของพระพรหมคุณาภรณ์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) ครั้งที่ ๓๔ เดือนมกราคม พ.ศ. ๒๕๕๙
ลิขสิทธิ์ของ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม สำหรับใช้ประโยชน์เพื่อเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมและการศึกษา
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์ | การปฏิเสธความรับผิด (Disclaimer)