ความเชื่อเรื่องเทพผู้พิทักษ์ศาสนา ที่คนทั่วไปรู้จักกันในนาม ท้าวเวสสุวรรณ ยังพบในรายงานการวิจัยเรื่อง การศึกษาเชิงวิเคราะห์บทบาทและหน้าที่ท้าวมหาราชในพุทธปรัชญาเถรวาทตามทรรศนะพระราชพรหมยาน (หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ) โดย พระทศเทพ ทสธมฺโม และ พระมหาสากล สุภรเมธี มหาวิทยาลัย มหามกุฏราชวิทยาลัย ที่เผยแพร่ในวารสารสันติศึกษาปริทรรศน์ มจร ปีที่ ๕ ฉบับพิเศษ รายงานว่า พุทธปรัชญาฝ่ายเถรวาท เชื่อเทวดามีอยู่จริง เพราะเทวดาเป็นสิ่งมีชีวิต แต่มนุษย์ทั่วไปมองไม่เห็น ด้วยเพราะอยู่คนละภพละภูมิกันหรืออยู่กันคนละมิติ
เมื่อครั้งที่พระพุทธองค์ยังทรงเป็นพระโพธิสัตว์ทรงบำเพ็ญเพียรอธิเทวญาณทัสสนะ เป็นญาณทัสสนะพิเศษของพระพุทธเจ้า ที่ทำให้ทรงรู้เห็นและสามารถติดต่อกับบรรดาเทวดาในสวรรค์ชั้นต่างๆ ได้ รวมทั้งทำให้พระองค์ทรงทราบรายละเอียดทุกอย่างเกี่ยวกับชีวิต และความเป็นอยู่ของเทวดาเหล่านั้น เป็นญาณทัสสนะที่พระองค์ทรงพัฒนาให้มีขึ้น ด้วยการบำเพ็ญเพียรทางจิตตั้งแต่ยังไม่ตรัสรู้ จนกระทั่งบรรลุญาณทัสนะนั้น ครบถ้วนสมบูรณ์พร้อมกับการตรัสรู้ จากเนื้อหานี้ทำให้เราได้รู้ว่าเทวดามีกำเนิดมาก่อนพุทธกาล

ภาพวิมานของท้าวจตุโลกบาล ทั้ง ๔ พร้อมเหล่าบริวาร
ในรายงานการศึกษาดังกล่าว ยังทำให้ทราบถึงที่ตั้งและลักษณะของสวรรค์ซึ่งเป็นที่อยู่ของท้าวจตุโลกบาลทั้ง ๔ หรือสวรรค์ชั้นแรก อันมี ท้าวเวสสุวรรณเป็นหัวหน้าหรือผู้ปกครอง ระบุว่า เขาพระสุเมรุเป็นศูนย์กลางของโลกและจักรวาลมีสัณฐานกลม ล้อมรอบไปด้วยทะเล มีชื่อเรียกว่า นทีสีทันดร ถัดจากนทีสีทันดร จะเป็นภูเขาสัตตบริภัณฑ์ (สัตต แปลว่า ๗ บริภัณฑ์แปลว่า วงล้อม) ล้อมรอบเขาพระสุเมรุ เป็นที่อยู่ของท้าวจตุมหาราช สวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา กล่าวได้ว่าอยู่ใกล้ชิดกับมนุษย์มากที่สุด เป็นสวรรค์ชั้นต่ำที่สุดในกามาวจรสวรรค์ ตั้งอยู่บนภูเขายุคนธรซึ่งสูงครึ่งหนึ่งของภูเขาสิเนรุ นับจากโลกมนุษย์สูงขึ้นไป ๔๒,๐๐๐ โยชน์ มีเทวนคร ๔ นคร ล้อมรอบไปด้วยกำแพงทองคำที่ประดับด้วยแก้ว ๗ ประการ เป็นสถานที่ประทับของ ท้าวจตุโลกบาล มีหน้าที่ดูแลรักษาโลกทั้ง ๔ ทิศ ท้าวกุเวร หรือท้าวเวสสุวรรณ มีพวกยักษ์เป็นบริวาร ประจำทิศเหนือ โดยมีความสูง ๖,๐๐๐ วา เทวดาที่เป็นบริวารมีความสูง ๔,๐๐๐ วา เทวดาชั้นจาตุมหาราชิกานี้ จัดเป็นอุปปัตติเทพ หมายถึง เทวดาชนิดโอปปาติกะ เทวดาโดยกำเนิด
( ความหมายของ "โอปปาติกะ” ในศาสนาพุทธ หมายถึง ผู้ที่เกิดผุดขึ้นโดยไม่ต้องอาศัยพ่อแม่ และโตเต็มตัวในทันใด ตามแต่อดีตกรรม ได้แก่ เทวดา พระพรหม สัตว์นรก เปรต อสูร )

ภาพเขาพระสุเมรุ ลายรดน้ำหน้าตู้พระธรรมแสดงภาพเขาพระสุเมรุใจกลางจักรวาล (จากsarakadee.com)
"เขาพระสุเมรุ” ตามคติในศาสนาพราหมณ์ ศาสนาพุทธ และศาสนาเชน คือภูเขาที่เป็นศูนย์กลางของโลกหรือจักรวาล เป็นที่อยู่ของสิ่งมีวิญญาณในภพและภูมิต่าง ๆ ของสัตว์โลก
ในรายงานการวิจัยบทบาทและหน้าที่ท้าวมหาราชฯ ในพุทธปรัชญาเถรวาท ฉบับนี้ ยังแสดงถึงบทบาทที่สำคัญของท้าวจตุมหาราช ตามทรรศนะพระราชพรหมยาน (หลวงพ่อฤาษีลิงดำ) ใน ๒ บทบาท คือ
บทบาทต่อเทวโลก เป็นทหารของพระอินทร์มีหน้าที่ป้องกันสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เพราะว่าเทวดากับอสุรกายไม่ถูกกัน อสุรกายในสมัยก่อนเคยอยู่สวรรค์ดาวดึงส์ แล้วก็ถูกพวกเทวดาขับไล่ เพราะว่า อสุรกายเป็นอันธพาล ต้องมาอยู่ใต้เขาพระสุเมรุ และบรรดากองทัพ ๔ จตุมหาราช อันได้แก่ กองทัพคนธรรพ์ กองทัพกุมภัณฑ์ กองทัพนาค กองทัพยักษ์ มาประจำอยู่กึ่งกลางเขาพระสุเมรุ เพื่อป้องกันอสุรกายบุกขึ้นมา ส่วนท้าวมหาราช(พระอินทร์) ประจำที่ด่านสุดท้าย คือ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์
และบทบาทอันส่งผลต่อมนุษย์โลก คือ มีหน้าที่ควบคุมความประพฤติของมนุษย์ ถ้าสร้างความดีก็ จะส่งเทวดาไปอารักขา เช่น นักบวชและผู้ที่ปฏิบัติกรรมฐาน แล้วบันทึกความดีของมนุษย์ลงในบัญชีบุญ แล้วรายงานต่อพระอินทร์ที่เทวสถาน ถ้าสร้างความชั่วก็สุดวิสัยที่จะช่วย จึงจดบันทึกความชั่วที่ทำลงในบัญชีบาป แล้วให้เทวดา ๔ องค์ ที่เรียกว่า เทวทูต นำบัญชีบาปไปส่งยังสำนักพระยายม เพื่อพิจารณาตัดสินเมื่อหลังจากตายแล้วว่าควรจะไปชดใช้กรรมในนรกขุมไหน

ภาพลายเส้นเทวดา นางฟ้า ในจิตรกรรมไทย
นอกจากนี้ ยังทำให้ทราบถึงการจะไปเกิดเป็นเทวดา ณ สวรรค์ชั้นจาตุมหาราช ต้องถึงพร้อมด้วย บุญกิริยาวัตถุ ๓ ได้แก่ บุญกิริยาวัตถุสำเร็จด้วยทาน (ทานมัย) บุญกิริยาวัตถุสำเร็จด้วยศีล (ศีลมัย) บุญกิริยาวัตถุสำเร็จด้วยภาวนา(ภาวนามัย) ด้วยท้าวมหาราชมีฐานะเหนือเทพยดาทั้งปวง ประกอบด้วย ๑๐ ประการคือ มี อายุทิพย์ วรรณทิพย์ สุขทิพย์ ยศทิพย์ อธิปไตยทิพย์ รูปทิพย์ เสียงทิพย์ กลิ่นทิพย์ รสทิพย์ และ โผฏฐัพพทิพย์*
*โผฏฐัพพทิพย์ หมายถึง สิ่งที่มาถูกต้องกาย, สิ่งที่กายสัมผัสแตะต้องได้ ได้แก่ อารมณ์หรือสัมผัสที่มีลักษณะเย็น ร้อน อ่อน แข็ง หยาบ ละเอียดเป็นต้น ซึ่งมากระทบหรือสัมผัสกับกาย ทำให้กายสามารถรู้สึกได้ถึงลักษณะนั้น
เมื่อบุญถึงพร้อมส่งผลให้ไปเกิดเป็นเทวดาบนสวรรค์แล้ว หลายคนอาจเกิดข้อสงสัยว่า ทำไมเทวดาจึงมีหน้าตาที่แตกต่างกัน ซึ่งควรมีจะหน้าตาสวยงามปานเทพบุตรและเทพธิดา เทวดาบางองค์หรือแม้แต่ท้าวมหาราช ผู้ปกครองเหล่าเทวดา ในที่นี้คือ "ท้าวเวสสุวรรณ” จึงมีหน้าตาที่ดุดัน เป็นยักษ์มีเขี้ยวดูหน้ากลัว เรื่องนี้ในทางพุทธศาสนาตอบได้ว่า อยู่ที่บุญทำกรรมแต่งสะสมบุญหรือทำบาปอะไรมาแต่ในอดีตชาติ จะแสดงผลต่อภพภูมิในปัจจุบันหรือภพต่อไป การเกิดมาหน้าตาดีผิวพรรณผุดผ่องสวยงามด้วยเป็นผู้ที่มีพฤติกรรมการแสดงออกที่สำรวม จะทำสิ่งใดมักทำด้วยอารมณ์และความรู้สึกที่ผ่องใส ไม่ขุ่นมัว ควบคุมอารมณ์ได้ดี มีนิสัยที่อ่อนโยนโกรธคนยาก แม้จะถูกผู้อื่นกระทำไม่ดีแต่ก็ไม่โต้ตอบด้วยการกระทำไม่ดีกลับ คือมนุษย์ที่คิดบวกมองโลกในด้านดี จึงส่งผลให้เกิดมามีหน้าตาสวยงามราวเทพบุตรเทพธิดา

ประติมากรรมจตุโลกบาล เทพผู้ปกครองสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา (ประกอบงานหน้าพระเมรุฯ ในหลวงรัชกาลที่ ๙)
ในทางตรงกันข้ามแม้คนผู้นั้นจะครองตนอยู่ในศีลในธรรม ชอบทำบุญทำทานช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยากอย่างสม่ำเสมอและรักในความถูกต้องยุติธรรม ตลอดที่มีชีวิตอยู่ก็ตาม แต่ถ้าเป็นคนที่หงุดหงิดโมโหง่าย ทำอะไรมักทำด้วยโทสะ ชอบแสดงอำนาจดุด่าว่ากล่าวคนอื่น หรือแม้แต่ชอบลังแกคนที่อ่อนแอกว่า ถ้าในภพมนุษย์ได้สะสมบุญกุศลมาเช่นนี้ แม้จะเคยทำบุญใหญ่ด้วยการช่วยเหลือพระพุทธองค์ หรือค้ำจุนนักบวชและสาวกของพระพุทธเจ้า เมื่อครันสิ้นชีวิตไปจุติในภพเทวดาจึงมีหน้าตาเป็นยักษ์แม้จะอยู่ในสถานะเทพก็ตาม เมื่อมีผู้ทำให้โกรธเคืองก็จะมีเขี้ยวงอกออกมาให้ผู้อื่นเกรงกลัว เฉกเช่น "ท้าวเวสสุวรรณ” มหาราชผู้ปกครองสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา ที่มีจิตใจเมตตาคอยช่วยเหลือมนุษย์ที่อยู่ในศีลในธรรม แต่ก็มีหน้าที่ปกครองและกำราบพวกยักษ์ มาร อสูร และบรรดาอมนุษย์ทั้งหลาย หรือแม้แต่ควบคุมเทวดาที่แตกแถว ไม่ให้เบียดเบียนหรือทำร้ายกัน เทพองค์นี้จึงมีทั้งหน้าตางดงามหรือปางเทพบุตร และมีหน้ายักษ์ที่ดุดัน ตามคติความเชื่อของชาวพุทธนั่นเอง
ทั้งนี้ยังมีเรื่องราวที่น่าสนใจเกี่ยวกับ ยักษ์หรือเทพผู้พิทักษ์ศาสนาพุทธ มาให้แฟนคอลัมน์ รู้ไว้ใช่ว่า... (ติดตามอ่าน ตำนานยักษ์ "เทพผู้พิทักษ์ศาสนา” ตอน ๕)
ที่มา : การศึกษาเชิงวิเคราะห์บทบาทและหน้าที่ท้าวมหาราชใน พุทธปรัชญาเถรวาทตามทรรศนะพระราชพรหมยาน (หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ) มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย วารสารสันติศึกษาปริทรรศน์ มจร ปีที่ ๕ ฉบับพิเศษ / พระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย ๒๕๕๒ / ท้าวเวสสุวัณคือใครในคัมภีร์ทางพุทธศาสนาและฮินดู บทความวิจัย วารสารมนุษยศาสตร์ ปีที่ ๑๔ ฉบับที่ ๓ ประจำเดือนกันยายน - ธันวาคม ๒๕๖๐ มหาวิทยาลัยนเรศวร / ท้าวเวสสุวัณในสังคมและวัฒนธรรมไทย วารสารรามคำแหง ฉบับมนุษย์ศาสตร์ ปีที่ ๓๖ ฉบับที่ ๒ / พจนานุกรมพุทธศาสตร์ฉบับประมวลธรรม ของพระพรหมคุณาภรณ์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) ครั้งที่ ๓๔ เดือนมกราคม พ.ศ. ๒๕๕๙