ความสำคัญของยักษ์ที่มีสถานะเป็นเทพที่ชื่อ ท้าวเวสสุวัณ หรือ ท้าวเวสสุวรรณ มีกล่าวอยู่ในพระไตรปิฎกฉบับ มหามกุฏราชวิทยาลัย (๒๕๕๒) ตามบทบรรยายที่แสดงให้เห็นบทบาทหน้าที่และความสำคัญของเทพองค์นี้ ในการเป็นอธิบดีหรือหัวหน้าจตุโลกบาล และการเป็นผู้คุ้มครองดูแลศาสนา ดังปรากฏในพระสุตตันตปิฎก/ทีฆนิกาย/ปาฏิกวรรค/อาฏานาฏิยสูตร ว่า คืนหนึ่งขณะที่พระพุทธเจ้าเข้าประทับ ณ เขาคิชฌกูฎ ใกล้กรุงราชคฤห์ ท้าวมหาราชทั้งสี่(จตุมหาราช) หรือเทพผู้พิทักษ์โลกบาลทั้ง ๔ ทิศ พร้อมด้วยเสนารักษ์ คนธรรพ์ (รุกขเทวดา) กุมภัณฑ์และนาค ได้เข้าเฝ้า เมื่อท้าวมหาราชทั้งสี่ถวายบังคมแล้ว ท้าวเวสสุวัณ อีกนามคือ ท้าวกุเวร ได้กราบทูลพระพุทธองค์ว่า มียักษ์ชั้นผู้ใหญ่ ชั้นกลาง ชั้นต่ำ ที่เลื่อมใสในพระผู้มีพระภาคก็มี ไม่เลื่อมใสก็มี แต่ที่ไม่เลื่อมใสมีมากกว่า เพราะพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงธรรม เพื่อเว้นจากฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม พูดปด ห้ามดื่มสุราเมรัย พวกยักษ์เหล่านั้นไม่เว้นจากสิ่งเหล่านี้ โดยมากจึงไม่ชอบพระพุทธองค์ มีสาวกของพระผู้มีพระภาคปฏิบัติธรรมถือศีลในป่า อาจได้รับเหตุเภทภัยจากยักษ์ชั้นผู้ใหญ่ที่ไม่เลื่อมใสในพระธรรมวินัยของพระองค์

ท้าวจตุโลกบาล ทั้ง ๔ เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า ถวาย "อาฏานาฏิยสูตร” เพื่อใช้ป้องกันภัยร้าย
ด้วยเหตุนี้ เพื่อให้ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ได้รับการคุ้มครองรักษา ท้าวจตุมหาราชทั้ง ๔ คือ ท้าวธตรฐ ท้าววิรุฬหก ท้าววิรูปักษ์ และ ท้าวเวสสุวรรณ อธิบดีแห่งจตุโลกบาล จึงกราบทูลพระพุทธเจ้าให้ทรงเรียนคาถาบทหนึ่ง ชื่อ "อาฏานาฏิยา” เพื่อทำให้บรรดายักษ์เกิดความเลื่อมใส พระผู้มีพระภาคทรงรับโดยดุษณีภาพ ท้าวเวสสุวรรณจึงถ่ายทอดพระสูตร ชื่อ อาฏานาฏิยา ซึ่งก็คือบทสวดสำหรับคุ้มครองป้องกันเภทภัย นั่นเอง พระสูตรดังกล่าวมีขนาดยาวมาก ด้วยความที่มีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับยักษ์และอมนุษย์ ผู้คนทั่วไปจึงนิยมเรียกกันว่า "การสวดภาณยักษ์” แต่ในความเป็นจริงแล้วการสวดภาณยักษ์ เป็นการเรียกโดยสะดวก เพราะในการสวดภาณยักษ์นั้น มีทั้งภาณยักษ์ และภาณพระ รวมกันเป็นอาฏานาฏิยสูตร นั่นเอง
มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์พบว่า มีการสวดอาฏานาฏิยสูตร หรืออาฏานาฏิยปริตร เพื่อสะเดาะเคราะห์ในพระนคร สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ เพื่อให้รอดพ้นจากเหตุร้ายในช่วงเวลาเปลี่ยนศักราช นอกจากนี้ ยังปรากฏจารึกอาฏานาฏิยสูตร ในพระอารามหลวงสำคัญอย่างวัดชุมพลนิกายาราม ด้วย ในปัจจุบันจะเห็นได้ว่าการสวดภาณยักษ์ได้แพร่หลายไปยังวัดต่างๆ ทั่วประเทศ ทั้งวัดหลวงและวัดราษฎร์ ส่วนใหญ่มักสวดด้วยสำเนียงที่ดุดัน แห้งแหบโหยหวนบ้าง เป็นการสวดทำนองขู่ตวาดภูตผีปีศาจ ซึ่งเป็นลักษณะการสวดเช่นเดียวที่ปรากฏในพระราชพิธี ทว่า ในระดับพระราชพิธีนั้น ต่อมาได้ทรงโปรดฯ ให้นิมนต์พระอีกสำรับหนึ่ง คือ สวดภาณพระ ด้วยทำนองสรภัญญะที่ไพเราะชื่นใจขึ้นเป็นคู่กัน ทั้งนี้ เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจแก่ประชาราษฎร์ ว่าได้ขับไล่ภัยอันตรายสิ่งร้ายและอวยพรชัยสิริมงคล ในกาลเวลาสำคัญแห่งการเปลี่ยนปี

พิธีสวดภาณยักษ์ เพื่อขจัดสิ่งอัปมงคล ในช่วงเวลาเปลี่ยนปีหรือเปลี่ยนศักราชใหม่
ในปฐมสมโพธิกถา ฉบับ กรมพระปรมานุชิตชิโนรส (๒๕๕๒) ได้แสดงให้เห็นถึงบทบาทของท้าวเวสสุวัณในการเป็นจตุโลกบาล และการช่วยเหลือพระพุทธเจ้าเพื่อบำเพ็ญเพียรสู่การหลุดพ้นครั้งสมัยพุทธกาลว่า ท้าวเวสสุวัณได้ร่วมกับท้าวจตุโลกบาลนำบาตรศิลามรกตมาทั้ง ๔ ทิศ แล้วเข้ากราบทูลถวายให้ทรงรับซึ่งข้าวสัตตุด้วยบาตรทิพย์ทั้ง ๔ พระพุทธองค์ทรงดำริว่าใบเดียวก็เพียงพอ จึงทรงอธิษฐานผสานบาตรทั้ง ๔ เข้าเป็นบาตรเดียวกัน แล้วทรงรับข้าวสัตตุด้วยบาตรนั้น ดังความว่า
 |
ประติมากรรมท้าวจตุโลกบาลถวายบาตร
"พาณิชสองพี่น้องนามว่า ตปุสสะ และภัลลิกะ นำ "ข้าวสัตตุผง สัตตุก้อน” ถวายบิณฑบาตแก่พระพุทธองค์ และขณะนั้นพระพุทธองค์ทรงปริวิตกว่า บาตรของตถาคตก็มิได้มี ณ กาลนั้น ท้าวจตุโลกบาลทั้ง ๔ ทราบในพุทธอัธยาศัย จึงนำเอาบาตรศิลาทั้ง ๔ บาตร มาทั้ง ๔ ทิศ ทิศละองค์ น้อมเข้ากราบทูลถวายให้ |
ทรงรับซึ่งข้าวสัตตุด้วยบาตรทิพย์ทั้ง ๔ พระพุทธองค์ทรงรับทั้ง ๔ บาตร เพื่อจะรักษาปสาทศรัทธาแห่งท้าวจตุมหาราช ใช่จะทรงรับด้วยมหิจฉภาพเจตนา (ความมักมาก) จึงทรงอธิษฐานผสานบาตรทั้ง ๔ เข้าเป็นบาตรเดียว แล้วทรงรับข้าวสัตตุด้วยบาตรนั้น”
(ปรมานุชิตชิโนรส, กรมพระ, ๒๕๕๒, หน้า ๑๗๕-๑๗๖)
ความหมายของข้าวสัตตุ สัตตุผง ทางบาลีเรียกว่า "มันถะ” คือ ข้าวตากที่ตำละเอียด สัตตุก้อน เรียกว่า "มธุบิณฑิกะ” คือ ข้าวตากที่ผสมน้ำผึ้งแล้วปั้นเป็นก้อน

ท้าวจตุโลกบาล ทั้ง ๔ นำบาตรศิลามรกต ๔ ใบ มาถวายพระพุทธเจ้า เพื่อใช้บิณฑบาต
ในไตรภูมิกถา ฉบับกรมศิลปากร (๒๕๕๕) แสดงให้เห็นถึงบทบาทของท้าวไพศรพณ์มหาราช หรือ ท้าวเวสสุวรรณ ในการเป็นหัวหน้าจตุโลกบาล กล่าวคือ ท้าวจตุโลกบาลเสด็จตรวจตราผู้ทำความดีความชั่วในโลกนี้ทุกวันบางวันจะส่งเทพบุตรมาแทน เช่น วันพระ ๘ ค่ำ ส่วนวันพระ ๑๕ ค่ำ จะเสด็จด้วยพระองค์เอง โดยถือแผ่นทองสุกและดินสอทำด้วยหินแดงตระเวนดูมนุษย์ ถ้าเห็นผู้ใดทำบุญทำกรรมก็จะเขียนชื่อผู้นั้นลงใน แผ่นทองว่า คนนี้อยู่บ้านนี้ได้กราบไหว้บูชาและปฏิบัติต่อพระศรีรัตนตรัย เลี้ยงดูบิดามารดา สดับฟังพระเทศนา มีศีลเมตตา ฯลฯ แล้วส่งให้ปัญจสิขรเทพบุตรเพื่อถวายแก่พระมาตุลี แล้วจึงนำไปถวายแก่พระอินทร์ เทวดาทั้งหลายจะมาอ่านดูในแผ่นทอง ถ้าเห็นว่ารายชื่อในแผ่นทองมีมากก็จะแซ่ซ้องสาธุการยินดี ด้วยเห็น ว่ามนุษย์จะได้ขึ้นสวรรค์มาเป็นเพื่อนตนอีกมากมาย และจตุราบายก็จะว่างเปล่าลง ถ้าเทวดาเห็นรายชื่อใน แผ่นทองนั้นน้อยก็จะเสียใจแล้วกล่าวว่า อนิจจามนุษยโลกทำบุญกันน้อยนัก คงชวนกันทำบาปมาก คงจะ พากันไปเกิดในจตุราบายเป็นจำนวนมาก ต่อไปเมืองสวรรค์ของเราคงว่างลงเป็นแน่

ท้าวเวสสุวรรณ ตรวจภพภูมิเพื่อสำรวจการทำความดีของมนุษย์ ทุกวันพระขึ้น ๑๕ ค่ำ
อีกทั้งยังแสดงให้เห็นถึงบทบาทของท้าวเวสสุวรรณมหาราชในการสั่งสอนมนุษย์ และการเป็น ผู้ช่วยเหลือให้ของวิเศษ กล่าวไว้ในไตรภูมิกถาฉบับนี้ ว่า โดยท่านได้ให้ของวิเศษและสั่งสอนเกี่ยวกับผลของการกระทำบุญกรรม การหมั่นสร้างบุญบารมี ตามความตอนที่พระเจ้าศรีธรรมาโศกราชรับสั่งให้พระนางเจ้า อสันธมิตตาถวายผ้าไตรจีวร จำนวนหกหมื่นสำรับ พระไพศรพณ์มหาราช (ท้าวเวสสุวรรณ) ได้มอบผอบวิเศษที่สามารถชักผ้าออกมาได้ตามที่ต้องการให้แก่พระนาง ทั้งนี้เพราะเมื่อชาติก่อนพระนางได้ถวายผ้าเช็ดหน้าผืนหนึ่งแด่พระปัจเจกพุทธเจ้า จากเหตุการณ์ที่พระนางได้พบพระไพศรพณ์ทำให้ได้เรียนรู้ พระนางจึงถวายคติธรรมแก่พระเจ้าศรีธรรมาโศกราชว่า ให้หมั่นสร้างความดี ละเว้นความชั่ว และตั้งตนอยู่ในความไม่ประมาท...
และจากรายงานการวิจัย... ยังทำให้เข้าใจถึงบทบาทและหน้าที่ของเทพองค์นี้ได้ดียิ่งขึ้น (ติดตามอ่าน ตำนานยักษ์ "เทพผู้พิทักษ์ศาสนา” ตอน ๔)
ที่มา : พระไตรปิฎกฉบับประชาชน. สุชีพ ปุญญานุภาพ (๒๕๕๐) กรุงเทพฯ กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม / พระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย ๒๕๕๒ / ท้าวเวสสุวัณคือใครในคัมภีร์ทางพุทธศาสนาและฮินดู บทความวิจัย วารสารมนุษยศาสตร์ ปีที่ ๑๔ ฉบับที่ ๓ ประจำเดือนกันยายน - ธันวาคม ๒๕๖๐ มหาวิทยาลัยนเรศวร / ท้าวเวสสุวัณในสังคมและวัฒนธรรมไทย วารสารรามคำแหง ฉบับมนุษย์ศาสตร์ ปีที่ ๓๖ ฉบับที่ ๒ / การศึกษาเชิงวิเคราะห์บทบาทและหน้าที่ท้าวมหาราชใน พุทธปรัชญาเถรวาทตามทรรศนะพระราชพรหมยาน (หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ) มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย วารสารสันติศึกษาปริทรรศน์ มจร ปีที่ ๕ ฉบับพิเศษ