
ในสมัยโบราณมีประเพณีนิยมให้เด็กทั้งผู้หญิงและผู้ชายไว้ ผมจุก ผมแกละ ผมโก๊ะ และผมเปีย กันแทบทั้งนั้น เพราะมีความเชื่อว่าเด็กเกิดมามีอายุได้ประมาณ ๑ เดือน ก็จะโกนผมไฟทิ้ง แล้วเริ่มไว้จุกเพื่อความเป็นมงคลเพราะเชื่อว่ามีสิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครอง นอกจากนี้ยังมีความเชื่อว่า การไว้ผมให้เด็กแบบดังกล่าวจะทำให้เด็กไม่เจ็บ ไม่ป่วย เลี้ยงง่าย ซึ่งสืบเนื่องมาจากความเชื่อเรื่องขวัญ และเมื่อย่างเข้าสู่วัยแรกรุ่นเด็กผู้ชาย มีอายุประมาณ ๑๓-๑๕ ปี ส่วนเด็กผู้หญิง มีอายุ ๑๑ ปี ทั้งนี้เพราะในวัยดังกล่าวเด็กผู้หญิงค่อนข้างจะโตเร็วกว่าเด็กผู้ชายนั้นเอง ถือเป็นวัยที่ย่างเข้าสู่วัยรุ่น วัยหนุ่มสาวแล้วจะต้องทำพิธีตัดผมนี้ทิ้งไป เรียกว่า พิธีมงคลโกนจุก ซึ่งสามารถทำรวมกับพิธีมงคลอื่นๆก็ได้ เช่น งานบวช งานทำบุญวันเกิด ทำบุญขึ้นบ้านใหม่ เป็นต้น การจัดงานจะเล็กหรือใหญ่ขึ้นอยู่กับฐานะความพร้อมและกำลังทรัพย์ของเจ้าภาพ โดยพิธีที่ทำมีทั้งพิธีสงฆ์และพิธีพราหมณ์ บางรายก็จัดให้มีแต่พิธีสงฆ์อย่างเดียว และต้องทำตามฤกษ์ยามที่กำหนดไว้ ส่วนสถานที่ที่ทำพิธีนั้นมีทั้งที่บ้าน ที่วัด และที่โบสถ์พราหมณ์ ส่วนผู้มีฐานะดีจะประกอบพิธีที่บ้าน หลังจากหาฤกษ์แล้วก็เตรียมจัดแต่งสถานที่สำหรับพิธีมงคลและสิ่งของเข้าพิธี สิ่งที่ขาดไม่ได้คือหม้อน้ำมนต์ มีดโกน กรรไกรใส่พาน โดยเจ้าภาพจะต้องนิมนต์พระสงฆ์ ๕ รูป หรือ ๗ รูป มาร่วมพิธี ซึ่งงานจะมี ๒ วันคือ สวดมนต์เย็นวันหนึ่ง รุ่งเช้าทำพิธีตัดจุก
โดยวันแรก จัดขึ้นตอนเย็น พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ บิดามารดาหรือผู้ปกครองจะจัดแจงโกนผมรอบๆจุกของเด็กให้เกลี้ยงเหลือไว้แต่จุกพองาม อาบน้ำประแป้งแต่งตัวทาขมิ้นแล้วเกล้าจุกให้เรียบร้อย ปักปิ่น สวมพวงมาลัยที่จุกนั้น นุ่งผ้าใหม่ ประดับร่างกายเครื่องทองและเพชร นิลจินดา มีกำไรข้อมือ กำไลข้อเท้า สร้อยสังวาล และจี้ เป็นต้น (การแต่งกายก็ให้สวยงามตามฐานะ) โดยนิยมให้เด็กแต่งกายอีกบ้านหนึ่งอาจจะเป็นบ้านญาติๆที่อยู่ใกล้บ้าน พอแต่งตัวเสร็จแล้วจะแห่มาที่บ้านของตนเอง แล้วนำเด็กไปนั่งที่หน้าพระสงฆ์ที่นิมนต์มาสวดพระพุทธมนต์ เมื่อพระเริ่มสวด ผู้ทำพิธีจะนำสายสิญจน์ที่พระจับเวลาสวดพระพุทธมนต์ ทำเป็นมงคลวงกลมคล้องศีรษะเด็ก โดยใช้สายสิญจน์หนึ่งเส้นที่เตรียมไว้ทำเป็นวงคล้องผมจุกของเด็ก หลังจากพระสวดมนต์จบแล้วให้ลั่นฆ้องโห่ร้องเอาชัย เป็นเสร็จพิธีในวันแรก
สำหรับวันที่สอง เช้ารุ่งขึ้น อาบน้ำ แต่งตัว นิยมนุ่งขาวห่มขาวให้เด็ก และแบ่งผมเด็กออกเป็น ๓ ปอย เอาแหวนนพเก้าผูกปอยละ ๑ วง รวมเป็น ๓ วง ในสมัยโบราณนิยมเอาใบเงิน ใบทอง หญ้าแพรกแซมไว้ด้วย ครั้นถึงเวลาฤกษ์ โหรลั่นฆ้องชัย พระสงฆ์สวดชยันโต เมื่อถึงบทว่า สีเส ปฐวิโปก ขเร ผู้เป็นประธานในพิธีตัดจุกปอยที่ ๑ ทันที จากนั้นผู้ใหญ่ในตระกูลตัดผมปอยที่ ๒ พ่อเด็กตัดปอยที่ ๓ แล้วให้ผู้ใหญ่คนอื่นๆทยอยตัดกันเป็นคนๆไป ผู้ร่วมตัดจุกไม่จำกัดบุคคลว่าเป็นผู้ใดแล้วแต่เจ้าของงานจะเชิญเจาะจงด้วยความนับถือ หลังจากนั้นจึงให้ช่างโกนผมให้เรียบร้อย พาเด็กไปนั่งบนที่ที่จัดไว้เพื่อให้แขกที่มาร่วมงานรดน้ำพระพุทธมนต์และให้ศีลให้พร ให้เด็กมีอายุยืนยาวอยู่กับบิดามารดาจนแก่เฒ่า บิดามารดาจะรดน้ำให้พรทีหลัง โหรหรือพราหมณ์รดน้ำอวยพร จากนั้นพาเด็กไปแต่งตัวเสียใหม่ ตอนนี้ควรจะแต่งสีและแต่งอย่างธรรมดาจะได้เสร็จทันเวลาพระฉันเพล เมื่อพระฉันเพลเสร็จเรียบร้อยแล้วให้เด็กถวายเครื่องไทยธรรมแด่พระสงฆ์ พระสงฆ์อนุโมทนาแล้วลากลับเป็นเสร็จพิธีโกนจุก ส่วนผมที่โกนเสร็จเรียบรอยแล้ว พ่อแม่จะนำไปใส่กระทงลอยน้ำไปแล้วอธิษฐานขอความก้าวหน้าให้แก่เด็ก ถ้ามีทุกข์โศกก็ให้หายเตรียมรับชีวิตใหม่อันสดใสในวันต่อไป แต่บางรายจัดทำพิธีพราหมณ์ต่อไปอีกซึ่งมักทำในตอนบ่ายคือการทำขวัญโกนจุก เพราะถือกันว่าเมื่อเด็กเอามือลูบศีรษะไม่พบจุกดังแต่ก่อนก็ใจหาย จึงได้จัดทำการทำขวัญเพื่อเรียกขวัญให้อยู่กับเนื้อกับตัว โดยสิ่งที่ต้องใช้ในการทำขวัญและเวียนเทียนสมโภช ได้แก่ บายศรีต้น จะเป็น ๓ ชั้น หรือ ๕ ชั้นก็ได้ พร้อมทั้งไม้ขนาบ ๓ อัน ยอดตอง ๓ ยอด ผ้าคลุมบายศรี โต๊ะสำหรับตั้งบายศรีและเครื่องกระยาบวด ประกอบด้วย กล้วยน้ำหว้า ๑ หวี ขนมต้มขาว ขนมต้มแดง มะพร้าวอ่อน ๑ ลูก ผลไม้ ขนมต่างๆ ขันใส่ข้าวสาร ๑ ใบ ไว้สำหรับปักแว่นเทียน ๓ อัน เทียนชัย ๑ เล่ม เทียนชนวน ๑ เล่ม ใบพลู ๗ ใบ โถกระแจะ ๑ ใบ เมื่อเตรียมสิ่งของดังกล่าวเรียบร้อยแล้วก็เริ่มพิธีทำขวัญจุก เริ่มว่าบททำขวัญตั้งแต่มารดาตั้งครรภ์และเลี้ยงมาจนเติบใหญ่ เมื่อทำขวัญเสร็จแล้วญาติมิตรและแขกที่ได้รับเชิญนั่งล้อมวงเพื่อทำพิธีเวียนเทียนสมโภช บิดามารดาของเด็กจะนั่งทางขวามือของโหรหรือพราหมณ์จะได้ส่งแว่นเทียนให้เวียนจากซ้ายไปขวา เมื่อครบ ๓ รอบ หรือ ๕ รอบแล้ว โหรหรือพราหมณ์จะเปลืองผ้าคลุมบายศรีออกห่อขวัญ (ใบตองที่หุ้มบายศรี) ส่งให้เด็กถือเป็นมงคล ผ้าคลุมบายศรีนี้จะเอาไปไว้ใต้ที่นอนเด็กสามวัน โหรหรือพราหมณ์ดับเทียนแล้ว โบกควันเทียนไปทางเด็ก เจิมแป้งกระแจะที่หน้าผากเด็กและให้เด็กกินน้ำมะพร้าวและไข่ขวัญ เพื่อให้เด็กหมดเคราะห์หมดโศกหมดโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ และมีอายุมั่นขวัญยืน เมื่อเติบใหญ่ขึ้นให้มีบริบูรณ์ด้วยทรัพย์สินศฤงคารพร้อมด้วยข้าทาสบริวาร เป็นเสร็จพิธีทำขวัญ จากนั้นเจ้าภาพก็เลี้ยงดูแขกที่มาในงานต่อไป บางรายจัดให้มีมหรสพสมโภชด้วยแล้วแต่ฐานะของเจ้าภาพ
ประโยชน์ของพิธีโกนจุก
๑.การโกนจุกนี้เป็นเครื่องเตือนใจให้เด็กสำนึกว่าตนเองได้เริ่มเข้าสู่วัยผู้ใหญ่แล้ว และจะต้องประพฤติตนตามแบบอย่างผู้ใหญ่ทั้งหลาย ซึ่งจะต้องทำหน้าที่สมาชิกสังคมที่สมบูรณ์ต่อไป
๒.ทำให้ผู้เข้าร่วมพิธีโกนจุกได้ข้อคิดคติสอนใจ เช่น การตัดจุก ๓ ปอย หมายถึงการขัดเกลาและขจัดตัดทิ้งเสียซึ่งมูลกิเลส คือ โลภ โกรธ หลง อันเป็นมารผลาญความสุขของมนุษย์ ดังนั้นการเข้าร่วมพิธีโกนจุก จึงเปรียบเสมือนการเข้ามาพัฒนาจิตของตนเองให้สูงขึ้นนั่นเอง
๓.เป็นการช่วยจรรโลงและอนุรักษ์วัฒนธรรมไทยมิให้สูญหายเพราะว่าการไว้จุกและพิธีโกนจุกเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่ง ผู้ที่ปฏิบัติตามแนววิถีแบบนี้ ถือได้ว่าเป็นผู้ที่รักษาความเป็นชาติไทยเอาไว้
๔.ตัวเด็กเองจะได้ตระหนักในหน้าที่ของตนในฐานะเป็นเด็กต้องศึกษาเล่าเรียน เคารพเชื่อฟังผู้สั่งสอน มีความอ่อนน้อมถ่อมตนในฐานะเป็นเด็ก ต้องศึกษาเล่าเรียน เคารพเชื่อฟังผู้ใหญ่สั่งสอน มีความอ่อนน้อมถ่อมตนต่อผู้ใหญ่
๕.ทำให้เกิดความรักความสามัคคีในหมู่วงศาคณาญาติและระหว่างเพื่อนบ้านด้วยกัน เพราะการประกอบพิธีกรรมอันเดียวกันได้นั้น ย่อมแสดงว่าพวกเขามีใจเดียวกัน จึงทำให้สังคมเป็นปึกแผ่นมั่นคง
พิธีโกนจุก เป็นพิธีกรรมและประเพณีที่มีมาแต่โบราณ และยังมีการปฏิบัติกันอยู่บ้างในปัจจุบัน กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ได้ประกาศขึ้นบัญชีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ ประจำปี พ.ศ. ๒๕๕๖ สาขาแนวปฏิบัติ ทางสังคม พิธีกรรมและงานเทศกาลต่างๆ
.......................................
ที่มา : ประเพณี พิธีมงคล และวันสำคัญของไทย โดย ธนากิต, http://ich.culture.go.th/ ประเพณีการไว้จุกและการโกนจุกของเด็กไทย กรมศิลปากร, บายศรี : สัญลักษณ์ของพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับชีวิต กรมศิลปากร ภาพ : www.facebook.com/museumsiamfan