กรมส่งเสริมวัฒนธรรม
เว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้
font size small font size normal font size big
หน้าแรก
Search


ข่าวสาร >> บทความ >> รู้ไว้ใช่ว่า
รู้ไว้ใช่ว่า…ตอน ตำนานยักษ์ “เทพผู้พิทักษ์ศาสนา” ตอน ๒

วันที่ 14 ส.ค. 2563
 
     ตามคติในศาสนาพุทธและศาสนาพราหมณ์-ฮินดู มีความเชื่อเรื่องราวเกี่ยวกับยักษ์ ที่คนไทยรู้จักกันในนาม "ท้าวเวสสุวรรณ” หรือในทางฮินดู คือ "ท้าวกุเวร” ซึ่งเป็นหนึ่งในสี่จตุมหาราช หรือจตุโลกบาล เทพผู้ปกครองสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา หรือสวรรค์ชั้นแรก ที่ใกล้โลกมนุษย์มากที่สุด มีหน้าที่ปกครองบรรดา ยักษ์ รากษส ครุฑ กินนร กินรี รวมถึงนาค ภูตผี อมนุษย์ ฯลฯ ท้าวเวสสุวรรณ ถูกกล่าวขานว่าเป็นเทพแห่งความมั่งคั่ง นับถือกันว่าพระองค์เป็นเทพประจำทิศอุดร หรือทิศเหนือ และเป็นเทพผู้คุ้มครองโลก (โลกบาล) โดยเมื่อเทียบกับความเชื่อทางตะวันตกแล้ว เทียบได้กับ "พลูตอส” Ploutos เทพปกรณัมกรีก ซึ่งเป็นเทพเจ้าผู้มอบทรัพย์ใต้ดินแก่ชาวโรมัน เช่น ทองคำ และเงิน
 
 

ท้าวกุเวร ในคติอินเดีย ทรงกระบอง,ขวาน ทรงมนุษย์เป็นพาหนะ มียักษ์เป็นบริวาร  (ภาพจาก วิกิพีเดีย)
 
 
     ตามคติความเชื่อของศาสนาฮินดู พบเรื่องราวของท้าวกุเวร ในคัมภีร์ฤคเวท ตำราทางศาสนาที่เก่าแก่ที่สุดในโลก เกิดขึ้นเมื่อราว ๓,๐๐๐ ปีก่อนคริสต์ศักราช ระบุว่า ท้าวกุเวร เป็นยักษ์แคระ ถือเป็นเทพแห่งโจรและการลักทรัพย์ อาศัยอยู่ตามป่าเขา ถ้ำลึก คอยเฝ้าอัญมณีและทรัพย์สมบัติ พวกโจรจึงนิยมบูชาท้าวกุเวร เพื่อให้ช่วยเหลือในการปล้น คอยปกป้องคุ้มภัยจากภูตผีปีศาจ และคอยเฝ้าทรัพย์สมบัติตามความเชื่อ
 
    และ ในคัมภีร์ปุราณะ ของฮินดู "ท้าวกุเวร” เป็นบุตรของพระวิศรวะมุนี กับนางอิลาวิฑา และเป็นหลานของฤๅษีปุลัสตยะ ในอดีตชาติ ท้าวกุเวร เกิดเป็นพราหมณ์ ชื่อ ยาคทัตต์ มีนิสัยชอบลักขโมย วันหนึ่งถูกเหล่าทหารไล่ตามจับ จึงได้เข้าไปหลบในเทวาลัยร้างของพระศิวะ และได้จุดไฟขึ้นบูชาพระศิวะ ทำให้พระศิวะทรงพอพระทัย หลังจากนั้นก็ถูกทหารจับได้และต้องโทษประหาร หลังจากที่ตายแล้ว ยมทูตไม่สามารถนำวิญญาณไปได้ ด้วยพระศิวะทรงส่งสาวกไปรับวิญญาณของเขา และส่งเขาไปเกิดใหม่ ยาคทัตต์ได้ไปเกิดเป็นบุตรของท้าวอรินทมะ แห่งแคว้นกลิงคะ ชื่อว่า ทัมพกุมาร และได้ทำพิธีบูชาพระศิวะด้วยการจุดประทีปอยู่ทุกเวลา เมื่อเขาตายแล้วจึงได้มากำเนิดใหม่เป็นบุตรของพระวิศรวะมุนี มีนามว่า "พระไวศรวัณ” ได้บำเพ็ญตบะจนพระศิวะพอพระทัย จึงได้รับแต่งตั้งให้เป็นเทพแห่งทรัพย์สมบัติ เป็นเจ้าแห่งทรัพย์ เป็นเจ้าของทองและแก้วแหวนเงินต่างๆ รวมถึงทรัพย์แผ่นดินทั่วไป และทำหน้าที่เป็นเทพโลกบาลประจำทิศเหนือ
 
 

พระธนบดี หรือท้าวเวสสุวรรณ ศิลปะศรีวิชัย อายุประมาณ ๑,๕๐๐ ปี ปัจจุบันอยู่ในพิพิธภัณฑ์กีเม่ต์ ฝรั่งเศส
 
 
     ยังมีลัทธิความเชื่อของพราหมณ์ ได้กล่าวถึงประวัติของท้าวกุเวร (เวสสุวรรณ) ในมหากาพย์รามายณะ อันเป็นที่มาของรามเกียรติ์ของไทย บรรยายว่า ทรงเป็นโอรสของ พระวิศรวิสุมนี กับ นางอิทาวิทา แต่ในมหาภารตะว่า เป็นโอรสของพระปุลัสต์ ซึ่งเป็นบิดาของ พระวิศรวัส กล่าวว่า ด้วยเหตุที่ท้าวกุเวร ใฝ่ใจกับท้าวมหาพรหม เป็นเหตุทำให้บิดาโกรธ จึงแบ่งภาคเป็น พระวิศวรัส หรือมีนามหนึ่งว่า เปาลัสตยัม ซึ่งรามเกียรติ์ไทยเรียกว่า ลัสเตียน ท้าวลัสเตียน หรือ พระวิศวรัสซึ่งเป็นภาคหนึ่งของ พระวิศรวิสุมนี นั้น ได้นางนิกษา บุตรีท้าวสุมาลีรักษา เป็นชายา มีโอรสด้วยกัน คือ ทศกัณฐ์ กุมภกรรณ พิเภก และ นางสำมะนักขา ดังนั้น ท้าวกุเวร จึงเป็นพี่ชายต่างมารดา และร่วมบิดาเดียวกับทศกัณฐ์ เหตุที่ท้าวกุเวรผิดใจกับผู้เป็นพ่อ เพราะไปฝักใฝ่กับท้าวมหาพรหม ซึ่งเป็นเทวดา ทำให้ผู้เป็นพ่อ คือ พระวิศรวิสุมนีโกรธ เพราะถือทิฐิว่า ตนเป็นยักษ์ เป็นเทวดาต่ำศักดิ์กว่า ไม่ควรไปยุ่งกับเทวดา ที่บนสวรรค์ชั้นสูงกว่า เห็นคนอื่นดีกว่าพ่อของตน ก็เลยแบ่งภาคออกไปมีเมียใหม่ มีลูกใหม่ ที่ท้าวกุเวร มีใจฝักใฝ่กับท่านท้าวมหาพรหมนั้น เป็นเพราะท้าวกุเวรนั้น ต้องการบำเพ็ญตบะบารมี หรือ สร้างสมความดี ด้วยการเข้าฌาน และบำเพ็ญทุกรกิริยา นานนับพันปี จนท้าวมหาพรหมโปรดปราน ประทานบุษบกให้ อันบุษบกนี้ หากใครได้ขึ้นไปแล้ว สามารถล่องลอยไปไหนมาไหนได้ตามต้องการ
 
     เดิมทีนั้น ท้าวกุเวรครองกรุงลงกา ซึ่งมีพระวิศวกรรม เป็นผู้สร้างให้ แต่นางนิกษา ได้ยุยงให้ทศกัณฐ์ ชิงกรุงลงกา มาจากท้าวกุเวร ทั้งยังชิงเอาบุษบกที่พระพรหมได้ประทานแก่ท้าวกุเวรมาด้วย ดังที่ได้บอกเอาไว้แล้วว่า บุษบกนี้สามารถลอยไปไหนมาไหนได้ดังใจนึก แต่มีข้อห้ามมิให้หญิงที่ถูกสมพาส (แปลว่า การอยู่ร่วม การร่วมประเวณี) จากชาย ๓ คน นั่ง ซึ่งต่อมานางมณโฑ ได้นั่งบุษบก จึงทำให้บุษบกไม่สามารถลอยไปไหนมาไหนได้อีก เพราะด้วยเหตุที่ นางมณโฑ ตกเป็นหญิงที่ผ่านการสมพาสชายมาถึง ๓ คน คือ พาลี ทศกัณฐ์ และ หนุมาน เมื่อทศกัณฐ์ ให้นางมณโฑ ขึ้นนั่งบุษบกนี้ทีหลัง บุษบกจึงเกิดการขัดข้องทางเทคนิค ไม่ลอยไปไหนมาไหนได้ตามต้องการอีก ครั้งเมื่อท้าวกุเวรต้องเสียกรุงลงกาไปแล้ว ท้าวมหาพรหมได้สร้างนครให้ใหม่ ชื่อ "อลกา” หรือ "ประภา” อันตั้งอยู่ที่เขาหิมาลัย มีสวนชื่อ "เจตรรถ” อยู่บนเขามันทรคีรี อันเป็นกิ่งแห่งเขาพระสุเมรุ บ้างก็ว่า ท้าวกุเวร อยู่ที่เขาไกรลาส ซึ่งพระวิษณุกรรมเป็นผู้สร้างให้...
 
 

ภาพวาดลายเส้นท้าวกุเวร (หนังสือ "พระคเณศ
และเทพองค์สำคัญ" โดยสุวัฒน์ แสนขัติยรัตน์)

ท้าวกุเวร หรือท้าวเวสสุวรรณ (จิตรกรรม)

 
 
      จากการบำเพ็ญตบะบารมีและยึดมั่นในคุณงามความดี ท้าวกุเวร จึงได้รับพรจากพระพรหมาให้เป็นอมฤต (ไม่ตาย) และเป็นเจ้าแห่งทรัพย์ ด้วยอำนาจพรนั้นจึงได้เป็นผู้ปกครองทิศอุดร และได้เป็นเจ้าของทองและเงินแก้วต่าง ๆ ทรัพย์แผ่นดินทั่วไป ท้าวกุเวรนี้ มีนามที่เรียกขานกัน หลายชื่อ เช่น เรียกว่า ธนบดี (เป็นใหญ่ในทรัพย์) ธเนศวร (เจ้าแห่งทรัพย์) อิจฉาวสุ (มั่งมีได้ตามใจ) ยักษราช (ขุนแห่งยักษ์) มยุราช (ขุนแห่งกินนร) รากษเสนทร์ (เป็นใหญ่ในพวกรากษส) เปาลัสตยะ (ลูกปุลัสตยะ) เป็นต้น
 
     >>> ตำนานหน้าต่อไป ตามความเชื่อของพุทธศาสนา… (ติดตามอ่าน ตำนานยักษ์ "เทพผู้พิทักษ์ศาสนา” ตอน ๓)
 
 
ที่มา : ราชบัณฑิตยสถาน, พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๕๔ เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว, กรุงเทพพฯ / ท้าวเวสสุวัณคือใครในคัมภีร์ทางพุทธศาสนาและฮินดู บทความวิจัย วารสารมนุษยศาสตร์ ปีที่ ๑๔ ฉบับที่ ๓ ประจำเดือนกันยายน - ธันวาคม ๒๕๖๐ มหาวิทยาลัยนเรศวร / ท้าวเวสสุวัณในสังคมและวัฒนธรรมไทย วารสารรามคำแหง ฉบับมนุษย์ศาสตร์ ปีที่ ๓๖ ฉบับที่ ๒ / การศึกษาเชิงวิเคราะห์บทบาทและหน้าที่ท้าวมหาราชใน พุทธปรัชญาเถรวาทตามทรรศนะพระราชพรหมยาน (หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ) มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย วารสารสันติศึกษาปริทรรศน์ มจร ปีที่ ๕ ฉบับพิเศษ
ลิขสิทธิ์ของ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม สำหรับใช้ประโยชน์เพื่อเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมและการศึกษา
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์ | การปฏิเสธความรับผิด (Disclaimer)