
ในแวดวงการสนทนา หลายๆครั้งที่เรามักจะหยิบยกสิ่งใกล้ตัวที่เห็นกันจนชินมาตั้งเป็นคำถามเล่นๆ ซึ่งบางเรื่องเราก็รู้ แต่ลืมไปแล้ว หรือบางเรื่องเราก็ไม่เคยทราบมาก่อน สิ่งเหล่านี้มีอะไรบ้าง อยากจะขอยกตัวอย่างมาเล่าสู่กันฟังสัก ๗ เรื่อง ดังนี้
๑. ชื่อเมืองหลวงที่ยาวที่สุดในโลก แน่นอนว่า ไม่มีชื่อเมืองหลวงไหนยาวกว่านาม "กรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุธยา มหาดิลกภพ นพรัตน์ราชธานีบุรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน อมรพิมาน อวตารสถิตย์ สักกะทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์" ซึ่งมีความหมายว่า "พระนครอันกว้างใหญ่ดุจเทพนคร เป็นที่สถิตของพระแก้วมรกต เป็นนครที่ไม่มีผู้ใดรบชนะได้ มีความงามอันมั่นคงและเจริญยิ่ง เป็นเมืองหลวงที่บริบูรณ์ด้วยแก้วเก้าประการน่ารื่นรมย์ยิ่ง มีพระราชนิเวศน์ใหญ่โตมากมาย เป็นวิมานเทพที่ประทับของพระราชาผู้อวตาร ลงมา ซึ่งท้าวสักกเทวราช(พระอินทร์) ได้ประทานให้พระวิษณุกรรมลงมาเนรมิตไว้” ทั้งนี้ นามเดิมที่รัชกาลที่ ๑ โปรดเกล้าฯ พระราชทานในตอนแรกนั้น ใช้ชื่อว่า "กรุงรัตนโกสินทร์อินท์อโยธยา” ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๓ ทรงแก้นามพระนครเป็น "กรุงเทพมหานคร บวรรัตนโกสินท์ มหินทอยุธยา” จนถึงรัชกาลที่ ๔ ทรงเปลี่ยนคำว่า บวร เป็น อมร เปลี่ยนคำว่า มหินทอยุธยา โดยวิธีการสนธิศัพท์เป็น มหินทรายุธยา และเติมสร้อยนามต่อ ทั้งเปลี่ยนการสะกดคำ สินท์ เป็น สินทร์ จนเป็นที่มาของชื่อเต็มของกรุงรัตนโกสินทร์หรือกรุงเทพฯ ข้างต้น
๒. เหรียญกษาปณ์เริ่มมีการใช้มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๔ โดยต่อมาได้มีการปรับเปลี่ยนรูปลักษณ์ น้ำหนัก ขนาดและอัตราส่วนผสมของโลหะและกรรมวิธีการผลิตเรื่อยมา จนปัจจุบันกรมธนารักษ์ได้ผลิตเหรียญกษาปณ์หมุนเวียนออกมาใช้ในระบบเศรษฐกิจตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๙๓ เป็นต้นมา เหรียญกษาปณ์ที่หมุนเวียนอยู่ในปัจจุบัน ประกอบด้วย ชนิดราคา ๑๐ บาท ๕ บาท ๒ บาท ๑ บาท ๕๐ สตางค์ ๒๕ สตางค์ ๑๐ สตางค์ ๕ สตางค์ และ ๑ สตางค์ โดยชนิดราคา ๑๐,๕,๑ สตางค์ ไม่ได้นำออกมาใช้ในชีวิตประจำวัน แต่ต้องมีเพื่อใช้ในเรื่องการคำนวณตัวเลขต่างๆ ในทางบัญชี โดยเฉพาะการคิดภาษีในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม ที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงเศษสตางค์ได้ ทั้งนี้ ถ้าสังเกตด้านหลังเหรียญกษาปณ์รุ่นก่อนจะเห็นเป็นภาพวัดต่างๆ ได้แก่ เหรียญสิบบาท เป็นรูปพระปรางค์วัดอรุณราชวราราม เหรียญห้าบาท เป็นพระอุโบสถวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม เหรียญสองบาท เป็นรูปพระบรมบรรพตหรือภูเขาทองวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร เหรียญหนึ่งบาท เป็นรูปพระศรีรัตนเจดีย์ วัดพระศรีรัตนศาสดารามหรือวัดพระแก้ว เหรียญ ๕๐ สตางค์ เป็นรูปพระบรมธาตุ วัดพระธาตุดอยสุเทพ จ.เชียงใหม่ เหรียญ ๒๕ สตางค์ เป็นรูปพระบรมธาตุเจดีย์ วัดมหาธาตุวรมหาวิหาร จ.นครศรีธรรมราช เหรียญ ๑๐ สตางค์ เป็นรูปพระเจดีย์ วัดพระธาตุเชิงชุม จ.สกลนคร เหรียญ ๕ สตางค์ เป็นรูปพระปฐมเจดีย์ จ.นครปฐม และเหรียญ ๑ สตางค์ เป็นรูปพระธาตุ วัดพระธาตุหริภุญชัย จ.ลำพูน
๓.ธนบัตรหรือเงินกระดาษของไทยที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ผลิตขึ้นครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ ๕ พิมพ์ออกใช้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๗ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๔๕ โดยก่อนหน้านั้นในสมัยรัชกาลที่ ๔ ได้มีการผลิตธนบัตรหรือเงินกระดาษออกใช้เป็นครั้งแรกในเมืองไทยแล้ว เมื่อปี พ.ศ.๒๓๙๖ แต่เรียกว่า "หมาย” ทำด้วยกระดาษปอนด์สีขาวรูปสี่เหลี่ยม พิมพ์ลวดลายด้วยหมึกทั้งสองด้าน และประทับตราพระราชลัญจกรประจำแผ่นดิน ตราจักร และพระราชลัญจกรประจำรัชกาลสีแดงชาด (ลัญจกร อ่านว่า ลัน-จะ-กอน แปลว่า ตราสำหรับใช้ตีหรือประทับ ราชาศัพท์ใช้คำว่า พระราชลัญจกร)
๔.ผู้ที่คิดออกลอตเตอรี่เป็นคนแรกในเมืองไทย คือ มิสเตอร์เฮนรี่ อาลบาสเตอร์ (ต้นตระกูล "เศวตศิลา”) ชนชาติอังกฤษ เคยเป็นรองกงสุล สถานทูตอังกฤษประจำประเทศไทย เป็นผู้นำลักษณะการออกรางวัลสลากแบบยุโรปมาเผยแพร่เป็นคนแรก โดยเรียกว่า "ลอตเตอรี่” สมัยนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้กรมทหารมหาดเล็กออกลอตเตอรี่เป็นครั้งแรกในประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๑๗ เนื่องในงานพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะช่วยเหลือพ่อค้าต่างชาติที่นำสินค้ามาร่วมแสดงในการจัดพิพิธภัณฑ์ที่ตึกคองคาเดียในพระบรมมหาราชวัง
๕.ประเทศไทยเริ่มนับเวลาตามแบบสากลครั้งแรกในสมัย รัชกาลที่ ๖ โดยแต่เดิมเรานับเวลาตอนกลางวันเป็น "โมง” และตอนกลางคืนเป็น "ทุ่ม” พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงให้เปลี่ยนมาเรียกว่า "นาฬิกา” (เขียนย่อว่า "น.”) และให้นับเวลาทางราชการใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับธรรมเนียมสากลนิยม โดยให้ถือว่าเวลาหลังเที่ยงคืนเป็นเวลาเปลี่ยนวันใหม่ และให้ถือเวลาที่ตำบลกรีนิช ประเทศอังกฤษเป็นมาตรฐาน ซึ่งเวลาในประเทศไทย เป็นเวลาก่อนหรือเร็วกว่าเวลาที่กรีนิช ๗ ชม. เช่น ไทยเป็นเวลา ๑๙.๐๐ น. ทางกรีนิชเท่ากับ ๑๒.๐๐น. เป็นต้น
๖.การใช้นามสกุลครั้งแรกในไทย แต่เดิมคนไทยไม่เคยมีนามสกุลมาก่อน ส่วนใหญ่เรียกชื่อเดี่ยวๆ บางครั้งก็ซ้ำกัน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดเกล้าฯ ให้ตรา "พ.ร.บ.ขนานนามสกุล พ.ศ. ๒๔๕๖” ขึ้น ด้วยทรงดำริเห็นว่าคนไทยทุกคนควรมีทั้งชื่อตัวและชื่อสกุล เพื่อช่วยกำหนดตัวบุคคล อีกทั้งยังเป็นเครื่องเตือนใจให้เจ้าของสกุลประพฤติแต่สิ่งดีงาม เพื่อรักษาเกียรติของสกุล และเป็นหลักของการสืบเชื้อสาย ก่อให้เกิดความเป็นหมู่คณะ ทั้งนี้ ได้ทรงวางหลักสำคัญในการสืบสกุลไว้ โดยให้ถือเอาสายสัมพันธ์ทางบิดาผู้ให้กำเนิดแต่ฝ่ายเดียว นามสกุลที่ทรงพระราชทานสมัยนั้นมีจำนวน ๖,๔๓๒ นามสกุล นามสกุลแรกที่ทรงพระราชทานให้คือ "สุขุม” โดยพระราชทานให้กับเจ้าพระยายมราช หรือ ปั้น สุขุม เมื่อวันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๔๕๖ ถือเป็นนามสกุลหมายเลข ๑ ของประเทศไทย
๗.ผู้ที่ริเริ่มตั้งบริษัทแท็กซี่ในไทยเป็นครั้งแรก คือ พระยาเทพหัสดิน (ผาด เทพหัสดิน ณ อยุธยา) ร่วมกับพระยาพิไชยชาญฤทธิ์ ให้บริการครั้งแรกเมื่อเดือนกรกฎาคม ปี พ.ศ. ๒๔๖๖ รถที่ใช้คือยี่ห้อออสติน โดยมีรถให้บริการ ๑๔ คัน คิดค่าบริการเป็นไมล์ ไมล์ละ ๑๕ สตางค์ สมัยนั้นเรียกกันว่า "รถไมล์” แต่แล้วต้องประสบกับภาวะขาดทุน จึงต้องเลิกกิจการไป จนกระทั่งปี พ.ศ. ๒๔๙๐ จึงได้มีเอกชนเจ้าของธุรกิจบางรายได้เริ่มฟื้นฟูขึ้นมาใหม่ โดยช่วงแรกจะนิยมใช้รถยี่ห้อเรโนลต์ แล้วกลับมานิยมออสตินตามด้วยรถดัทสัน บลูเบิร์ด และโตโยต้าในที่สุด
.......................................................
น.ส.ทัศชล เทพกำปนาท ที่ปรึกษากรมส่งเสริมวัฒนธรรม